เลือกตั้งและการเมือง

'ราเมศ' สวน 'ธาริต' บิดเบือน คดี 99 ศพ ย้อนไม่ผิดสารภาพทำไม - 'ณัฐวุฒิ' ลั่นลื้อเจออั๊วแน่ บิ๊กปฏิวัติล้มคดีสลายเสื้อแดง

โดย weerawit_c

9 ก.ค. 2566

1.4K views

วานนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและตัวแทนญาติคนตาย 99 ศพ ได้แถลงผ่านสื่อมวลชน ร้องขอศาลฎีกาให้คืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพ และครอบครัวผู้ตายกับผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เมษายน – พฤษภาคม 2553 “99 ศพ สมควรได้รับคืนความยุติธรรมและพ้นจากตราบาปว่าเป็นผู้ผิด”



โดย นายธาริต ได้แถลงข่าวประเด็นต่างๆ โดยระบุว่า ประเด็นที่ 1 สืบเนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมของ นปช. เมื่อช่วงเมษายน – พฤษภาคม 2553 ศูนย์ ศอฉ. โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 เข้าสลายการชุมนุม ซึ่งถือว่าเป็นคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และเสียชีวิต 99 ศพ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตน เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289


นายธาริต กล่าวต่อว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ต้องหาในคดี คือ นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวนในคดี ตามมาตรา 157 มาตรา 200 โดยกล่าวหาว่าพนักงานสอบสวนกลั่นแกล้งพวกตนให้ถูกดำเนินคดีเพื่อรักษาความยุติธรรม ทั้งต่อพนักงานสอบสวน รวมถึงผู้เสียชีวิต 99 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ตนเห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้ทำหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วถูกฟ้องกลับและถูกดำเนินคดีตาม ป.อาญา มาตรา 157 มาตรา 200 อาจก่อให้เกิดลัทธิเอาอย่างด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย มาตรา 157 มาตรา 200 ฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐกลัวที่อาจจะต้องได้รับโทษอาญาเสียเอง ตนจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ป.อาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยยื่นคำร้องผ่านศาลฎีกา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งหมายความว่าศาลอาญาและศาลฎีกาจะวินิจฉัยเสียเองไม่ได้


อดีตอธิบดี ดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ตามที่มีข่าวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า นายธาริต ได้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกาหลายๆ ครั้ง โดยอาจเป็นการหลบเลี่ยงอย่างน่าสงสัยนั้น ขอชี้แจงว่า มีการขอศาลอาญาเลื่อนคดีหลายๆ ครั้งจริง แต่มีสาเหตุมาจากเหตุสำคัญถึง 4 ประการ ได้แก่ 1.การส่งหมายศาลในครั้งแรกไม่ตรงกับภูมิลำเนาจำเลย 2. จำเลยเจ็บป่วยเป็นโควิดสองครั้ง เส้นเลือดในสมองตีบ และเข้ารับการผ่าตัดไตทั้ง 2 ข้าง ที่โรงพยาบาลพญาไท 2 และโรงพยาบาลศิริราช 3. มีญาติผู้ตายของ 99 ศพยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในคดีนี้หลายราย หลายครั้ง และ 4. จำเลยยื่นขอให้ศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้บังคับ กับคดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเหตุจำเป็นทั้ง 4 ประการดังกล่าว ศาลอาญาต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาเพราะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งคำร้อง ด้วยเหตุคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกานั้นเอง การเลื่อนอ่าน คำพิพากษาคดีนี้หลายๆ ครั้ง จึงมีเหตุสำคัญและจำเป็นทั้ง 4 ประการ ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เกิดจากความผิดของนายธาริต ที่จะหลบเลี่ยงไม่ฟังคำพิพากษา


นายธาริต กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 ตนและญาติผู้ตายจำนวนมาก มีความกังวลและไม่สบายใจต่อคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้มีการอ่านโดยศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จึงมีการร้องขอโดยญาติผู้ตาย เข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามจำนวนมากหลายราย ตนก็ได้ร้องขอให้ศาลฎีกาส่งคดีไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 157 มาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ที่จะใช้บังคับคดีนั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ขณะนี้คำร้องต่างๆ ที่กล่าวมายังไม่ทราบผลว่าศาลฎีกาได้สั่งคำร้องอย่างไร โดยเฉพาะได้สั่งให้ส่ง มาตรา 157 และมาตรา 200 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่


