สังคม

ศธ. ประสาน มท.-ตำรวจ ตรวจเวรแทนครู ด้าน 'ก้าวไกล' จี้รบ.ออกเอกสารคำสั่งให้ชัดเจน

โดย chiwatthanai_t

24 ม.ค. 2567

71 views

กระทรวงศึกษาธิการ ประสาน มหาดไทย -ตำรวจ ตรวจเวรแทนครู ด้าน 'ก้าวไกล' จี้ให้รัฐบาลออกเอกสารคำสั่งให้ชัดเจน


วันนี้ (24 ม.ค. 67) พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้ามาตรการดูแลความปลอดภัยโรงเรียน ประสานกระทรวงมหาดไทยและสตช.ร่วมตรวจตราโรงเรียนแทนครู พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด และของบประมาณจ้างนักการภารโรงต่อไป หลังมติครม.ยกเลิกครูเวรมีผลทันที


โดยตั้งแต่เช้า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เรียกผู้บริหารกระทรวง ประชุมประสานภารกิจกระทรวงฯ พิจารณาแนวปฏิบัติการตามมติ ครม.ที่ยกเลิก การอยู่เวรของครูในสถานศึกษาทั่วประเทศ


หลังประชุมร่วมกันประมาณชั่วโมงครึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ครูไม่เข้าเวร ก็ถือว่าไม่มีความผิดวินัย เพราะครูเวรได้รับการยกเว้นแล้ว ส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ.ก็จะต้องไปปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับมติ ครม. ซึ่งครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยโรงเรียนแทน


ขณะเดียวกัน กระทรวงฯ มีหนังสือประสานไปยัง 2 หน่วยงานเรียบร้อยแล้ว เพื่อจัดสายตรวจ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เข้ามาตรวจตราโรงเรียน คล้ายมาตรการฝากบ้านกับตำรวจ ที่จะมีการออกตรวจตราตามรอบเวลา เพื่อแสดงตัวป้องปรามเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในช่วงนี้หากเกิดเหตุเสียหายต่อทรัพย์สิน ราชการ จะตั้งกรรมการตรวจสอบว่าเกิดจากความประมาทหรือการละเลยการปฎิบัติหน้าที่ของฝ่ายใด


รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ได้ให้โรงเรียนสำรวจสถานที่ เพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม ตามศักยภาพและขนาดโรงเรียน พร้อมกันนี้จะเสนอครม.อนุมัติงบฯว่าจ้างนักการภารโรง 12,837 ตำแหน่ง โดยปรับค่าจ้างจากเดิม 9,000 บาท เป็น 10,000 บาทต่อเดือน


ในขณะที่ นายสุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ยกเลิกครูเวร พร้อมกับให้มีการจ้างภารโรงว่า ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่า เราจะเลิกให้ครูนอนเวรทันที หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล อย่างไรก็ตามขอขอบคุณรัฐบาลที่หารือในเรื่องนี้ และขอแสดงความยินดีกับเพื่อนครูทั่วประเทศ ที่ไม่ต้องไปลำบากเสี่ยงภัยและเหนื่อยล้ากับการเข้าเวร แต่สิ่งที่ตนพบจากการได้ตรวจสอบรายงานการประชุมครม.เมื่อวานนี้ (23 ม.ค.67) เราไม่พบว่ามีวาระนี้ปรากฏในเอกสาร และไม่พบว่ามีมติการประชุมเราจึงมีข้อสงสัยว่าเป็นเพียงการสนทนาพูดคุยกัน และเห็นดีเห็นงามกันหรือไม่ เพราะไม่มีเอกสารบรรจุในวาระการประชุม ไม่มีบันทึกการประชุม ซึ่งเป็นเพียงคำปรารภหรือคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะไปลบล้างหรือไปยกเลิกมติครม.เดิมได้หรือไม่


นายสุรวาท กล่าวต่อว่า หากเรื่องนี้ไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุมครม.และไม่มีในการวาระการประชุม ไม่มีมติก็ให้รัฐบาลรีบดำเนินการ เพราะเมื่อมีมติออกมาแล้วจะต้องแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติด้วย เพราะคำปรารภหรือข้อสั่งการของนายกฯไม่อาจจะไปล้มล้างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรือมติครม.ได้ เพราะเป็นความเห็นของนายกฯคนเดียว ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้พบอยู่บ่อยๆ ที่นายกฯพูดแล้วจนทำให้มีวาทะกรรมหนึ่งที่บอกว่า คิดใหญ่แต่ทำเล็ก แต่เรื่องนี้เราหวังว่าจะพูดใหญ่ทำใหญ่ จึงสนับสนุนให้มีการยกเลิกและให้มีการบริหารจัดการ และให้เทคโนโลยีเข้ามา หรือบุคคลกรที่มีความพร้อมที่จะเฝ้าระวังรักษาความปลอดภัย เช่น ฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งจะต้องเป็นไปด้วยความพร้อมทั้งหมด


"เมื่อวานนี้ หลังจากที่นายกฯพูดว่าจะยกเลิกครูเวร ก็มีแต่ความว้าวุ่นสับสนเต็มไปหมด เพราะมีเพื่อนครูหอบเสื่อหอบหมอน หอมปิกนิกจะไปนอนโรงเรียนเมื่อมีข่าวออกมา ทำให้ครูสับสนว่าจริงหรือเปล่าเพราะตามข่าวยกเลิกทันที แต่ผอ.บอกว่ายัง เพราะต้องรอหนังสือก่อน แต่ก็มีหลายโรงเรียนที่ยกเลิกไปเลย ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลจะต้องทำ ให้เกิดความชัดเจน" นายสุรวาท กล่าว


นายสุรวาท กล่าวต่อว่า ส่วนการเพิ่มนักการภารโรงนั้น ปัจจุบันมีภารโรงประมาณ 10,000 โรงเรียน ที่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ หากจะเพิ่มภารโรงก็ต้องเพิ่มอีก 12,000 แห่ง โดยที่กระทรวงศึกษาธิการจะของบกลางมาจ้างภารโรงให้ครบทุกโรงเรียน แต่ภารโรงถือเป็นคนละเรื่องกับเวรยามในการรักษาความปลอดภัย เพียงแต่ภารโรงอาจจะเกื้อกูลทำหน้าที่เวรช่วยครูได้ ซึ่งตนก็เห็นด้วยที่จะมีภารโรงทุกโรงเรียน และเห็นด้วยที่จะใช้งบกลางของปี 2566 โดยใช้เงินจำนวน 1,140 ล้านบาท ในการจ้างภารโรงด้วยอัตราเดือนละ 10,000 บาท แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกลเห็นว่าควรจะต้องตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้ในงบประมาณปี 67 และ 68 แต่ในร่างงบประมาณปี 67 ที่กำลังพิจารณาอยู่นั้นไม่มีงบประมาณในการจ้างภารโรงอยู่ จึงขอเรียกร้องว่า ให้แปรญัตติงบส่วนนี้ในปี 67 เพื่อมาจัดจ้างภารโรงให้ครบตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 - 30 ก.ย. 68 และกระทรวงศึกษาธิการก็นำงบส่วนนี้ไปใส่ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 68 ที่ทางสำนักงบประมาณกำลังจัดทำอยู่ ไม่ใช่พอคิดได้แล้วจะเอาไปใส่ทีหลัง เพราะเรื่องนี้ควรเป็นงบประจำ

คุณอาจสนใจ

Related News