สังคม

เปิดปัญหาโครงการก่อสร้างทางยกระดับลาดกระบัง ก่อสร้างล่าช้า-ไม่ปลอดภัย

โดย panwilai_c

11 ก.ค. 2566

167 views

จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทีมข่าวได้ตรวจสอบเพิ่มเติมจนพบว่าโครงการนี้ เคยมีปัญหาด้านการก่อสร้างที่ล่าช้า จนต้องขยายระยะเวลาออกไป จากเดิมที่ต้องเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และ เสร็จในปีเดือนสิงหาคมปี 2566 หรือ ปีนี้ แต่ต้องขยายระยะสัญญาไปเป็นเดือนธันวาคม ปี 2567แทน



โดยข่าว 3 มิติ ได้พูดคุยกับ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง ผู้เปิดประเด็นตั้งกระทู้ถามสดถึงความล่าช้าในกรณีนี้ ซึ่งเขาเองยอมรับว่าภายหลังจากได้ตั้งกระทู้ถามไป การก่อสร้างก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครก็ได้ชี้แจงถึงการก่อสร้างที่ยืนยันว่าไม่ได้ผิดไปจากแบบเดิมแต่อย่างใด



นี่เป็นบางช่วงบางตอนระหว่างการตั้งกระทู้ถามสดไปยังผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ของนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา หรือ ดร.จอห์น ส.ก.เขตลาดกระบัง จากพรรคเพื่อไทย ในการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยแรก ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการทางยกระดับอ่อนนุช ลาดกระบัง โดยมีนายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ตอบกระทู้



ดร.จอห์น เปิดเผยกับข่าว 3 มิติว่า สาเหตุที่ต้องตั้งกระทู้ถามในวันนั้น เนื่องจากที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวดูไม่มีความคืบหน้าเกิดขึ้น และ ยังสร้างปัญหากีดขวางการจราจร รวมทั้งการก่อสร้างที่มีลักษณะไม่ปลอดภัย



เช่นตัวอย่างการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์นี้ผ่านถนนในขณะที่มีผู้สัญจรไปมา โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย



นี่เป็นข้อมูลรายละเอียดการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุชลาดกระบังที่ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหาร กทม. นำมาเปิดเผยต่อ สื่อมวลชนในวันนี้



ในสัญญาระบุว่า โครงการนี้มีสำนักการโยธา กทม. เป็นเจ้าของโครงการ โดยมี บริษัทธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัทนภา ก่อสร้าง จำกัด ดำเนินธุรกิจร่วมกัน ช่วงเวลาก่อสร้างระหว่าง 23 กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 11 สิงหาคม 2566 รวมระยะเวลา 900 วัน เป็นวงเงิน 1,664.55 ล้านบาทในส่วนของงบประมาณจากกรุงเทพมาหนคร



ที่ผ่านมามีความล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ กทม.ก็พยายามเร่งรัดมาโดยตลอด บริษัทได้ขอแก้ไขสัญญาเพิ่มเติม 2 ครั้ง โดยจะแล้วเสร็จ เดือนธันวาคม ปี 67



ส่วนในช่วงเดือนกันยายนปี 65 ผู้รับเหมาก็ได้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง จากเดิมคือวิธีการหล่อในที่ติดตั้ง เป็น หล่อจากโรงหลอมมาติดตั้งในพื้นที่แทน ก่อนได้รับการอนุมัติจากกทม.ในเดือนตุลาคม 65 และดำเนินการก่อสร้างนับแต่นั้น โดยทาง กทม.ยืนยันว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแบบการก่อสร้างตามที่มีกระแสข่าวออกมา



ขณะที่งบการประกวดราคาที่บริษัทคู่สัญญาชนะการประมูลนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ซึ่ง แม้งบที่ประมูลมาได้จะต่ำกว่าราคากลาง แต่ทางกทม.ก็ยืนยันว่าเป็นราคาที่ต่างกันเพียง 4 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามระเบียบการประกวดราคา ปัจจุบันมีสัญญากับกทม.เพียงโครงการนี้โครงการเดียว ส่วนที่ผ่านมาข่าว 3 มิติ ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวเคยร่วมสัญญาก่อสร้างในโครงการของกรมทางหลวงร่วมกับบริษัทอื่นมาแล้วหลายโครงการ



ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ปปท. ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและสอบถามประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนสร้างสะพานจนถึงช่วงเกิดเหตุ เพื่อดูข้อเท็จจริงและขยายผลในเรื่องการดำเนินโครงการ จัดซื้อจัดจ้างงบประมาณ และการบริหารสัญญาว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ และการควบคุมงานระหว่างนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ รวมไปถึงการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ



ส่วนในวันพรุ่งนี้ สก.เขตลาดกระบัง จะยื่นญัตติด่วนด้วยวาจาสอบถามผู้บริหาร ต่อที่ประชุมสภาฯกทม. สอบถาม บริษัทกิจการร่วมค้า "ธาราวัญ- นภา " เคยก่อสร้างและรับงานเมกะโปรเจคใหญ่ๆ มาก่อนหรือไม่ และจะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้อย่างไร อีกทั้งงบประมาณก่อสร้างคุ้มค่าหรือไม่

คุณอาจสนใจ