นายธาริต กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 4 ข้อกังวลและไม่สบายใจของตน และญาติผู้ตายเป็นอย่างยิ่งคือ ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แม้ว่าศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องตน กับพวก เพราะเหตุว่าได้กระทำการตามหน้าที่และผู้ตายทั้ง 99 ศพ ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ แต่หากศาลฎีกาจะได้พิพากษากลับไม่เป็นไปตามศาลชั้นต้น โดยลงโทษตนกับพวก ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษากฎหมายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย่อมเกิดผลอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะอาจพิพากษาระบุเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ว่า การที่ตนกับพวก พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ นั้น ไม่ชอบเป็นความผิดเพราะนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ กระทำการออกคำสั่ง ศอฉ. ให้ทหารใช้อาวุธสงครามไปยิงทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิต 99 ศพ นั้น เพราะเกิดเหตุร้ายแรงจากการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมและผู้ตายดังกล่าว


การสั่งให้ระงับเหตุของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จึงเป็นกรณีสมควรแก่เหตุแล้ว ผลก็จะเปรียบเสมือนการ “รับรองยืนยันหรือการันตี” ให้นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ และผู้เกี่ยวข้องในเหตุร้ายแรงนี้เป็นผู้บริสุทธิ์ เกิดเป็นบรรทัดฐานแบบอย่าง ในขณะที่ผู้ตายทั้ง 99 ศพ พร้อมครอบครัว และผู้บาดเจ็บอีก 2,000 กว่าคนจะเป็นอันสิ้นสุดที่จะได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาในความเสียหายทันที และเป็นการโยนตราบาปให้กับผู้ตาย 99 ศพ ว่าเป็นผู้ผิดที่สมควรตาย นานาประเทศจะเกิดข้อสงสัยในกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างยิ่ง อาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงทำนองนี้ได้อีกในประเทศไทย เพราะได้แบบอย่างว่าทำแล้วไม่ต้องรับผิดและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งดีเอสไอและหน่วยงานอื่นๆ จะไม่กล้าดำเนินคดีเพราะอาจต้องติดคุกเสียเอง คำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งถือเป็นบรรทัดฐานในคดีนี้ จึงสำคัญอย่างที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธาริต ได้กล่าวด้วยว่า ในช่วงแรกของการมีการดำเนินคดี ต้องเรียนเพื่อให้เข้าใจ จะมีการพูดเสมอว่า แกนนำนปช. ถูกดำเนินคดี แล้วทำไม อภิสิทธิ์ – สุเทพ หรือทหาร ต้องถูกดำเนินคดีอีก เพราะถูกบิดเบือนว่า นปช.ร้าย เป็นคนผิด สมควรตาย คนสั่งยิงไม่สมควรต้องรับผิด ตรรกะนี้ไม่ใช่ นปช. ลุงป้าที่เขาไปชุมนุม เขาไม่ได้ผิด แกนนำ ถูกดำเนินคดีกล่าวหาว่าผิด ก็ดำเนินคดีไป ภาษาดีเอสไอเรียกว่า ล้ำเส้นเข้าไปใน เรดโซน ผิดกฎหมาย ขณะที่ ศอฉ.ก็เข้าไปในเรดโซน คือใช้คำสั่งให้ทหารเอา เอ็ม 16 เข้าไปในพื้นที่ ก็ทราบดีว่า 99 ศพ และผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน


“ผมถูกเรียกเข้าไปในค่ายทหารแห่งหนึ่งในถนนราชดำเนิน คนที่เรียกผมเข้าไป อาจไม่ควรต้องถูกเปิดเผยชื่อ แต่เป็นทหารชั้นผู้ใหญ่มาก และเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ และว่า ธาริต อย่าดำเนินคดีเรื่อง 99 ศพ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั้วปฏิวัติ ผมจะทำอย่างไร ในเมื่อศาลได้ชี้มาว่าการตาย มันเกิดจากทหารใช้อาวุธสงคราม มีการสั่งการต่างๆ ถ้าผมไม่ทำ ก็อยู่ไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำ เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ได้ตามลำพัง ทำเป็นคณะกรรมการสอบสวน มีตำรวจร่วม อัยการร่วม”


