เลือกตั้งและการเมือง

หลากมุมมอง ประเสริฐ-จาตุรนต์-จุรินทร์-อานนท์-ธนกร ปม ม.151 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี

โดย passamon_a

11 มิ.ย. 2566

189 views

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.66 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ กกต. มีมติตั้งกรรมการไต่สวนกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 42 วงเล็บสามและมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ตนเชื่อว่าไม่มีอะไร และนายพิธาจะสามารถตอบคำถามได้เคลียร์ทุกประเด็น ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นต้น และในฐานะที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ตนขอให้กำลังใจนายพิธา ในการแก้ไขข้อกล่าวหาให้เรียบร้อยลุล่วงไปด่วยดี


เมื่อถามว่า สิ่งที่ กกต.มีมติ มีโทษ หนักถึงจำคุก นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า โทษหนัก แต่ตนเชื่อในความยุติธรรมของ กกต. ว่าจะดำเนินการไต่สวนเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม ยอมรับว่าเป็นห่วงแต่ก็ให้กำลังใจ


ส่วนจะไปสะดุดในขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ ระบุ ไม่กังวล เพราะเชื่อว่านายพิธา จะผ่านพ้นเรื่องนี้ไปได้ด้วยดี ส่วนจะกลายเป็นเงื่อนไขของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ว่าคดียังไม่สิ้นสุด หรือไม่นั้น ต้องดูผลของการไต่สวน ว่านายพิธา และ กกต. ได้ชี้แจงว่ามีข้อไต่สวนอย่างไร ขอให้รอดู เพราะเชื่อว่าไม่นาน ซึ่งการเลือกตั้งผ่านมาร่วมเดือน เหลือเวลาอีกไม่นานก็จะมีการรับรองผลการเลือกตั้งทั่วประเทศ จึงเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่นาน


เมื่อถามว่า 8 พรรคร่วม จะต้องพูดคุยเรื่องนี้กันก่อนหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นร้อน นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการพูดกันในที่ประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่คุยกันเรื่องของกรอบการทำงานร่วมกัน 14 คณะ ส่วนเรื่องหุ้น ITV ของนายพิธา หรือประเด็น ม.151 ยังไม่มีการหยิบยกขึ้นมา


ส่วนที่หลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทย ก็มีสิทธิ์ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันเพราะว่าเราอยู่ร่วมกัน 8 พรรค ไม่อยากให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น อยากให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำหลักจัดตั้งได้สำเร็จ


ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า "ท่ามกลางความสับสนทางการเมืองในช่วงนี้ สรุปสั้น ๆ ได้ว่าทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรวมเสียงได้เกินครึ่งไปเยอะมาก แต่การจัดตั้งรัฐบาลยังเต็มไปด้วยอุปสรรค


นอกจาก ส.ส.ต้องโหวตร่วมกับ ส.ว.แล้ว รัฐธรรมนูญยังมีกับดักที่หลากหลายไว้จัดการกับพรรคการเมือง และนักการเมืองอย่างไม่เป็นเหตุเป็นผลโดยไม่สนใจว่าประชาชนจะคิดอย่างไร"


ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดหลักสูตร สายสัมพันธ์ไทย-จีน เพื่อผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 2 ประเด็นการเมืองว่า สำหรับการเมืองนั้นทุกอย่างต้องนับหนึ่งจากการรับรองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงจะมีการเปิดการประชุมรัฐสภา และไปสู่เรื่องการเลือกประธานสภา และการเลือกนายกรัฐมนตรีและการตั้งรัฐบาลต่อไป ขั้นตอนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว


ส่วนรัฐบาลใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไรยังไม่สามารถตอบได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกลยังทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ ซึ่งตนคิดว่าประชาชนก็เฝ้าดูอยู่ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร


ส่วนตัวคิดว่าเมื่อพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาได้ก็เป็นการทำหน้าที่ในการเดินหน้าจัดการรัฐบาลต่อไป และทุกอย่างก็จะเข้าสู่ขบวนการที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและเป็นไปตามกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ กกต.รับว่าจะสอบ นายพิธา ตามมาตรา 151 จะมีผลต่อ การโหวตนายกรัฐมนตรีในสภา หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวตอบว่า ตนไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลต่อการโหวตมากน้อยเพียงใด แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นไปตามกฎหมาย การเลือกตั้งเป็นผลการตัดสินใจทางการเมืองของพี่น้องประชาชน แต่ว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องเป็นหน้าที่ของกลไกที่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามนั้น


