สังคม

เปิด 5 ข้อเสนอ จากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่อพรรคการเมือง สู่ความเท่าเทียมในสังคม

โดย panwilai_c

20 เม.ย. 2566

89 views

เวทีภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมซึ่งร่วมกับข่าว 3 มิติ สะท้อนข้อเสนอแนะด้านสิทธิและเสรีภาพ ทั้งด้านพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และทุกด้าน สู่พรรคการเมืองให้นำไปปฏิบัติใช้หลังการเลือกตั้งครั้งนี้เสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย สู่การสร้างความเท่าเทียมในสังคม



เวทีเสวนา "วาระสิทธิมนุษยชน: ถึงเวลาพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน" ได้รับการตอบรับจาก 6 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประเด็นเหล่านี้ไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังลงแข่งขันการเลือกตั้งในครั้งนี้



เริ่มที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ที่ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ระบุว่าปัจจุบันสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนถูกริดลอน จากการออกมาชุมนุม เพราะตั้งแต่ปี 2563 มีประชาชนเกือบ 2,000 คน ที่ออกมาร่วมกิจกรรม ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งนี่ยังรวมไปถึงประเด็นการถูกอุ้มหาย



ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ระบุว่า ข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มีประเด็นระดับโลกหลายประเด็นที่น่าจับตา โดยเฉพาะสิทธิด้านสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่านายทุนเข้ามามีบทบาทจากผลประโยชน์ ดังนั้นไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้หาเสียงหรือไม่ แต่หากไร้ซึ่งการรับรองในสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี นโยบายเหล่านั้นก็จะถูกฟอกเขียว สร้างความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มขึ้นไปแบบไม่สิ้นสุด จึงควรให้ความสำคัญกับกลุ่มคนทุกคนอย่างเท่าเทียม



นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการ Wefair ระบุว่า ตอนนี้ได้ยื่นข้อเสนอใน 9 ประเด็นขององค์กรให้ 15 พรรคพิจารณาแล้ว ส่วนใหญ่ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา สวัสดิการ ประกันสุขภาพ และ สมทบ เรื่องภาษี รวมไปถึงที่ดินทำกิน ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความเหลื่อมล้ำจากชนชั้นนำในระบอบอำนาจนิยมและเสรีนิยมใหม่จนทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ เรื่องเหล่านี้จึงควรเป็นวาระที่ควรได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน



คอรีเยาะ มานุแซ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ได้เสนอการกลับมาแก้ประเด็นปัญหาที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปัญหาแรงงานกว่า 7 แสนคนที่หลุดออกจากระบบ แรงงานประมงที่ยังถูกซุกซ่อนปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการเอาเปรียบ กดขี่ด้านเวลาการทำงาน และค่าจ้าง เพื่อให้ไทยหลุดจากเทียร์ 2 อย่างแท้จริง



เช่นเดียวกับนายจำรอง แพงหนองยาง รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (swing) ที่อยากให้พรรคการเมืองผลักดันกลุ่ม sex work ให้ถูกกฎหมาย เนื่องจากเป็นอาชีพที่เสี่ยง และ มักถูกละเลยจากสังคม เมื่อมีกฎหมายรองรับ จะทำให้รัฐและผู้ประกอบอาชีพได้ประโยชน์ไปด้วยกัน ให้เกิดการคุ้มครอง ดูแล และสวัสดิการ



ขณะที่พรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน ระบุว่า ปัจจุบันภาครัฐถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาที่ดินทำกิน โดยในบางส่วนก็อยู่กับกลุ่มนายทุน จึงควรมีการปฏิรูป เพื่อลดการกระจุกตัวของการถือครอง



ผู้ร่วมเสวนาทุกคนจึงมองว่า สิทธิมนุษยชน คือ เรื่องของทุกคนที่อยู่อาศัยในประเทศไทย การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงศักยภาพของผู้แทนประชาชนในการใช้กลไกในรัฐสภาอย่างไรให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิและเสรีให้มากที่สุด โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบที่มักถูกจำกัดในช่วงที่ผ่านมา



งานนี้จึงนำเสนอประเด็นสำคัญ 5 ด้าน คือ ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง กรอบกฎหมายนโยบายสิทธิมนุยชน การไม่เลือกปฏิบัติ ธรรมาภิบาล และ การป้องกันการทุจริต สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมไปถึงประเด็นเฉพาะกลุ่ม และเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้รับฟังข้อเสนอจากกลุ่มภาคผระชาชนด้วยกันเองผ่านข้อความ



ข้อเสนอทั้งหมดนี้จะถูกส่งต่อไปยังเวทีเสวนาที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองจะเป็นผู้ตอบคำถามถึงข้อสงสัยที่ยังคลุมเครือเหล่านี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากประชาชนสนใจรับฟังข้อเสนอเหล่านี้สามารถเข้าไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.amnesty.or.th และเฟซบุ๊ก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลไทยแลนด์

คุณอาจสนใจ

Related News