อาชญากรรม

ตร.ไซเบอร์ค้น 5 จุด ทลายรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ - ตีแผ่กลลวงมิจฉาชีพ ปลอมเสียงคนรู้จัก โทรหลอกยืมเงิน

โดย petchpawee_k

21 ต.ค. 2566

539 views

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ กสทช. เปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตรวจค้น 5 เป้าหมาย ทำการยึดอุปกรณ์ SIM Box ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการโทรหลอกลวงประชาชน ผ่านการควบคุมระยะไกล


โดยช่วงเช้าวานนี้ (20 ต.ค.) ตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ กสทช. เข้าตรวจค้นเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ รวม 5 จุด จากการสืบสวนข้อมูลจากเบอร์โทรศัพท์ที่มีผู้แจ้งเข้ามาก่อนหน้านี้ ว่าเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวง ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นในแต่ละจุด พบอุปกรณ์ sim box จุดละ 2 เครื่อง พร้อมซิมการ์ด ซึ่ง 1 เครื่องสามารถใส่ซิมได้ 32 ซิม และพบเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตสำหรับควบคุมระบะไกลจุดละ 1 เครื่อง


โดยทั้ง 5 จุดที่เข้าตรวจค้นนั้น พบว่า กลุ่มมิจฉาชีพได้แฝงตัวในนามบริษัท ไปกระจายเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ 5 สำนักงาน เพื่อใช้ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ sim box และใช้เราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตของตัวอาคารสำนักงานที่เช่า ควบคุมระยะไกลจากประเทศเพื่อนบ้าน ในการใช้ซิมโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งเป็นเบอร์ภายในประเทศ โทรมาหลอกลวงประชาชน เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์ทั้งหมด นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยถือเป็นความผิดฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต  และประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ


พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า การกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ด้วยการทลายซิม สาย เสา เป็นนโยบายหลักของพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้กวาดล้างตามแนวชายแดน คนร้ายจึงเปลี่ยนแผนประทุษกรรมมาใช้วิธีส่งสัญญาณจากในกรุงเทพมหานครแทน ซึ่งตำรวจไซเบอร์ ร่วมกับ กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการ ก็ได้ตามจนสามารถตรวจยึดได้แล้ว 200 กว่าเครื่อง


แต่ลักษณะจะเป็นการเช่าอาคารอยู่เดี่ยวๆ รวมกัน แต่ตอนนี้ได้เปลี่ยนมาใช้วิธีแฝงตัว เช่าอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ หลายแห่ง แต่ละแห่งมีอุปกรณ์อยู่ไม่มาก โดยจากของกลางทั้ง 5 จุดที่ตรวจยึดได้ ก็พบว่า แต่ละซิมสามารถโทรได้ 500-600 ครั้งต่อวัน ดังนั้น ในแต่ละวัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะสามารถโทรหลอกลวงได้ไม่ต่ำกว่า 160,000 คน


 หลังจากนี้ตำรวจไซเบอร์จะทำการขยายผลต่อไปยังผู้ที่มาทำสัญญาเช่าอาคารสำนักงานและข้อมูล IP ของบุคคลต้นทางที่เป็นผู้ใช้ซิมดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลของผู้เสียหายที่มาแจ้งความไว้แล้ว รวมถึงคนที่นำเข้าอุปกรณ์นี้เข้ามา ซึ่งการนำเข้าต้องขออนุญาต กสทช. ก่อน แต่กรณีนี้ได้ดัดแปลงมาในรูปแบบของเครื่องเล่นซีดี


ด้าน พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ เปิดเผยว่า การที่กลุ่มมิจฉาชีพปรับเปลี่ยนวิธีการโดยใช้เครื่อง sim box มาติดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยหลบเหลี่ยงเจ้าหน้าที่ จากเดิมที่ไปเช่าอาคารแยกอยู่เดี่ยวๆ แล้วเปลี่ยนมาใช้อาคารสำนักงานขนาดใหญ่นั้น ทำให้สามารถใช้เราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตร่วมกันกับของตัวอาคาร ซึ่งก็จะตรวจสอบยากขึ้น เพราะข้อมูลการใช้อินเตอร์เน็ตจะกลมกลืนไปกับการใช้งานของอาคารทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ขั้นตอนที่มากขึ้น

---------------------------------------------

ตร.ตีแผ่กลลวงมิจฉาชีพ ปลอมเสียงเป็นคนรู้จัก เพื่อโทรหลอกยืมเงิน เผยคนร้ายมักใช้เทคนิคการหลอกล่อ ทำให้ผู้เสียหายไม่ทันระวัง จึงโอนเงินตามที่ขอ


พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลาย แตกต่างกัน โดยรูปแบบหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยคือการปลอมเสียงเป็นคนรู้จักโทรศัพท์หาผู้เสียหายเพื่อหลอกยืมเงิน


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอมาตีแผ่หนึ่งในเทคนิคกลลวงของกลุ่มคนร้ายปลอมเสียงคนรู้จักเพื่อหลอกยืมเงิน ซึ่งอาจใช้วิธีการที่ง่ายกว่าที่เราคิด และไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมดัดแปลงเสียงต่างๆ หรือต้องมีข้อมูลรูปแบบเสียงคนรู้จักของเราแม้แต่น้อย


ซึ่งวิธีการที่พบคือ คนร้ายจะโทรศัพท์หาเป้าหมายแล้วทำทีพูดว่า “จำได้ไหมนี่ใคร” “จำเพื่อนได้รึเปล่า” หรือ “แค่ไม่สบายเสียงเปลี่ยน เปลี่ยนเบอร์โทรนิดหน่อย ก็จำกันไม่ได้แล้วหรือ” แล้วจะพยายามให้เหยื่อพูดชื่อมาก่อน ซึ่งหากเสียงของคนร้ายมีความคล้ายกับเสียงเพื่อนหรือคนรู้จักของเราจริงๆ แล้วเราพูดชื่อของคนนั้นออกไป คนร้ายก็จะสวมรอยเป็นคนนั้นทันที


จากนั้นคนร้ายก็จะชวนคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเพื่อสร้างความเชื่อใจ แล้วทำทีว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยอ้างว่า แอปธนาคารล่ม, มีแต่เงินสดโอนเงินไม่ได้, มีเหตุด่วนต้องใช้เงิน หรือเหตุผลความจำเป็นอื่นๆ เพื่อหลอกให้เราโอนเงินให้กับคนร้ายต่อไป


จากกรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คนร้ายจะใช้เทคนิคในการหลอกล่อให้เราพูดชื่อคนรู้จัก ที่เสียงเหมือนกับคนร้ายออกไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้เสียหายมักจะเชื่อโดยสนิทใจ ว่าคนที่คุยด้วยคือคนรู้จักจริง ๆ เพราะเป็นคนพูดออกไปเองว่าเสียงของคนร้ายเหมือนเสียงของใคร และทำให้ผู้เสียหายไม่ทันระวัง หลงเชื่อโอนเงินตามที่คนร้ายขอนั่นเอง


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อบุคคลที่ติดต่อมาทางโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก โดยเฉพาะการติดต่อจากเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจเป็นคนร้ายที่มาแอบอ้างหลอกยืมเงินได้


https://youtu.be/r5P7QPSSJDI

คุณอาจสนใจ

Related News