เลือกตั้งและการเมือง

'ส.ว.ประภาศรี' ยันยกมือให้ 'พิธา' ชี้แก่แล้ว ปล่อยให้คนรุ่นใหม่ดูแลประเทศ - 'สถิตย์' ชม 'ไอติม' สื่อสารดีมีตรรกะ

โดย nattachat_c

19 พ.ค. 2566

67 views

จากกรณี ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนได้ออกมาเรียกร้องให้ ส.ว.ยกมือโหวตให้กับ นายพิธา ในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ ความจริงแล้ว ส.ว.ไม่ได้มีหน้าที่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนทำให้ตอนนี้ ประชาชนได้จับตามองท่าทีของ ส.ว.กันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา ประกาศจุดยืนเคารพมติของประชาชน เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”


นางประภาศรี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับทีมข่าว ยันยันจะยกมือโหวตให้กับนายพิธา แน่นอน โดยตนเป็น ส.ว. เข้าสู้ปีที่ 5 แล้ว เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศ เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งแล้ว และพรรคก้าวไกล ก็ได้รับเลือกมาเป็นอันดับ 1 ก็เป็นความชอบธรรมที่นายพิธาจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และเป็นความชอบธรรมที่นายพิธาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะพรรคไหนมีเสียงเป็นอันดับ 1 ก็เป็นความชอบธรรมของเขาที่จะรวบรวมเสียงเข้ามาเป็นรัฐบาล


นายพิธาไม่ได้รู้จักตน แต่ตนเห็นนายพิธาในสภาตลอด เจอกันก็ให้กำลังใจ เคยพูดกับนายพิธาว่า “เลือกก้าวไกล ประเทศไทยจะไม่มีโกง” ตนเองเป็นคนที่ต่อต้านการคอรัปชั่นอย่างมาก และต่อต้านการซื้อเสียง หลังจากที่นายพิธารณรงค์หาเสียง ตนก็ได้ฟังนโยบายที่เขาพูด เข้าไปดูประวัติ คิดว่าเขาทำได้


“เราควรจะปล่อยให้คนรุ่นใหม่มีหน้าที่ดูแลประเทศต่อไป หลายประเทศคนมีอายุน้อยก็เป็นผู้นำประเทศได้ ผู้ใหญ่ที่มีความสามารถก็มาเป็นที่ปรึกษา เราแก่แล้วก็ต้องถอยออกมา แล้วให้คนหนุ่มสาวขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทนเรา”


ส่วนที่มี ส.ว.บางท่านจะไม่ยกมือโหวตให้กับนายพิธา ตนมองว่าเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล  ประชาธิปไตยก็คือความแตกต่าง เราต้องยอมรับในความแตกต่าง
-------------

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์ถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่าเมื่อเปิดสวิตช์ให้ ส.ว. ก็จะลงมติตามหลักการประชาธิปไตย ถ้ารวบรวมได้เสียงข้างมากก็ยินดีสนับสนุน ยืนยันจะโหวตตามเสียงข้างมาก


เดิมมีอยู่ 2 คำคือคำว่า แลนด์สไลด์ และปิดสวิตช์ ส.ว. ความหมายของสองคำนี้คือ ไม่จำเป็นต้องใช้เสียง ส.ว. แต่ใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 376 คน ถ้าเป็นไปตามนั้น ส.ว. ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ ตอนแรกตนตั้งใจว่าจะงดออกเสียง เนื่องจากเมื่อได้เสียงเกิน 376 เสียงแล้วตนก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ ควรจะเป็นสิทธิของ ส.ส.


“เมื่อรวมกันแล้ว 313 เสียง และไม่ตั้งใจที่จะรวบรวมมากกว่านี้ แสดงว่ามีการเปิดสวิตช์ ส.ว. แล้ว ผมในฐานะ ส.ว. ตามสิทธิที่มีอยู่ตามหลักรัฐธรรมนูญ ตามสิทธิครรลองของประชาธิปไตย ด้วยการโหวตให้ตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตอนแรกที่ไม่ได้พูดออกมา เพราะต้องรอว่า ส.ส. จะปิดสวิตช์ ส.ว. หรือไม่ ซึ่งก็เป็นหลักการตามประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง”


ส่วน ส.ว.ท่านอื่นที่ไม่ยกมือโหวตให้นายพิธา ก็เป็นวิจารณาญาณส่วนตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการสื่อสารทางความคิดอาจไม่ได้เป็นไปนทิศทางเดียวกัน เพราะเดิมมีความว่าปิดสวิตช์ ส.ว.หลายคนตั้งใจจะงดออกเสียงรวมถึงตนเองด้วย เพราะเขาดำเนินการกันเองในการรวบรวมเสียงโดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว.


