สังคม

เปิดข้อกฎหมายกรณีการกลั่นแกล้งทางการเมือง และกำหนดโทษ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2561

โดย parichat_p

12 มิ.ย. 2566

319 views

ข่าว 3 มิติ สอบถามข้อมูลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องถึงกรณีผู้ที่ไปร้องเรียน กกต. อย่างนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยังอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็ระบุว่าอาจเข้าข่ายความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ปี 2561 ได้ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการกลั่นแกล้ง


นอกจากนี้กรณีข้อพิรุธของเอกสารสรุปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยังอาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด อีกด้วย


กรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น กรณีหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยล่าสุดทาง กกต.ได้เรียกให้นายเรืองไกร เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมในกรณีนี้แล้วและทันทีที่ข่าว 3 มิติ เปิดประเด็นถึงเรื่องขบวนการพยายามคืนชีพไอทีวี ก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากรณีนี้อาจเข้าข่ายการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2561 ไว้ใช้ปกป้องผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.


โดยมาตราที่ 143 ได้ระบุว่าผู้ใดกระทำการอันเป็นเท็จให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี


หากตรวจพบว่าเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครให้ผู้สมัครถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง บทลงโทษก็จะรุนแรงขึ้นเป็นจำคุก 5-10 ปี ปรับ 100,000 ถึง 200,000 บาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี


ขณะเดียวกัน หากมีการให้ถอยคำต่อ กกต.ไปแล้ว ก็ต้องระว่างโทษจำคุก 7-10 ปี ปรับ 140,000 ถึง 200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีพรรคการเมืองรู้เห็นร่วมด้วย บทลงโทษก็จะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก จนถึงขั้นยุบพรรคได้


สำหรับกรณียังมีข้อกฎหมายอื่นๆ ที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับบันทึกสรุปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีครั้งล่าสุด ที่ข้อความไม่ตรงกับวีดีโอบันทึกการประชุม รวมถึงมีการลงนามของกรรมการบริหาร ไปแล้ว ก็ยังคงต้องรอการตรวจสอบให้ชัดเจน ซึ่งอาจมีพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News