เลือกตั้งและการเมือง

'จุรินทร์' ชี้เหตุป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งไม่ควรนิรโทษกรรมคดี ม.112 - 'โรม' แนะใช้สภา หาทางออกปมตะวัน

โดย nattachat_c

12 ก.พ. 2567

148 views

วานนี้ (11 ก.พ. 67) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความเห็นเรื่องการนิรโทษกรรม ม.112 ว่า


ขณะนี้ สภามีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา เพื่อพิจารณาเรื่องการนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ขณะเดียวกันก็มีพรรคการเมืองบางพรรคได้มีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการนิรโทษกรรมสามารถทำได้ แม้แต่ในอดีตก็เคยมีการนิรโทษกรรมเกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าจะมีการนิรโทษกรรมในอนาคต ควรจะครอบคลุม


ความผิดในลักษณะใดบ้าง ตรงนั้นคือหัวใจสำคัญ ซึ่ง การนิรโทษกรรมต้องไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่น และ ม.112 รวมทั้งคดีอาญาร้ายแรง เพราะอนาคตจะทำให้คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย และกลายเป็นการส่งเสริมการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าว  และจะนำไปสู่การขยายความขัดแย้งแตกแยกมากกว่าการสร้างความปรองดอง


โดยเฉพาะเมื่อเกิดกรณีการป่วนขบวนเสด็จ ยิ่งเป็นการตอกย้ำการไม่สมควรนิรโทษกรรมความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งขอเสนอให้กรรมาธิการของสภารับไปพิจารณาด้วย

---------------

วานนี้ (11 ก.พ. 67) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ในสัปดาห์หน้าที่จะถึงนี้ ว่า สัปดาห์นี้จะมีการประชุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป โดยจะมีการพูดคุยกันเรื่องกรอบของการทำงาน แนวทางการทำงานว่าจะผลักดันกันไปอย่างไร ระยะเวลาในการนิรโทษกรรมต้องไปถึงเมื่อไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกัน


นายรังสิมันต์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การมองเรื่องการนิรโทษกรรม เรามองในลักษณะส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาทางการเมือง สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ดังนั้น จึงไม่ควรไปติดกรอบเรื่องของคดีนั้น หรือคดีนี้ แต่ควรอยู่บนฐานว่าสรุปแล้วจะแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือไม่ จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีหรือไม่ ซึ่งหากเราตั้งโจทย์เช่นนี้แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องของมาตรามาเป็นข้อกำหนด ในการบอกว่าห้ามเอามาตรานั้น มาคิดเรื่องนิรโทษกรรมซึ่งตนคิดว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง ในการที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในขณะนี้

-------------
วานนี้ (11 ก.พ. 67) ที่ลานประชาชน สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา เกียกกาย เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม 11.2 Love Fair เชิญชวนผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางเมืองและประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมแสดงพลังเป็นหมุดหมายสำคัญของแคมเปญล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนต่อสภาผู้แทนราษฎร


ภายในงานมีกิจกรรมหลักคือการรวบรวมผู้ต้องหาทางการเมืองทุกคดีความ ทุกช่วงเวลา และทุกฟากฝั่งการเมือง กว่า 300 คน ถ่ายภาพร่วมกันเพื่อแสดงพลังเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันการออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน


ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวเรียกร้องให้มีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยเริ่มด้วยการเล่าเรื่องราวเส้นทางการบังคับใช้มาตรา 112 ที่เดินเคียบคู่กับการทำงานในฐานะทนายความของอานนท์ นำภา จากผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเฟซบุ๊ค เขียนบทกวี ไปจนถึงการกดแชร์โพสต์ประวัติรัชกาลที่ 10 โดยที่มีอานนท์รับหน้าที่ว่าความ ผ่านความเจ็บปวดจากความอยุติธรรมของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม


“พวกเราที่มารวมตัวกันในวันนี้ต่างก็แบกเอาเรื่องราว บาดแผล ความเจ็บแค้น ความทรงจำเอาไว้มากมายนับกันไม่ถ้วน เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะสร้างความหวาดกลัว และกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นกระบวนการที่ใช้สร้างภาระสร้างความปั่นป่วนในชีวิต โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ที่ถามหาความปกติได้ยาก เพราะผู้พิพากษาเองก็ทราบว่ามันไม่ใช่คดีปกติ”


ยิ่งชีพกล่าวต่อว่า ทนายความอย่างอานนท์คือประจักษ์พยานของความไม่ปกติ จนถึงวันที่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และยกเลิกมาตรา 112 ทำให้อานนท์ต้องถูกส่งเข้าเรือนจำเสียเอง


“ข้อเสนอนิรโทษกรรมประชาชน ที่ต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้มาในวันนี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่เราเรียกร้องกันมาตลอดหลายปี คือ เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และคือการทวงคืนความยุติธรรมให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และคือ การเสนอใช้สิทธิช่วยกันเสนอต่อผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างเป็นทางการให้ปล่อยเพื่อนเรา”


หลังจากนี้ กิจกรรมปิดท้ายแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน “ส่งรักให้ถึงสภา ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน” จะจัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ลานประชาชน โดยมีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองมารับรายชื่อประชาชน พร้อมกับแสดงความเห็นและจุดยืนต่อการนิรโทษกรรมประชาชน สำหรับผู้ที่สนใจ ก็สามารถเข้าร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวันปิดแคมเปญได้


อนึ่ง แคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคมอย่างน้อย 23 องค์กร และอาสาสมัครและนักกิจกรรมอีกมากกว่าร้อยคน มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. … โดยใช้ช่องทางตามกฎหมายในการรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ โดยกิจกรรมล่ารายชื่อมีตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ ผ่านจุดล่ารายชื่อมากกว่าร้อยจุดทั่วประเทศ และช่องทางออนไลน์ พร้อมกับกิจกรรมต่าง ๆ


เนื้อหาหลักของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน คือการยกเลิกคดีที่เกิดจากการแสดงออกทางการเมืองหรือมีมูลเหตุทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยครอบคลุมคดีที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเช่น คำสั่งและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงความผิดหมิ่นประมาทกษัตริย์ในมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


รวมถึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน ประกอบไปด้วยตัวแทนจาก สส. ในสภา ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ ไปจนถึงภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามคดีการเมือง ทำหน้าที่พิจารณานิรโทษกรรมคดีอื่น ๆ ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองด้วย เพื่อรับประกันว่าจะไม่มีใครตกหล่นจากการนิรโทษกรรมประชาชน

------------



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/I0TaiDXl9As



คุณอาจสนใจ

Related News