สังคม

สดร.เปิดผลวิจัยบรรยากาศในไทย วิเคราะห์ต้นตอฝุ่นพิษแต่ละพื้นที่ หวังแก้ปัญหาตรงจุด

โดย panwilai_c

23 เม.ย. 2567

117 views

ปัญหามลพิษทางอากาศในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะรุนแรงต่อเนื่องขึ้นทุกปี ล่าสุดสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้เปิดผลการดำเนินการวิจัยบรรยากาศของไทย ศึกษาการเกิดและการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคเหนือ เพื่อหาสาเหตุและเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของฝุ่น ซึ่งก็คาดว่าจะได้ข้อมูลเชิงลึกของสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ มาวิเคราะห์การจัดการและลดมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป



นักวิจัยโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ สดร.สาธิตวิธีการศึกษาละอองลอยในอากาศด้วยเครื่องไลดาร์ เพื่อตรวจวัดความสัมพันธ์ ระหว่างฝุ่นละอองขนาดเล็กกับระดับชั้นความสูง ซึ่งจะจำลองออกมาเป็นแผนภูมิภาพ 2 มิติ ทันทีที่อนุภาคของเลเซอร์กระทบกับของแข็งนั่นก็คือกลุ่มละอองลอยในชั้นบรรยากาศ หรือ แอโรซอล



ทำให้นักวิจัยสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์การกระจายตัว การเคลื่อนที่ และการสะสมตัวของฝุ่นละอองและมลพิษต่างๆ ในลักษณะแนวดิ่งได้



นอกจากนี้นักวิจัยยังใช้วิธีการเก็บตัวอย่างของอากาศตามพื้นที่ต่างๆ มาวิเคราะห์ในเครื่องจำแนกองค์ประกอบสารอินทรีย์ละเหยง่ายโดยใช้เทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟีแมสสเปกโตรเมทรี หรือ GC-MS เพื่อแยกองค์ประกอบทางเคมีของสารที่พบในตัวอย่าง ซึ่งก็จะพบสารในกลุ่มที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ และ กิจกรรมของมนุษย์ เช่น กรณีการศึกษาล่าสุดในสวนยางพารา ก็พบองค์ประกอบของสารต่างๆ จากกระบวนการทางเคมีของพืช และ การใช้สารเคมีในการเพาะปลูกของมนุษย์ร่วมด้วย



ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายว่า มลพิษทางอากาศในทุกวันนี้ เกิดขึ้นทั้งจากธรรมชาติและมนุษย์



ซึ่งแบ่งเป็นการปลดปล่อยทางตรง หรือ ชนิดปฐมภูมิ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน มีเทน และฝุ่นละอองทุกขนาด ที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในพาหนะ โรงงาน และภาคการเกษตร ส่วนทางอ้อม หรือ ชนิดทุติยภูมิ เช่น โอโซนภาคพื้นดิน และ ละอองลอยต่างๆ เกิดได้จากปฏิกิริยาเคมีของสารในชั้นปฐมภูมิเอง หรือ กับสารประกอบอื่นๆ ได้เช่นกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะการเผาไหม้



เพราะจากการวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศของ สดร. ทำให้พบว่าองค์ประกอบของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในบรรยากาศมาจากการเผาไหม้ภาคชีวมวลเพียง 1% เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ร่วม ซึ่งมาจากจุดกำเนิดของฝุ่นที่ต่างกัน



งานวิจัยนี้ทำให้พบกลไกลการเกิดละอองลอยทุติยภูมิจากสารประกอบอินทรีย์ละเหย ซึ่งก็มาจากกิจกรรมของมนุษย์และธรรมชาติ โดยมีกลไกลการเกิดแบบเป็นวัฏจักร ตามที่เครื่องไลดาร์ตรวจพบปรากฎออกมาเป็นกราฟของชั้นฝุ่น PBL ที่เปลี่ยนแปลงตลอดวัน ขึ้นกับปัจจัยสภาพอากาศ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และทิศทางลม ดังนั้นสภาพมลพิษทางอากาศในแต่ละที่จึงต่างกัน



ปัจจุบันสดร.ได้วิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี โดยแผนจากนี้คือการเพิ่มจำนวนการเก็บตัวอย่างอากาศ และนำเทคโนโลยีวิเคราะห์องค์ประกอบและชนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างละเอียดหรือ ACSM เข้ามาสนับสนุนงานวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เข้าใจในปัจจัยของการเกิดปัญหาฝุ่นละอองมากขึ้น และส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแนวทางการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี

คุณอาจสนใจ

Related News