สังคม

ลำปางอ่วม! พบจุดความร้อนกว่า 100 จุด ค่าฝุ่นพิษพุ่ง - โฆษก กทม.เผยค่าฝุ่นสูง เหตุจากการเผานอกประเทศ

โดย petchpawee_k

6 ก.พ. 2567

96 views

ลำปางอ่วม! จุดความร้อนกว่า 100 จุด ไฟป่าไหม้ลามวอดกว่า 30 ไร่ ส่งผลค่าฝุ่นพิษพุ่งสูง ด้านโฆษก กทม. เผยค่าฝุ่นกรุงเทพฯ สูง ปัจจัยสำคัญมาจากภายนอก โดยพบการเผาเกินกว่า 1000 จุดจากต่างประเทศ ใน 1 วัน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ จ.ลำปาง เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67) เริ่มน่าเป็นห่วง หลังจากในพื้นที่สภาพอากาศเริ่มแห้งแล้ง และช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา เกิดการเผาไหม้ในพื้นที่ จ.ลำปาง มากขึ้น   โดยตามรายงานภาพถ่ายดาวเทียมที่ทางจังหวัดลำปาง ได้รับรายงาน  พบจุดความร้อนในช่วง 2 วัน ที่ผ่านมา  มีมากเกือบ 100 จุด กระจายในหลายอำเภอของ จ.ลำปาง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่า ทั้งป่าสงวน และป่าอนุรักษ์  จึงทำให้เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67)  ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ จ.ลำปาง เกินมาตรฐานอยู่ในเกณฑ์สูงและขึ้นไปแตะระดับสีแดงแล้ว


สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง รายงานสถานการณ์  ว่า ค่าฝุ่นจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัติโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ ของวันที่ 5 ก.พ.67  วัดได้สูงสุดในพื้นที่ ต.พระบาท อ.เมือง เขตเทศบาลนครลำปาง ซึ่งเป็นเขตตัวเมือง 77.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง ครั้งแรกในปีนี้ และเป็นสภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้สภาพพื้นที่มองเห็นฝุ่นสีขาวหม่นปกคลุมชัดขึ้น  โดยเฉพาะตามถนนหนทาง และตามบ้านเรือนใน ต.พระบาท อ.เมือง


ส่วนพื้นที่อื่นๆ อีก 3 แห่ง ประกอบด้วยพื้นที่ ต.สบป้าด , ต.บ้านดง และ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ ค่าฝุ่นอยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าฝุ่นเฉลี่ย 41.5 – 41.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ขณะที่ทางศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของ จ.ลำปาง  ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานว่า วานนี้ (5 ก.พ.67)  พื้นที่ จ.ลำปาง พบจุดความร้อนมากสุดในภาคเหนือ ถึง 43 จุด


โดยเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลเวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เมื่อวานนี้ (5 ก.พ.67) เจ้าหน้าที่ชุดป้องกันไฟป่า ได้รับแจ้งว่า  มีไฟไหม้ป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง  ริมถนนสายลำปางเชียงใหม่ ขาเข้าอำเภอห้างฉัตรจังหวัดลำปาง ก่อนถึงตลาดทุ่งเกวียน ประมาณ 2 กิโลเมตร  โดยพบว่ามีไฟป่ากระจาย ไม่ต่ำกว่า 5 จุด  ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วลุกลามตั้งแต่บนภูเขา ริมถนนลงมาจนถึงขอบถนน


ส่งผลให้หมอกควันปกคลุมบริเวณถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร  กระทบกับผู้ใช้รถที่ขับรถสัญจรผ่านไปมา นอกจากนี้ ไฟยังลุกลามไปไหม้บริเวณเสาหลักลาย เสาหลักกิโลที่ปักไว้ เป็นแนวริมถนน เพื่อเตือนอันตราย


แต่เสาหลักลาย หลักกิโลดังกล่าว เป็นเสารุ่นใหม่ที่ทำจากยางพารา เพื่อลดความรุนแรงจากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเสาที่ทำจากยางพาราจะมีข้อเสีย คือ ไม่ทนไฟ เมื่อเกิดไฟป่าลุกลาม จึงทำให้เสาได้รับความเสียหายจำนวนมาก


เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แขวงการทางลำปางและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลเวียงตาล ใช้เวลาดับไฟป่าประมาณ 30 นาที โดยใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเข้าไปในป่า จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ในเบื้องต้น  พบว่า มีป่าเต็งรังเสียหาย คาดว่าไม่ต่ำกว่า 30 ไร่


ขณะที่สถานการณ์ไฟป่าของจังหวัดลำปาง คาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีก เพราะยังมีคนจุดไฟเผาป่า เพื่อเผาเศษกิ่งไม้เผาหญ้าแห้ง จนเกิดลุกลามขยายวงกว้าง

---------------------------------------

ส่วนที่ กทม. นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสาเหตุที่ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สูงขึ้น จนเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มและสีแดง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ สูงขึ้น คือ ฝุ่นจากภายนอกกรุงเทพฯ และจากภายนอกประเทศ ซึ่งจากรายงานเกิดจากการเผา โดย 84% ของวันที่เกิน 37.5 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด และ 100% ของวันที่เกิน 50 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด


ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในปี 2566 ตรวจพบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 25,856 จุด และในปี 2567 เพิ่มเป็น 49,983 จุด มากขึ้นถึง 93% ส่วนในประเทศพบจุดเผาในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยปี 2566 พบจุดเผา จำนวน 5,981 จุด และในปี 2567 ลดลงเหลือ 3,252 จุด ลดลง 46% ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ 2566 พบจุดเผา เพียง 6 จุด ส่วนปี 2567 พบจุดเผา 1 จุด ลดลง 83%


นอกจากนี้ ยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าฝุ่นจากเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดิน ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จตุจักร เทียบกับเครื่องตรวจวัดเสาสูงระดับ 110 เมตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินสูงกว่า 50 มคก.ลบ.ม. เท่ากับมีโอกาส 71% ที่ค่าฝุ่นของของเครื่องตรวจ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างมีนัยยะ (มากกว่า 10 มคก.ลบ.ม.) และเมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินต่ำกว่า 37.5 มคก.ลบ.ม. เท่ากับมีโอกาส 80% ที่ 1.ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะตํ่ากว่า หรือ 2.ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างไม่มีนัยยะ (ในอัตราที่น้อยกว่า 5 มคก.ลบ.ม.)


อย่างไรก็ตาม จุดความร้อน (Hot Spot) คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ การได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการที่ว่า ดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ (อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) บนพื้นผิวโลก จากนั้นจะประมวลผลแสดงในรูปแบบจุด ซึ่งต้องขอบคุณข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา GISTDA และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/WU_aRMa3Fyo

คุณอาจสนใจ

Related News