เลือกตั้งและการเมือง

'ราเมศ' ปชป. ย้ำนิรโทษกรรม ต้องไม่รวมคดี ม.112 'นพดล' พท. ชี้ผิด ม.112 ไม่ควรนิรโทษฯ

โดย passamon_a

4 ก.พ. 2567

49 views

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.67 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ว่า ในส่วนของพรรคเห็นด้วยที่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางให้เกิดความชัดเจนทั้งในเรื่องของเจตนารมณ์ในการนิรโทษกรรมฐานความผิดใดบ้างที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับนิรโทษกรรม รวมไปถึงกระบวนการในการพิจารณา พิจารณาวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม


ซึ่งมีความจำเป็นต้องแยกให้ชัดว่าคดีประเภทใดที่เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เหตุเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองความคิด ความคิดทางการเมือง ต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ


นายราเมศ กล่าวอีกว่า หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่มีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกล ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่ง ฉบับดังกล่าวนี้ ในส่วนของพรรคไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นทั้งในเรื่องของการกำหนดความผิด อำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด บุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากร่างกฎหมายฉบับนี้ก็จะรวมคดีเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยในส่วนของคดีทุจริตก็จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วยรวมถึงคดีอาญาที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นความผิดต่อชีวิตความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์รวมถึงความผิดในทางแพ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ร้ายแรงดังกล่าว


และการยอมรับจากผู้เสนอร่างฉบับนี้คือ นายชัยธวัช ตุลาธน ว่าร่างนิรโทษกรรมฉบับของพรรคก้าวไกลรวมถึงการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย ซึ่งการกระทำความผิดมาตรา 112 หลักความเป็นจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องแนวความคิดทางการเมือง ไม่ได้มีมูลเหตุจูงใจในทางการเมืองที่จะนำมาเป็นประเด็นนำไปสู่การนิรโทษกรรม เป็นการตั้งใจกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากวาระที่ซ่อนเร้น


ซึ่งในมาตรา 4 ของร่างกฏหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นประเด็นปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงการกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดในมาตรา 5 ที่มีนักการเมืองผู้มีส่วนได้เสียร่วมเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ มีการกำหนดให้ผู้พิพากษาและตุลาการเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้ขัดต่อกระบวนการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ


นายราเมศ กล่าวว่า ถ้าไปดูอำนาจของคณะกรรมการชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดอำนาจไว้มากกว่าอำนาจตุลาการไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยฐานความผิดการวินิจฉัยในข้อสงสัยว่าคดีใดจะอยู่ภายใต้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้หรือไม่ กำหนดให้มีอำนาจสั่งให้ศาลระงับการพิจารณาคดี สั่งให้มีการปล่อยตัวจำเลย ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ


และเมื่อไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ปรากฏว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกว่า 70% และยืนยันได้จากผลจากการวิเคราะห์ผลกระทบอันเกิดจากร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาทั้งระบบ


ด้าน นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า ทางกรรมาธิการฯ ได้นัดประชุมนัดแรกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น.


โดยสาระสำคัญของการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น จะต้องนำไปสู่ความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ ที่สำคัญต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ส่วนเนื้อหาว่าความผิดประเภทใด ในช่วงเหตุการณ์ใด รวมทั้งบุคคลใดจะได้รับการนิรโทษกรรมนั้น เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ซึ่ง กมธ.จะได้มีการหารือกันต่อไป


ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย คาดว่า แกนนำ และ สส. จะได้มีการหารือกันในรายละเอียดในการประชุมพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทย จะมีท่าทีที่ชัดเจนอย่างแน่นอน ว่าความผิดในมาตราใดที่จะได้รับการนิรโทษกรรม หรือไม่ได้รับการนิรโทษกรรม


"ขณะนี้ ภายในพรรคยังไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องดังกล่าว แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายหาเสียงที่ผ่านมาของพรรคเพื่อไทย โดยเรามีจุดยืนไม่แก้และไม่ยกเลิกมาตรา 112" นายนพดล กล่าว



ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/UCOeu-1wXiU

คุณอาจสนใจ

Related News