นายสถิตย์ ยังกล่าวถึงกรณี ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว. 250 คนว่า สิ่งที่พริษฐ์ได้ทำถือว่าเป็นประโยชน์มาก มีวิธีการสื่อสารที่ดี เพราะมาในแนวทางของการให้เกียรติ จูงใจที่มีเหตุผล เป็นการพูดที่เข้าใจคนต่างวัย เป็นการสื่อสารที่มีตรรกะของความเข้าใจมากกว่าการสร้างความไม่เข้าใจระหว่างรุ่น ซึ่งทำให้มีผลในทางที่ดี

-------------

นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. กล่าวถึงการโหวตเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ตอนแรกคิดจะงดออกเสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ตามที่เรียกร้องกัน แต่เมื่อถึงตอนนี้จะโหวตตามน้ำคือ ส.ส.เป็นน้ำ เอาอย่างไรตนก็เอาอย่างนั้น ไม่ต้องใช้สมองคิดเลย ไม่ต้องใช้วิจารณญาณเลย

-------------

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส.ว. กล่าวว่า แนวทางโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเองจะดูว่าฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือใครก็ตาม เพราะถือเป็นฉันทามติที่ประชาชนต้องการ และสถานการณ์ปี 2566 ไม่เหมือนปี 2562 จะถอยกลับไปเป็นแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เรื่องการตอบแทนควรหมดไป ปราศจากการพันธนาการใดๆ


นพ.พลเดชกล่าวว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ฝ่ายรัฐบาลต้องพึงระวังในนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าจะนำนโยบายหาเสียงที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนบางเรื่องมาเป็นนโยบายบริหารประเทศต้องระมัดระวัง รอบคอบ โดยเฉพาะการเป็นรัฐบาลผสมยิ่งต้องระวัง ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมาก็พังด้วยกันทั้งหมด เรื่องมาตรา 112 เป็นเรื่องล่อแหลม ถ้าสุดโต่งเกินไปอาจเกิดความขัดแย้งกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้


“บางคนที่เลือกพรรคก้าวไกลอาจชอบใจในนโยบายอื่นที่มีเป็นร้อยนโยบายของพรรค ไม่ได้หมายความว่าเลือกก้าวไกล แล้วจะเห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องรอบคอบ เจรจาต่อรองกันให้ดี” นพ.พลเดชกล่าว

-------------

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ไม่ได้มีการแบ่งว่าเป็นสายใคร ทุกคนเป็นอิสระ เวลานี้พรรคก้าวไกลต้องการเสียงจาก ส.ว. 60 กว่าเสียง ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะครบหรือไม่ เพราะเหลือเวลาอีก 1-2 เดือน


วันนี้คิดอย่างนี้ พรุ่งนี้อาจคิดอีกอย่าง ก็ไม่มีใครรู้ จึงไม่สามารถสรุปได้ว่า วันนี้มี ส.ว.ที่จะยกมือให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯกี่คน ตอนนี้ที่เห็นก็มีอยู่ 5-6 คน ดังนั้น จึงต้องรอดูสถานการณ์ วันนี้ที่พรรคร่วมฯเขาไปทำเอ็มโอยูกัน ก็แค่ตกลงเจรจาร่วมกัน ใครจะเปลี่ยนอะไรก็เกิดขึ้นได้ไม่แน่นอนการเมืองไทยเปลี่ยนได้ทุกคน


เมื่อถามว่านายพิธา ยังยืนยันจะแก้มาตรา 112 จะมีผลต่อการโหวตของส.ว.หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า การที่เขายืนยัน เราก็ยืนยันเหมือนกัน และตนก็ไม่เห็นด้วยกับการเอาเรื่องคะแนนเสียงส่วนใหญ่ ประชาชนมีฉันทามติมาแล้วว่าเอาพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ 150 กว่าเสียง แต่ก็ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ จึงไม่ได้หมายความว่าเขาจะเอาด้วยหรือไม่ แต่ส.ว.เรามีประเด็นเดียวไม่ว่าพรรคไหน ที่คิดจะแก้มาตรา112 เราไม่เอาเท่านั้นเอง และเป็นคนละเรื่องว่าส.ว.ไม่เห็นด้วยกับพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเยอะ ซึ่งมันไม่ใช่

