สังคม

ถอดบทเรียนละคร 'สืบลับหมอระบาด' นักวิชาการแนะแนวทางเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์ เสพสื่ออย่างรอบด้าน

โดย chiwatthanai_t

18 ก.ย. 2566

126 views

บ่อยครั้งที่อาชีพสื่อมวลชนมักถูกนำมาสร้างผ่านบทละคร อย่างเช่นในละครสืบลับหมอระบาด ที่กำลังออนแอร์ทางช่อง 3 ในตอนนี้ สืบ(ไม่)ลับหมอระบาดตอนนี้จะพาทุกคนไปรับฟังแนวทางการเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์ ผ่านมุมมองของนักวิชาการที่เคยผ่านประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง กับแนวทางการเสพสื่ออย่างสร้างสรรค์ในภาวะวิกฤตด้านข้อมูลข่าวสาร ระหว่างความเชื่อกับความจริง


รองศาสตราจารย์ ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึง บทบาทการทำหน้าที่สื่อมวลชนของ เจนจิรา ในประเด็น ความเป็นมนุษย์กับวิญญาณนักข่าว ที่เธอได้สัมผัสได้จากละครสืบลับหมอระบาด หลัง เจน ต้องเข้าช่วยเหลือผู้ป่วย ระหว่างการลงพื้นที่สืบข้อเท็จจริงของ ผีแม่หม้าย ร่วมกับทีมระบาดวิทยาของหมอขุนเขา ซึ่งประเด็นนี้เป็นข่าวระหว่างหลักวิทยาศาสตร์กับความเชื่อสอดคล้องกับเรื่องจริงที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เช่น ความเชื่อกับข้อเท็จจริงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ในฐานะที่เธอเคยเป็นทั้งสื่อมวลชนและปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาวิทยุโทรทัศน์โดยตรง จึงมองว่าสื่อจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลควบคู่กับข้อเท็จจริง


ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ อดีตสื่อมวลชน ระบุว่า ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ Investigative Journalist หรือ การทำข่าวสืบสวนสอบสวน จึงมีความสำคัญ ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสื่อหลัก ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงาน โดยหลักการคือ การคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะ ยึดหลักความจริง และการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องก่อนนำเสนอ หรือ Fact Checking


ที่น่าสนใจคืออาจารย์ทั้ง 2 ท่าน ได้กล่าวถึงการเลือกเสพสื่ออย่างสรรค์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ แนะนำให้ผู้รับสาร เสพสื่ออย่างรอบด้าน ในหลายๆ สำนัก เพื่อข้อมูลที่หลากหลาย และ อย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเลือกที่จะเชื่อเสมอ


การสืบหาต้นตอโรคประหลาดของทีมระบาดวิทยาในละครยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจนจิรากับหมอขุนเขาก็พัฒนาจากแหล่งข่าวเป็นคนรัก มาติดตามกันต่อกับละครสืบลับหมอระบาด ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดคลี่คลายอย่างไรในทุกคืนวันจันทร์อังคาร

คุณอาจสนใจ