สังคม

ภาคประชาชนเสนอร่างกม.นิรโทษกรรมประชาชน เรียกร้องทุกฝ่ายผลักดัน

โดย panwilai_c

19 พ.ย. 2566

48 views

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายผลักดัน ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสนอสภาผู้แทนราษฎร ในปีหน้า อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่พันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มราษฎร เห็นด้วยเพื่อหวังปลดล็อคการเมือง โดยการนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยจะรวมการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ด้วย



เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่ประกอบไปด้วยหลายกลุ่ม ออกแถลงการณ์เรียกร้องทุกฝ่ายผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน จากคดีการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยาน 2549 ถึงปัจจุบัน มีประชาชนถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ, พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, และคดีอาญาอื่นๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,763 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 167 คน คิดเป็นจำนวนคดี 1,381 คน



นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่รัฐประหาร 2557 มีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารกว่า 2,400 คน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ "เยาวชนปลดแอก" เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 คน ใน 216 คดี



เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จึงเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อประชาชนเพื่อเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย โดยยืนยันว่าประชาชนไม่ว่ากลุ่ม สังกัดหรือเสื้อสีใด สมควรได้รับการนิรโทษกรรมหากคดีดังกล่าวเป็นคดีทางการเมืองรวมถึงคดีตามมาตรา 112 โดยยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐ และให้ตั้งคณะกรรมการที่มีประชาชนเข้าร่วมด้วย จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคก้าวไกล ร่วมกันผลักดัน โดยคาดว่าจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในปีหน้า ซึ่งจะไม่ใช่ฉบับเดียวกับพรรคก้าวไกล



นอกจากนี้ยังมีการเสวนาก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง นายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เริ่มชุมนุมก่อนจะเกิดการรัฐประหารปี 2549 ยืนยันจุดยืนไม่เห็นด้วยกับเผด็จการรัฐสภา และยอมรับว่าความคิดต่างทางการเมืองถึงปัจจุบัน ต้องหาจุดยืนร่วมเพื่อหาทางออก เพราะสุดท้ายประชาชนไม่ได้เป็นผู้ชนะ อย่างอดีตพันธมิตร ถูกดำเนินคดีฐานผู้ก่อการร้ายและกบฏ รวมถึงคดีอาญา ที่ผ่านมากว่า 15 ปี ยังต่อสู้คดีอยู่เช่นคดีปิดสนามบินเมื่อปี 2551 ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพาษาในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ และบางคนก็ไม่ได้รับความยุติธรรม จึงเห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม



อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้น เห็นด้วยให้ตั้งคณะรรมการมาตรวจสอบว่าจะมีคดีใดและนิรโทษให้กลุ่มใด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจต้องรวมคดีตามมาตรา 112 ด้วยเพราะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาไปแล้ว



ขณะที่นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีตแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปช. ยอมรับว่า คนเสื้อแดงบอบช้ำกับความไม่ยุติธรรม ทั้งการเสียชีวิต บาดเจ็บ ถูกดำเนินคดีกว่า 1,900 คน จำนวนกว่า 1,200 คดี จึงเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรม และเห็นว่ารัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย จะต้องแสดงความจริงใจผลักดันเรื่องนี้



ขณะที่นางสาวเบนจา อะปัญ หนึ่งในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ยอมรับว่า หากไม่เริ่มต้นจากจุดนี้ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองไทยได้



ด้านนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ย้ำว่าในจำนวนคดีการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 และหลัง 19 พฤศจิกายน 2563 ที่เริ่มฟ้องคดี 112 ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์​ จันทร์โอชา มีการดำเนินคดี 112 สูงสุด 260 คน ใน 289 คดี ซึ่งการเสนอนริโทษกรรมคดี 112 ไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 จึงอยากให้มีการรวมคดีตามมาตรา 112 ไปด้วย



ขณะที่นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าจะมีการรวบรวมข้อเสนอของภาคประชาชนเสนอต่อพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งพร้อมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสนอต่อรัฐบาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ภาคประชาชน ,นิรโทษกรรม

คุณอาจสนใจ

Related News