เลือกตั้งและการเมือง

‘เรืองไกร’ ร้อง กมธ.สว. สอบปมที่ดินแสนสิริ ‘เศรษฐา’ เอี่ยวหรือไม่ ขู่หากได้นายกฯ เล็งสอบคุณสมบัติต่อ

โดย chutikan_o

7 ส.ค. 2566

38 views

‘เรืองไกร’ ร้อง กมธ.สว. สอบซื้อที่ดินแสนสิริ ‘เศรษฐา’ มีเอี่ยวหรือไม่ ชี้อาจส่งผลต่อโหวตเลือกนายกฯ ปมซื่อสัตย์สุจริต ขู่หากได้นายกฯ เล็งสอบคุณสมบัติต่อ

วันนี้ (7 ส.ค. 2566) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และอดีต สว. เดินทางมายื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้ตรวจสอบกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ที่จะถูกเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ หลังนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉปมการซื้อขายที่ดินแห่งหนึ่ง และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี จนอาจไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 160 (4) ในเรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ ในฝั่งของสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่เกิดขึ้น จึงนำเรื่องมาให้ทางวุฒิสภาตรวจสอบให้รอบด้าน ทั้งผู้ร้อง ผู้กล่าวอ้าง คนแก้ต่าง บริษัทแสนสิริ หรือฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เพราะทั้งหมดยังไม่มีข้อยุติ จึงต้องมาให้กรรมาธิการสอบหาข้อเท็จจริงจากหน่วยงานหลัก โดยการขอเอกสารจากนายชูวิทย์ ขอเอกสารจากบริษัทแสนสิริ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินทั้งหมด ตั้งแต่สัญญาจะซื้อจะขาย รูปเล่มการลงบัญชี การจ่ายแคชเชียร์เช็ก การจ่ายค่ามัดจำสัญญา ค่าธรรมเนียม รวมไปถึงเชิญเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่รับจดนิติกรรมต่างๆ เจ้าหน้าที่สรรพากร เพื่อให้ข้อมูลว่าเป็นการวางแผนภาษี หรือหลบเลี่ยงภาษี หรือหนีภาษีหรือไม่ ส่วนที่นายเศรษฐา ชี้แจงว่าซื้อถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล ก็ต้องฟังความทั้งหมด จึงคิดว่า 10 กว่าวันที่ยังมีเวลา ก็ควรให้กรรมาธิการได้ดำเนินการ

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ยังตั้งข้อสังเกตกรณีสัญญาซื้อขายที่ดิน 12 ฉบับ ว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากผู้ขายทั้ง 12 คน ลงเหมือนกันว่าทั้งสองฝ่ายไม่ทราบขอบเขตที่ดินและเนื้อที่มีเพียงใด ซึ่งเอกชนทั้ง 12 ราย ที่รับที่ดินมาปี 61 แล้วขายในปี 62 โดยการได้มาไม่เกิน 5 ปีจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เสียภาษีเงินได้เป็นรายบุคคล เมื่อเสียภาษีเงินได้ ค่าธรรมเนียยมร้อยละ 2 และภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว จะไม่เสียอากรแสตมป์ ดังนั้นมองว่าสิ่งที่กรรมาธิการควรจะได้รับจากบริษัทแสนสิริ คือรายงานการประชุมของบริษัทที่จัดทำโดยคณะกรรมการตรวจสอบประจำปี 62 ที่ระบุชัดเจน ถึงการดำเนินงานของบริษัท และโดยเฉพาะข้อ 6 การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งบริษัทเข้าเป็นแนวร่วมการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น (CAC)