“ผมถือว่าเป็นการขู่ ครั้งนั้น บอกด้วยว่า พวกอั้วปฏิวัติ แล้ว ลื้อจะโดนย้ายคนแรก เหตุปฏิวัติมีการพูดกันเยอะ 9 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพูดความจริงชัดเจนว่า ปฏิวัติ เพราะอะไร พูดเรื่องจำนำข้าวบ้าง จริงหรือเปล่า พูดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยบ้าง จริงหรือเปล่า มีกปปส.เข้ามา ถูกดำเนินคดี แล้วยังไง”


“แต่ที่แน่ๆ ปฏิวัติ ยังไม่ครบ 24 ชั่วโมง คนที่ถูกย้ายทันที คือนายธาริต และ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบดำเนินคดี 99 ศพ เป็นความเชื่อของผม ภายใต้ข้อเท็จจริงที่สัมผัสในฐานะข้าราชการมืออาชีพ ที่ทำงานด้านนี้ ว่านี่คือเหตุสำคัญของการปฏิวัติ”


ต่อจากนั้น นายธาริต กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องให้นายกคนใหม่ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระ ซึ่งผมขอใช้คำว่า senior Super board เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดดึงความยุติธรรมให้ 99 ศพ ตนพร้อมไปศาลในวันจันทร์นี้ และพร้อมติดคุก


“ผมพร้อมจะติดคุก ถือว่า ติดคุกครั้งนี้ไม่สูญเปล่า แต่เป็นจุดแตกหัก ที่ได้เวลาคืนความยุติธรรม” นายธาริต กล่าว


เมื่อถามว่า ช่วงที่กลับคำรับสารภาพจะมีผลอะไรหรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ตนได้กลับคำรับสารภาพโดยมีเงื่อนไข ในคำร้องตนให้การรับสารภาพถ้า ศาลฎีกาได้ส่งเรื่องที่ตนขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ม.157 ที่ดำเนินคดีกับตนนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ และตนได้ระบุชัดเลยว่าเมื่อศาลฎีกาไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ตนขอไม่รับสารภาพ


เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดตั้งเงื่อนไขเช่นนั้นนายธาริต กล่าวว่า ตนมั่นใจว่ามาตรา 157 และ มาตรา 200 อยู่ตรงยื่นให้ศาลฎีกาไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ที่ผ่านมา ในหลายประเทศอาทิ เยอรมันและฝรั่งเศส เขาถือว่ามาตราเหล่านี้ ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นมาตราที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน เป็นมาตราที่มีลักษณะ เหวี่ยงแห มีนักวิชาการและ ผู้ใหญ่หลายคนออกมาพูดเสมอว่า มาตราดังกล่าว กระทบสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่มีขอบเขตและ ไม่เป็นธรรม การดำเนินคดีตามหลักอาญาจะต้องมีความชัดเจน ว่าผิดแบบไหนทำอะไร ไม่ใช่อะไรก็ใช้มาตรา 157 ที่เอาไว้กลั่นแกล้งกัน


“ผมถึงมั่นใจว่าถ้าหากศาลฎีกาส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยน ผมจะได้รับความยุติธรรม”


เมื่อถามว่ามีหลายคนมองว่าเป็นการประวิงเวลาอีกหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาตรงกับศาลอุทธรณ์ นายธาริต กล่าวว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วไม่ว่าผล จะออกมาอย่างไรตนก็ต้องยอมรับ มันไม่ใช่เป็นการประวิงเวลาไม่ว่าตนหรือญาติผู้เสียชีวิต ก็เห็นเหมือนกันว่าเป็นการแสวงหาความยุติธรรม ซึ่งเราจะไม่ย่อท้อ ในเมื่อรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ว่าในระหว่างถูกดำเนินคดีจนกว่าจะเสร็จสิ้นถึงชั้นศาลฎีกาจนกว่าจะมีคำพิพากษาถ้าคู่ความเห็นว่ามาตราที่ถูกดำเนินคดีมันขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิ์ที่จะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะมาเขียนเพื่อประวิงเวลา มีการศึกษาวิทยานิพนธ์ และคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ


“ผมตั้งใจมาหลายจังหวะ แต่สถานการณ์บ้านเมืองไม่ให้ เรื่องนี้ผูกพันกับสภาพบ้านเมืองที่ไม่ปกติ หลังปฏิวัติมา 9 ปี เรากำลังเปลี่ยนประมุขฝ่ายนิติบัญญติ ที่มาจากประชาธิปไตย กำลังจะได้นายกฯที่มาจากประชาธิปไตยจริงๆ เป็นสถานการณ์ที่เลือกว่าดีที่สุดแล้ว และผมเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่ชั่วโมง ผมจะหมดอิสรภาพ และไม่มีโอกาส ผมก็ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมครั้งสุดท้าย จะได้หรือไม่ได้ไม่เป็นไร ถ้าต้องติดคุกครั้งนี้ เหมือนติดคุกโรงพักร้าง อาจจะคุ้มกว่า เพราะการตายของ 99 ศพ กับบาดเจ็บ 2,000 จะไม่ถูกละเลยแน่นอน”


ขณะที่ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกมาแถลงข่าวพาดพิงบิดเบือนก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนยุติธรรม เสียหายต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า


หลักการสำคัญในเรื่องนี้ขอย้ำว่าสิ่งที่นายธาริต ออกมาพูด กล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้น ได้มีการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้วจากกระบวนการยุติธรรม จากคณะกรรมการ ปปช.



การพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรมนั้น เนื่องจากมีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญา ในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน


อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง โดยผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล


“อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553”


ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน ยุติด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม


นายราเมศกล่าวต่อว่า ที่นายธาริตแถลงมาทั้งหมดทำไมไม่เอาไปสู้คดีในชั้นศาล ทำไมไม่เอาข้อเท็จจริงไปเข้าสู่กระบวนการของศาลในคดีที่เคยสั่งให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ



ที่นายธาริต กล่าวว่า “จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตน เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289”


ในประเด็นนี้ เคยย้ำมาตลอดเวลาว่า ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของ ปปช ว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย นายธาริตถูกฟ้องกลับในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสืบเนื่องมาจากการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก


ขณะนี้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายธาริตเลื่อนฟังคำพิพากษามาหลายครั้ง ทำไมไม่เอาสิ่งที่แถลงเข้าสู่สำนวนคดีที่นายธาริตถูกฟ้อง แล้วต่อมาทำไมถึงต้องให้การรับสารภาพ แสดงว่านายธาริตยอมรับว่าได้ดำเนินกระบวนการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถ้ายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะรับสารภาพทำไม กลับมากล่าวหาบุคคลอื่น แล้วที่ให้การรับสารภาพต่อศาลคือคำให้การเท็จใช่หรือไม่


นายราเมศ กล่าวต่อว่า ทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ไม่เคยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา


นายธาริต ออกมาแถลง คำแถลงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม บิดเบือนให้สังคมสับสน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี นายธาริตอย่าพยายามยกเรื่องนี้มาลบล้างการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบในการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ


คนจริงเขาไปสู้ในศาล ไม่ใช่มาพูดนอกศาลให้ตนเองดูดี ควรเคารพกระบวนการ ยืนกรานต่อสู้ตามหลักกฎหมาย และอย่าอายต่อความจริง ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะไม่มีข้อยุติและจะนำเหตุการณ์นี้มาบิดเบือนเพื่อทำลายผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา


ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก 30 ส.ส.พรรคเพื่อนไทย เตรียมเข้าชื่อแก้ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้สิทธิ์ญาติผู้เสียชีวิตฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้โดยสภาเริ่มประชุม ยื่นทันที โดยเนื้อหาทั้งหมดดังนี้


“อย่าดำเนินคดี 99 ศพ ถ้าไม่ฟังกัน พวกอั๊วปฏิวัติแล้วลื้อจะโดนย้ายคนแรก” ธาริต เพ็งดิษฐ์ แถลงเล่าเหตุการณ์ก่อนยึดอำนาจ 22 พ.ค. 57 แก้ พรป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้สิทธิ์ญาติผู้เสียชีวิตฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้โดยตรง ร่างกฎหมายพร้อม 30 ส.ส.เพื่อไทยเตรียมลงชื่อ สภาเริ่มประชุม ยื่นทันที ไม่ว่าลื้อจะเป็นใคร เจออั๊วแน่”



https://youtu.be/BfEYLS809mc

คุณอาจสนใจ

Related News