สังคม

เปิดเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 'ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ' จากผู้บุกเบิกเมื่อกว่า 125 ปีกลายเป็นผู้บุกรุก

โดย chiwatthanai_t

11 ม.ค. 2566

787 views

ทะเลเกาะหลีเป๊ะ แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก ยังคงงดงาม น้ำใสมองเห็นปะการัง และยังเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมายังเกาะหลีเป๊ะ เกาะเล็กๆ ในจังหวัดสตูล เนื้อที่เพียง 3 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 1,800 ไร่


แต่ภายใต้ความงดงามและชื่อเสียงที่เป็นที่ยอมรับนี้ กลับซุกปัญหาไว้ใต้พรมสะสมมายาวนานกว่า 125 ปี นับจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมี โต๊ะคีรีผู้นำชาวอูรักลาโว้ย มาร่วมกันบุกเบิกตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ.2440 และกลายเป็นพยานบุคคลสำคัญยืนยันว่าดินแดนนี้เป็นของสยาม ในช่วงที่มีการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ ทำให้เกาะหลีเป๊ะเป็นของไทยจนถึงปัจจุบัน



สุสานโต๊ะคีรี และบรรพบุรุษชาวเล ที่ฝังศพไว้ตามความเชื่อและจิตวิญญาณชาวเลมากว่า 100 ปีแห่งนี้ จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่มีอยู่จริงของชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเลอูรักลาโว้ย ที่ต่างก็เป็นลูกหลานกันทั้งสิ้น


นางเรณุ ทะเลมอญ และนางสลวย หาญทะเล ขอพรโต๊ะคีรีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเลอูรักลาโว้ยนับถือ ให้ช่วยเปิดทางแก้ไขปัญหาให้ลูกหลานชาวเลได้มีที่อยู่อาศัย จากที่เคยเป็นผู้บุกเบิกถูกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุก ถูกฟ้องร้องขับไล่จากผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ ที่ถูกเปลี่ยนมือมาจากความไม่รู้ของชาวเล


จากสภาพเกาะหลีเป๊ะในปัจจุบัน ตลอดแนวชายหาดเต็มไปด้วยรีสอร์ท โดยมีผู้ประกอบการทั้งเอกชน ที่ซื้อที่ดิน ส.ค.1 จากชาวเล ที่ได้เปลี่ยนเป็นเอกสารสิทธิ์ นส.3 ก. และที่ยังเป็น ส.ค.1 ต่างประกอบกิจการสร้างรายได้ไปจำนวนมากแล้ว


แต่สำหรับชาวเลส่วนใหญ่ ต้องมีบ้านพักอยู่ภายในเกาะ ส่วนที่ติดชายหาดหากไม่ขายไปแล้ว ก็กลายเป็นผู้บุกรุก ถูกฟ้องร้องขับไล่ จึงเป็นที่มาของคำถามที่น่าสนใจว่า เวลากว่า 125 ปี เปลี่ยนสถานะชาวเลจากผู้บุกเบิกเป็นผู้บุกรุกไปได้อย่างไร


ซึ่งนี่คือไทม์ไลน์ การเปลี่ยนแปลงในการถือครองที่ดินในเกาะหลีเป๊ะ ทั้งจากปากคำของชาวเล รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 รายงานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินและพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนชาวเลเมื่อปี 2557


รวมถึงรายงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อปี 2564 ซึ่งมีภาพถ่ายทางอากาศยืนยันการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวเลอูรักราโว้ย ตั้งแต่ปี 2442 ก่อนจะมี พระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 6 ในปี 2479 การออกประกาศพื้นที่หวงห้ามเพื่อการราชทัณฑ์ ในปี 2482 เนื่องจากมีการย้ายนักโทษจากเรือนจำบางขวางมาไว้ที่เกาะตะรุเตา


และมีประมวลกฏหมายที่ดินในปี 2497 ซึ่งเปิดให้มีการแจ้งถือครองที่ดิน หรือ ส.ค.1 ในปี 2498 มีชาวเล 41 ราย ได้แจ้งการครอบครองไว้ จากที่มีชาวเลอาศัยอยู่หลายร้อยราย และในปี 2501 มีการก่อตั้งโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง หรือเกาะหลีเป๊ะในปัจจุบัน จากการบริจาคที่ดิน ส.ค.1 ของชาวเลให้เป็นที่ราชพัสดุ และมีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพพื้นที่ราชทัณฑ์ ในปี 2517 และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในปี 2517 จึงได้เริ่มมีการสำเรวจแนวเขตอุทยานและที่ดินของชาวเล


สำหรับปมพิพาทที่เดินชาวเลเกิดขึ้นหลังปี 2510 จากการที่มีบุคคลนอกเกาะ ขอรวบรวม ส.ค.1 ของชาวเล ทั้ง 41 แปลง อ้างว่าจะนำไปออก น.ส.3 ด้วยความไม่รู้หนังสือของชาวเล จึงได้มอบเอกสารไปออกเป็น นส.3 ได้ 19 แปลง แต่กลับไม่ใช่ชื่อของชาวเล จึงเป็นที่มาของการร้องเรียนว่าเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบหรือไม่


และบางแปลงกลายเป็น นส.3 บวม เพราะมีเนื้อที่เกินจาก ส.ค.1 เดิม โดยเฉพาะแปลงที่ 11 ที่กำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับชาวเล และมีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ ทั้งหลังการลงพื้นที่เกาะของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน


รวมถึงการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะ โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมตรวจสอบที่มาเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ซึ่งภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2493 เป็นหลักฐานที่แสดงการทำประโยชน์เพื่อพิสูจน์การถือครองที่ดินมาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่หวงห้ามเพื่อใช้ประโยชน์ราชทัณฑ์


ซึ่งดีเอสไอ ระบุว่าสามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะได้ และปี 2565 ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะกลายเป็นประเด็นร้อน เพราะเมื่อกว่า 32 ปีก่อน นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 2533 เคยตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งนี่คือรายงานผลการตรวจสอบ ที่สามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นหาถอดรหัสที่ดินเกาะหลีเป๊ะเพื่อหาความเป็นธรรมให้กับชาวเลอูรักราโว้ยผู้บุกเบิกดินแดนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News