และในปี 62 ที่นายเศรษฐา อาจไม่ได้รับรู้เรื่องการทำธุรกรรม แต่เมื่อดูจากงบการเงินปี 62 ระบุไว้อย่างชัดเจน นายเศรษฐาถือหุ้นร้อยละ 4.66 ซึ่งสอดรับกับรายงานการประชุมที่บอกว่าทำไมต้องมอบและแบ่งเป็น 12 ครั้ง ซึ่งจะต้องชี้แจง หากเห็นว่าถูกต้องตามหลักกฏหมายและธรรมาภิบาล ตามที่แสนสิริชี้แจง นอกจากนี้ยังเห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินรอการพัฒนา มูลค่าที่ดิน 1,600 ล้านบาท เป็นที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากปี 61 อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะในหมายเหตุของงบการเงิน ที่ดินรอการพัฒนาน่าจะอยู่ในรายการนี้ปี 61 มี 13,000 กว่าล้านบาท ส่วนปี 62 มี 18,000 ล้านบาท เพิ่มมา 5,000 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่ต้องให้กรรมาธิการเรียกเอกสารทางบัญชี ซึ่งจะได้รับคำตอบว่าผู้รับเงินทั้ง 12 รายรับเงินไปแล้วเป็นแคชเชียร์เช็กส่วนหนึ่ง หรือรับเงินสุทธิหรือไม่ รวมถึงภาษีค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ซึ่งต้องดูว่าจ่ายภาษีอีกทอดหนึ่งหรือไม่ รวมถึงมูลค่าที่ดินรอการพัฒนา ทางบริษัทแสนสิริ บันทึกราคาที่ดินบวกค่าธรรมเนียมภาษีหรือไม่ ถ้าค่าธรรมเนียมรวมลงได้ แต่ถ้าภาษีเงินได้ธุรกิจเฉพาะออกให้ ต้องถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ สรรพากรต้องตอบ

“คนที่จะเป็นนายกฯ จะต้องชี้แจงเรื่องเหล่านี้ ว่าตอนที่เป็นผู้บริหารปี 62 เรื่องที่ถูกกล่าวหาเหล่านี้ชี้แจงอย่างไร ซึ่งข้อมูลคงได้แค่เบื้องต้นในการวินิจฉัย แต่สมมติว่าคุณเศรษฐาได้เป็นนายกฯ มาตรา 160 จะถูกหยิบขึ้นมาว่ารัฐมนตรีเคยมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ถ้านายเศรษฐาได้เป็นนายกฯ จะช่วยเข้ามาตรวจสอบ และมีความจำเป็นต้องดูว่านายกฯ ก่อนที่จะเข้ามามีสถานะมีเหตุหรือไม่อย่างไร จะไม่สามารถไปยืนยันข้อเท็จจริงว่า นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเลยคงไม่ใช่ ไม่งั้นจะเป็นการชี้นำสมาชิกรัฐสภามากเกินไป” นายเรืองไกรกล่าว

ด้าน นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. และรองคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งเป็นผู้รับเรื่องแทน กล่าวว่า จะนำเรื่องเข้าสู่คณะกรรมาธิการให้พิจารณา โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อให้เกิดข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในการโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งกรรมาธิการ จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการชุดอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป ย้ำว่า สว. มีหน้าที่โดยตรง ในการร่วมเลือกนายกฯ

เมื่อถามว่าอีก 10 กว่าวันที่จะเลือกนายกฯ กรรมาธิการจะ พิจารณาแล้วเสร็จ ทันหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า เงื่อนเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ข้อเท็จจริงมากที่สุดโดยเร็ว โดยจะมีการทำหนังสือคู่ขนานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเชิญบุคคลมาชี้แจงโดยเร็ว

ส่วนการแสวงหาข้อเท็จจริงจากภาคเอกชน ขอบเขตของกรรมาธิการมีแค่ไหน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องขอข้อเท็จจริงจากผู้ที่มีส่วนได้เสีย และเป็นประโยชน์กับเขาเอง ก็ควรจะต้องให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน แต่ไม่มีกฎหมายเชิงบังคับว่าให้ทำ แต่นี่คือผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ถูกกล่าวหา สว.ที่จะมีข้อมูลในการพิจารณา และเป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนในกระบวนการคัดเลือกนายกฯ ที่มีความสมบูรณ์

ส่วนที่เบื้องต้นบริษัทแสนสิริ ชี้แจงว่านายเศรษฐา อาจไม่เกี่ยวข้องกลับการซื้อขายที่ดิน เพราะเป็นแค่ผู้ลงนาม พอจะรับฟังได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงทุกฝ่ายรับฟังได้อยู่แล้ว แต่เราอยากฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบถ้วน ซึ่งดีกว่าการไม่รับฟัง ซึ่งการที่นายเรืองไกรนำข้อมูล ข้อเท็จจริง และเสนอแนะให้ติดตามขอข้อมูลจาหน่วยงาน ประโยชน์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นประโยชน์ และเชื่อว่าจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่สุด    

คุณอาจสนใจ

Related News