เลือกตั้งและการเมือง

เปิดพิรุธ ที่มารายได้ ‘ไอทีวี’ 15 ปีไม่มีรายได้ แต่หลังประชุม 2 วัน พบให้บริการลงสื่อโฆษณา

โดย petchpawee_k

15 มิ.ย. 2566

71 views

หลังจากข่าว 3 มิติ เปิดหลักฐานคลิปบันทึกการประชุมสามัญประจำปี 2566 ผู้ถือหุ้น บริษัทไอทีวี มีข้อมูลไม่ตรงกับเอกสารบันทึกประชุม ในประเด็นว่าไอทีวียังคงประกอบกิจการสื่อหรือไม่ ยังไม่มีการชี้แจงมาจากบริษัทไอทีวี ในขณะที่มีการพบข้อพิรุธงบการเงินไตรมาส ที่ 1 ของปี 2566 หลายจุด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน และแหล่งข่าวผู้ถือหุ้นของข่าว 3 มิติ ก็ต้องการให้บริษัทไอทีวีชี้แจงในประเด็นนี้เพื่อความโปร่งใส เพราะเป็นหลักฐานสำคัญที่ กกต.จะใช้พิจารณาคดีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ด้วย


โดยข่าว 3 มิติ ได้รับรายงานด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชี ได้มีการลาออกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ แต่ยังไม่ทราบเหตุผล  


โดยจากเอกสารแบบนำส่งงบการเงิน ส.บช.3 ของบริษัทไอทีวี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566


และเอกสารการแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า บริษัทไอทีวี มีประเภทธุรกิจเป็นสื่อโทรทัศน์ สินค้าและบริการ สื่อโฆษณษและผลตอบแทนจากการลงทุน


 ประกอบกับเอกสาร งบแสดงฐานะการเงิน วันที่ 31 มีนาคม 2566 ของบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบ และเป็นร่างสำหรับการใช้งานภายใน หรือ Draft for internal use ระบุว่า มีรายได้ เป็นผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ กว่า 6 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร กว่า 2 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายค่าตอบแทนการบริหาร 150,000 บาท และมีกำไรจากการกิจกรรมดำเนินงาน กว่า 3 ล้านบาท


และในข้อที่ 10 เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และในวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566


จากเอกสารที่ปรากฏมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญการเงิน คุณ สฤณี อาชวานันทกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ระบุว่า งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 แตกต่างจากงบการเงินในปี 2565 ที่ไม่มีการระบุว่า เป็นสื่อโฆษณา มีเพียงระบุรายได้ที่มาจากการลงทุน ซึ่งตรงกับงบการเงินของบริษัทไอทีวีนับจากถูกยกเลิกสัปทานเมื่อปี 2550 ถึงปี 2565 เป็นเวลา 15 ปี ก็ไม่มีรายได้จากสื่อโฆษณา การดำเนินกิจการสื่อที่บริษัทไอทีวีระบุว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่ผู้บริหารบริษัทไอทีวี ตอบว่า ยังไม่ดำเนินการใดๆ แต่ในวันที่ 28 เมษายน 2566 เพียง 2 วันหลังการประชุม กลับมีรายงานในงบการเงินว่าให้บริการลงสื่อโฆษณา และวันนำส่งบัญชี ตรงกับวันที่ มีการยื่นร้องคดีหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

สอดคล้องกับข้อสังเกตของแหล่งข่าวผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีที่ให้ข้อมูลว่า อยากให้ผู้บริหารไอทีวีชี้แจงงบการเงินที่ปรากฏด้วยว่า เหตุใดเวลาห่างเพียง 2 วันหลังการประชุมผู้ถือหุ้น กลับมีรายงานการจ้างลงสื่อโฆษณา จะต้องมีเอกสารระบุได้ว่าการโฆษณาแบบใด ว่าจ้างกันอย่างไร


ประกอบกับการตรวจสอบที่ตั้งบริษัทไอทีวี ก็ใช้สำนักงานเดียวกับบริษัทอินทัช ที่แม้จะเป็นบริษัทแม่ แต่มีพนักงานดำเนินการหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบมีกรรมการบริษัท 5 คน และในจำนวนนั้น 4 คน ก็อยู่ในบริษัทอินทัชด้วย


ซึ่งนอกจากผู้บริหารบริษัทไอทีวีต้องชี้แจงแล้ว ยังเป็นประเด็นที่ กกต.จะต้องนำไปตรวจสอบด้วยว่า การดำเนินกิจการสื่อของบริษัทไอทีวี มีการว่าจ้างเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ไม่นับรวมกับการชี้แจงกรณีคลิปวีดีโอคำตอบจากผู้บริหารในวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับเอกสาร ที่ผ่านมา 3 วันแล้ว ยังไม่มีการชี้แจงมาจากบริษัทไอทีวี ซึ่งตรงกับข้อสังเกตุข้อผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินด้วย