เพราะฉะนั้นเมื่อ กกต.ดำเนินการไปอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับ กกต. ว่า จะมีความเห็นอย่างไร ในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ และ กกต.เองก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะหลีกเลี่ยงบังคับใช้กฎหมายได้ และเมื่อผลเป็นอย่างไรก็ต้องไปสู่ศาล ส่วนจะเป็นศาลใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเด็นที่ กกต. จะตั้งขึ้น ว่าจะไปศาลใด เพราะมีเงื่อนไขบังคับไว้แล้ว ว่าหากเป็นเรื่องของคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็ต้องเป็นศาลฎีกา แต่ถ้าเป็นคุณสมบัติ ข้อสงสัย ในเรื่องของการเป็น ส.ส.แล้ว จะขาดคุณสมบัติ ส.ส.หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีขั้นตอนกระบวนการกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่สามารถทำเป็นอย่างอื่นได้


และทุกคนมีหน้าที่เคารพกฎหมาย เพราะประเทศไทยเป็นนิติรัฐ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ต้องรอกลไกที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุด จะมีการพลิกขั้วตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายจุรินทร์ ตอบว่า ตนไม่สามารถตอบล่วงหน้าได้ แต่ขณะนี้ต้องถือว่าพรรคก้าวไกล เป็นแกนตั้งรัฐบาล ก็ขอให้ตั้งสำเร็จ ตนถือหลักชัดเจนในทางการเมือง กับ ทางกฎหมาย ในทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง พรรคใดรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็มีสิทธิ์ที่จัดตั้งรัฐบาล ส่วนในทางกฎหมายทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หากทำผิดกฎหมาย กลไกลที่บังคับใช้กฎหมายก็มีหน้าที่ในการที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพราะหลักมีชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งทางการเมือง และตามหลักกฎหมาย


ส่วน นายอานนท์ นำภา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และแกนนำราษฎร แสดงความเห็นว่า การที่ กกต.นำเรื่องมาสอบเอง โดยปัดตกคำร้องของผู้ร้องต่าง ๆ เป็นการยืดเวลาออกไป คือ ต่อไปนี้หากนายพิธาได้เข้าสภาจริง จะมีชนักติดหลัง ซึ่งมีโทษทั้งเรื่องจำคุก และตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต่อให้นายพิธาเข้าสภาได้ ก็ต้องระวังชนักที่ติดหลังอยู่ ว่า กกต.จะเล่นงานเมื่อไรก็ได้ อย่างไรก็ตามเขาคงรอให้กระแสมันต่ำ คงใช้กฎหมายเป็นนิติสงครามเล่นงานนายพิธา แต่เชื่อว่ากระแสไม่ต่ำ เพราะคนตามลุ้นคะเเนนเสียงของตัวเองอยู่ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย


นายอานนท์ กล่าวต่อว่า คนที่เลือกนายพิธามีอยู่ทั่วประเทศ ทั้งต่างจังหวัด และโดยเฉพาะใน กทม.เป็นส้ม ปริมณฑลอย่างนนทบุรี ก็ส้ม หากชนชั้นนำไทยจะใช้เกมเดิมประชาชนเขาไม่ยอม ไม่จำเป็นต้องมีม็อบที่มีแกนนำ แต่มันจะเป็นไปเองโดยเป็นการออกมาเรียกร้องโดยธรรมชาติ ทางรัฐบาลปัจจุบัน และคนที่ดูเรื่องความมั่นคง คงตระหนักว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการลงถนนชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มันปฏิบัติตามกติกา คือ ส่งพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ตั้งรัฐบาล


