สังคม

DSI ตรวจสอบรถยนต์นำเข้านับพันคันในโกดัง เขตนิคมฯลาดกระบัง ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ หลังเจ้าของที่ดินร้อง

โดย parichat_p

25 ม.ค. 2567

132 views

เจ้าของที่ดินรายหนึ่ง ร้องเรียนกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า มีบริษัทเอกชนนำโฉนดแปลงนี้ 16 ไร่ ไปค้ำประกันเงินกู้กว่า 100 ล้านบาท แต่เกิดปัญหาการชำระเงินจึงมีการฟ้องร้องและเจ้าหนี้ชนะคดี ทำให้ทรัพย์ค้ำประกันถูกขายทอดตลาดผ่านสำนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้และเจ้าหนี้ไปซื้อมา


ต่อมาก็พบว่าบนที่ดินแปลงนี้ มีโกดังซึ่งเก็บรถยนต์กว่า 1 พันคัน เจ้าของที่ดินอ้างว่าเคยถามสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และกรมศุลกากรว่ารถยนต์ เหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงร้องเรียนให้ดีเอสไอไปตรวจสอบ ขณะที่รักษาการอธิบดีดีเอสไอ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นรถที่นำเข้าเพื่อมาสวมสิทธิ์ เป็นรถจดประกอบในช่วงที่กฎหมาย ยังอนุญาตหรือไม่


ในโกดังสองชั้นซึ่งตั้งอยู่บนที่ดิน16 ไร่นี้ ด้านหน้ามีอะไหล่ ชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์เป็นคัน ที่จอดเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ภายในโกดังก็เช่นกัน ที่ลานโล่งชั้นล่างของโกดัง มีร่องรอยคล้ายอู่ซ่อม ดัดแปลง ปะผุ เคาะพ่นสีและการประกอบร่างรถยนต์แบบครบวงจร แต่ก็มีรถยนต์ที่มีสภาพสมบูรณ์เต็มคัน จอดอยู่จำนวนมาก


ขณะที่ชั้น 2 ของโกดังนี้ มีรถยนต์ที่มองด้วยตาเปล่าแล้วพบว่าเป็นสภาพเป็นคันที่สมบูรณ์จอดอยู่เต็มลานชั้น 2 ลักษณะเป็นรถยนต์มือ 2 หลากหลายยี่ห้อ รุ่น แต่มองด้วย ตาเปล่า สังเกตุได้ว่าเป็นรถยนต์มินิ รุ่นซึ่งเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม หลายคันที่เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบว่า มีกุญแจเสียบอยู่


ขณะที่หลายคันมีข้อความเขียนแตกต่างกันออกไป ลักษณะเป็นการบ่งบอกสภาพความพร้อมหรือปัญหาของรถ และบางคันก็เขียนข้อความว่าพร้อมจะส่งแล้ว ทีมข่าวสังเกตุได้ว่า มีหลายคันที่มีเอกสารติดรถยนต์มาด้วย โดยเอกสารเหล่านั้นเป็นภาษาญี่ปุ่น


ตัวแทนฝ่ายกฎหมายของเจ้าของที่ดินคนล่าสุด ซึ่งร้องเรียนให้ดีเอสไอตรวจสอบเรื่องนี้ระบุว่าเขาไม่รู้ว่ารถยนต์เหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากเป็นธุรกิจของเจ้าของที่ดินเดิม แต่เจ้าของเดิมไม่ย้ายรถยนต์เหล่านี้ออกไป และระบุว่าเคยสอบถามสำนักงานนิคมลาดกระบังและศุลกากรแล้ว ว่าย้ายรถยนต์เหล่านี้ออกไปได้หรือไม่ก็ไม่ได้คำตอบ เจ้าของที่ดินคนล่าสุดจึงอยากให้ดีเอสไอตรวจสอบว่า รถยนต์เหล่านี้ถูกฎหมายหรือไม่ เพื่อจะได้รู้ว่าจะย้ายรถเหล่านี้ออกจากที่ดินที่ซื้อมาได้หรือไม่


มีข้อมูลหลายประเด็นที่บ่งชี้ว่ารถเหล่านี้นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นและมาเลเซีย แต่ยังสงสัยว่านำมาทั้งคันหรือนำมาเป็นอะไหล่แล้วมาประกอบในประเทศ ซึ่งหาก นำเข้ามาทั้งคันจะผิดกฎหมาย เพราะไทยห้ามนำเข้ารถยนต์มือสอง ยกเว้นกรณีนำผ่านไปที่อื่น  หรือหากนำมาเป็นอะไหล่ เพื่อมาประกอบเป็นคันก็ทำได้ในช่วง ที่กฎหมาย เคยอนุญาตแต่ตอนนี้ยกเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม โรงงานนี้ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีข้อผ่อนผันทางภาษีหลายประการที่ทำได้ รวมถึงอาจเป็นรถยนต์ ที่นำเข้ามาแล้ว เก็บไว้เป็นเขตปลอดอากร เพื่อรอดำเนินการก็เป็นได้


ตอนนี้ข้อสงสัยจึงอยู่ว่าเจ้าของโรงงานเดิมได้ขออนุญาตประกอบกิจการกับการนิคมฯไว้ว่าทำกิจการใด และได้ทำกิจการตามที่ขออนุญาตหรือไม่ เหตุใดจึงยังมีสินค้าตกค้างมาก ซึ่งคำตอบนี้จะมาจากสำนักงานนิคมฯลาดกระบัง


ขณะที่อีกคำถามจะอยู่ที่กรมศุลกากร ที่ต้องหาคำตอบว่ารถยนต์เหล่านี้มากกว่า 1 พันคัน นำเข้าประเทศไทยมาโดยสำแดงเป็นแบบใด /ถ้านำเข้าเป็นอะไหล่แล้วรถยนต์ ที่จอดเป็นคันจำนวนมากนี้มาได้อย่างไร หรือถ้านำเข้ามาเป็นรถยนต์เต็มคันได้เสียภาษีอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากการนำอะไหล่เพื่อมาประกอบเป็นรถ มีอัตราภาษี ที่ถูกกว่ารถที่นำเข้าทั้งคัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายอนุญาตรถยนต์จดประกอบถูกยกเลิกไปแล้ว


รักษาการอธิบดีดีเอสไอระบุว่าอนุมัติการสืบสวนคดีนี้แล้วเพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้กระจ่าง โดยเริ่มจากหาข้อเท็จจริงจากการนิคมฯลาดกระบัง เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น


ข้อมูลจากดีเอสไอระบุว่าได้ตรวจสอบจากสำนักงานนิคมฯลาดกระบังแล้วพบว่าใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทนี้สิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 และไม่มีการต่อ ใบอนุญาตใดๆอีก ซึ่งเป็นหนึ่งประเด็นที่ดีเอสไอเร่งตรวจสอบ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวพยามตรวจสอบไปยังตัวแทนเจ้าของกิจการรายเดิม ซึ่งได้คำตอบสั้นๆเพียงว่า รถยนต์เหล่านี้อยู่ในการดูแลของกรมศุลกากรอย่างถูกต้อง และจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง

คุณอาจสนใจ

Related News