ซึ่งประเด็น ในข่าวสามมิติเมื่อคืนนี้ เป็นประเด็นที่ 'ชัยธวัช ตุลาธน' เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงไว้เมื่อวันก่อน โดยมีข้อพิรุธระบุว่า


"(2) ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของไอทีวี


ข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง หากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวี กล่าวคือ แก้ไขคำตอบของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม ต่อนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน จาก "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ" กลายเป็น “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “แบบนำส่งงบการเงิน” (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน และเป็นวันเดียวกับที่นายเรืองไกรไปยื่นร้องต่อ กกต. หรือไม่


เพราะเมื่อพิจารณา “แบบนำส่งงบการเงิน” (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ซึ่งเป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) จะพบว่ามีการระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” และระบุสินค้า/บริการว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” จากเดิมที่เอกสารงบการเงิน (ส.บช.3) ของไอทีวีในปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แล้วในปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ”


การเปลี่ยนแปลงข้อความในแบบนำส่งงบการเงินครั้งหลังสุดของไอทีวีดังกล่าว ขัดแย้งกับการตอบของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 ต่อข้อซักถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า “หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะมีแผนชำระบัญชี หรือกิจการคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่”


ที่บอกว่าขัดแย้งกัน เพราะนายคิมห์ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า “ผลของคดีเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใด ๆ กับไอทีวี ณ ขณะนี้นะครับ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู option ต่างๆ ทางเลือกต่าง ๆ ก็ยังไม่มีทางเลือกใด ๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ฉะนั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องรอผลของคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้วทางบริษัทก็จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม ให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชี อะไรยังไง ทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปนะครับ”


คำตอบของนายคิมห์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เมษายน 2566 นายคิมห์ สิริทวีชัย ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นและประธานกรรมการบริษัท มิได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไอทีวีประกอบกิจการ “สื่อโทรทัศน์” และมีรายได้จาก “สื่อโฆษณา” แต่อย่างใด แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช.3) ที่ไอทีวีนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 จะระบุว่า รายได้ของไอทีวีในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้า/บริการ คือ “สื่อโฆษณา” มิพักต้องกล่าวถึงกรณีที่นายคิมห์ได้ตอบผู้ถือหุ้นถึงแนวโน้มที่จะมีการชำระบัญชี ปิดบริษัทหลังจากทราบผลของคดีด้วยซ้ำ


จากข้อพิรุธนี้ ยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวี เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 หน้าสุดท้ายมีการระบุว่า "เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"


คำถามคือว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็น “ผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา” ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 โดยวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายน 2566 ซึ่งก็อยู่ในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 นายคิมห์กลับตอบคำถามว่าบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน


และเป็นไปได้อย่างไรว่า หลังจากประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เมษายน แล้ว ซึ่งประธานในที่ประชุมได้บริษัทไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสื่อ แต่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2566 กลับไประบุว่า "ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้โฆษณาลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"


ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดแย้งต่อกับสิ่งที่นายคิมห์กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน เพราะถ้าไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริง นายคิมห์ย่อมต้องแจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงความเป็นไปได้ในการมีแผนธุรกิจใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นเพียง 2 วัน คือ วันที่ 28 เมษายน 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบ “แผนธุรกิจใหม่” ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 และบริษัทจะรับรู้รายได้ในไตรมาสเดียวกันทันที


ซึ่งผิดวิสัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น 2 วัน นายคิมห์ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยังไม่เคยรับทราบความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการใด ๆ และยังให้ข้อมูลตอบผู้ถือหุ้นว่า จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ


ฉะนั้น เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ในแง่พฤติการณ์ ข้อเท็จจริง และช่วงระยะเวลาการเสนอแผนธุรกิจ รวมถึงการรับรู้รายได้จากแผนธุรกิจใหม่ มีความไม่สอดคล้องกันและขัดแย้งกันเองเป็นอย่างยิ่ง

การดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวให้แตกต่างจากการตอบข้อซักถามตามคลิปการประชุมจึงไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือเป็นการจัดทำเอกสารรายงานการประชุมตามแบบแผนปกติ หากแต่เมื่อวิญญูชนได้ทราบถึงพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดข้อสงสัยได้ว่า เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่ตกแต่งจัดทำขึ้นในภายหลังหรือไม่"


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2FTKq_2ANEU

คุณอาจสนใจ

Related News