ก็อยู่ที่การพูดคุยกัน โดยท่าทีของ ส.ว.ต่าง ๆ ดีขึ้น แต่การแสดงออกของประชาชนนอกสภา ทั้งในโซเชียล และที่พร้อมที่จะลงถนน ไปช่วยกันให้กำลังใจในวันที่จะมีการโหวตนายกฯ มันจะเป็นแรงผลักให้ ส.ว. ตระหนักถึงเสียงประชาชน เรื่องการชุมนุมในวันโหวตนายกฯ ไม่ต้องมีใครนัด คือทุกคนก็รู้ว่าต้องไปโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว คือถ้า ส.ว.โหวตให้นายพิธาเป็นนายกฯ ก็คงฉลองกัน แต่ถ้าไม่โหวต ก็คงมีการประท้วง คงมีการคาดหมายได้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น


แต่เชื่อว่ารัฐเองไม่อยากให้มันถึงจุด ที่การชุมนุมมันออกมากันเป็นแสนเป็นล้านคน การพูดคุยกันตอนนี้สำคัญที่สุด และพยายามอย่านำสังคมเข้าไปสู่บรรยากาศที่มันอึมครึม ที่สุ่มเสี่ยงจะใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังนั้นการปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ก็คือพรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลและบริหารประเทศ นี่คือสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น


"ตอนนี้หลายคนบอกว่า ถ้าลงถนนปุ๊บ ทหาร ตำรวจก็อาจจะออกมาปราบม็อบ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้คนที่มันจะลงถนนคือคนชั้นกลาง นักศึกษา นักเรียน คือคนจำนวนมากทั้งชาวบ้านเอง ก็จะมาแจมด้วย คนมันมากเกินกว่าที่รัฐจะจัดการด้วยวิธีความรุนแรงได้ แต่การแสดงออกมันต้องยึดแนวทางสันติวิธี ซึ่งหลายคนก็ประเมินว่า ถ้ารัฐออกมาแล้วมีความรุนแรง ทหารจะออกมา แต่ตนคิดว่าความชอบธรรมที่ทหารจะออกมามันไม่มีเลย วันนี้ต่างชาติโดยเฉพาะชาติที่เป็นอียู สหรัฐอเมริกา หรือชาติเป็นประชาธิปไตย ไม่โอเคกับการรัฐประหาร แล้วคนที่จะออกมาครั้งนี้มันจะไม่เหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน"


ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายพิธา รวมถึงคนในพรรคก้าวไกล ออกมาเคลื่อนไหวกดดันไปยัง กกต. อ้างว่ามีกระบวนการเตะตัดขาไม่ให้นายพิธาได้เป็นนายกฯ หลังจากที่ทราบว่า กกต.ได้สั่งให้สืบสวนไต่สวนประเด็นที่นายพิธา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัคร ส.ส. ตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.นั้น ว่า


อยากให้ทุกฝ่ายรอติดตามการทำงานของ กกต. ที่อาจต้องใช้เวลาไต่สวนตรวจสอบ แต่ส่วนตัวมั่นใจว่า กกต.ยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม มั่นใจว่าไม่มีการเล่นเกมการเมือง หรือกระบวนการเตะตัดขา อย่างที่หลายคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์


พร้อมกันนี้ หากผลวินิจฉัยของ กกต.และศาล ออกมาเป็นที่สุดอย่างไร ทุกคนก็ต้องเคารพกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ และที่สำคัญหาก กกต.ไม่ดำเนินการเมื่อพบความผิด ก็ถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกฟ้องร้องเอาผิดด้วยเช่นกัน ดังนั้นบ้านเมืองเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันทุกคน


"อย่าเอากฎหมู่ อยู่เหนือกฎหมาย เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ การปลุกระดมมวลชนออกมาบนท้องถนนเพื่อกดดันการตรวจสอบนั้น จะยิ่งทำให้สถานการณ์เพิ่มความขัดแย้งในบ้านเมืองมากขึ้นไปอีก แน่นอนว่า 14ล้านเสียง ที่เลือกพรรคก้าวไกลมานั้นคาดหวังอยากให้นายพิธาได้เป็นนายกฯ ขอส่งกำลังใจให้พรรคอันดับ1และว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต้องว่าไปตามกฎหมาย เพราะคนไทยทั้ง 70 ล้านคน เราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ผลออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับ"



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/VYDnBAjBYCM

คุณอาจสนใจ

Related News