-------------

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ห่วงจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ว่า ไม่ทราบ ตนตามเรื่องเท่าที่สื่อมวลชนเสนอ ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น ตอนนี้รอดูว่าจะรวบรวมเสียงเป็นปึกแผ่นได้หรือไม่ เท่าที่ทราบปัจจุบันรวบรวมได้ 313 เสียง มันก็มั่นคงถาวรแล้ว เสียงเกิน 250 ถือว่ามั่นคงแล้ว ขนาดรัฐบาลที่แล้วตนยังบอกว่าเรือเหล็กเลย แต่ครั้งนี้ยิ่งกว่าเหล็กอีก


ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงอย่างไรต้องอาศัยเสียง ส.ว.อีก 60 กว่าเสียง นายวิษณุ กล่าวว่า อาศัยในช่วงของการโหวตนายกฯ และอาจจะต้องอาศัยอีกในตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น ตนถึงได้พูดไปก่อนหน้านี้ว่าเชื่อเถอะว่า "ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง ผมยังยืนยันแบบนี้อยู่ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากกันไป ยังมีเวลาอีกตั้ง 60 วัน กว่าจะประกาศรายชื่อ ส.ส. และกว่าจะถึงเวลาเลือกนายกฯ บวกเข้าไปอีกร่วม 30 วัน รวมแล้วก็ 3 เดือน ดังนั้น ต้องใช้เวลาตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าไปด่าทอกัน หรือประชดประชันกัน มันต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่ เพราะต่างก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรัฐสภา มันไม่ใช่แค่ทำงานฉาบฉวย สำหรับการเลือกนายกฯ อาจจะไม่ใช่ภารกิจยุ่งยากเท่าไหร่ แต่การผ่านกฎหมาย อะไรต่ออะไรยังมีมากกว่านี้ และหลายคนใน 6-7 พรรคนี้ก็พยายามประสาน เพราะเขามีพรรคพวกเพื่อนฝูงอยู่ ดังนั้น ใช้เวลาตอนนี้ให้เป็นประโยชน์ อย่าลงมือด่าทอ ตบตีกัน ตั้งแต่วันแรก"


เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคก้าวไกลสามารถรวมกับพรรคอื่นได้ 8 พรรคแล้ว นายวิษณุ กล่าวว่า กี่พรรคก็ช่าง แต่ตนเห็นว่ามันมั่นคงแล้ว เมื่อถามว่า ไม่เยอะเกินไปใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่แกนนำรัฐบาลจะไปคิดกัน เราจะไปวิจารณ์เขาได้อย่างไรว่าเยอะไป ถ้าเขาได้ 500 ยิ่งดีใหญ่


เมื่อถามว่า มีคนประเมินว่าในรัฐสภาจะไม่สามารถเลือกนายกฯได้ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่ได้ประเมิน เมื่อถามว่า ในทางกฎหมาย หากโหวตชื่อแคนดิเดตนายกฯคนใดคนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่ผ่าน จะสามารถนำชื่อเดิมกลับมาโหวตอีกได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ได้ โหวตมันทุกวันนั่นแหละ ชื่อเดิมก็ได้”


เมื่อถามว่า พรรคอันดับ 2 จะสามารถเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯขึ้นไปก็ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ทุกอย่าง มันต้องอาศัยเสียงกึ่งหนึ่งในรอบแรก เพราะว่ามาตรา 272 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ต้องมีความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภาที่มีอยู่ ซึ่งคือ 376 เสียง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็โหวตอีก โหวตไปโหวตมาจนกระทั่งในที่สุดจะเปลี่ยนไปใช้มาตรา 272 วรรคสองก็แล้วแต่ หรือจะโหวตซ้ำมาตรา 272 วรรคหนึ่งก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะมันอาจจะมีเหตุผลใหม่ๆ ดีๆ และมีคนเปลี่ยนใจเพิ่มขึ้นก็ได้ สำคัญคือ วันแรก ด่านแรก ในการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/a0Axw7SnU-A

คุณอาจสนใจ

Related News