สังคม

‘สถาบันสร้างชาตินานาชาติ’ ระดม กูรู ระดับโลก ถกแนวทางรับมือ สังคมผู้สูงอายุ

โดย attayuth_b

9 ธ.ค. 2565

54 views

วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม คอมพัส แคมพัส บางนา-ตราด สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ Nation-Building Institute International (NBII)) จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ 2565 (The International Conference on GoldenZone Wellness (ICGW) 2022) ในหัวข้อ “สุขสภาพสูงสุด: อายุยืนยาว สุขภาพดี และมีความสุข” (Ultimate Wellness: Longevity, Healthiness and Happiness) ระหว่างวันที่ 9 - 10 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุม คอมพัส แคมพัส บางนา-ตราด โดยเป็นความร่วมมือกับ สถาบันการสร้างชาติประเทศไทย (NBI) สมาพันธ์สุขสภาพนานาชาติ(ISW) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งกรุงโรม อิตาลี มหาวิทยาลัยลุนด์ สวีเดน สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย (SSAT) เกรท เนตเวิร์ค (GREAT Network)  และโกลเด้นโซน เวลเนส (GoldenZone Wellness)

โดยศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ หรือดร.แดน กล่าวว่า “โลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น คนมีอายุมากขึ้น แต่กลับมีช่วงเวลาที่เจ็บป่วยยาวนานขึ้นด้วย โดยต้องเผชิญกับโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ และผู้สูงอายุที่ต้องอยู่เพียงลำพังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การประชุม ICGW จึงถูกจัดขึ้น เพื่ออภิปรายถึงทิศทางของการวิจัยและนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องการความร่วมมือจากผู้นำและนักคิดทั้งจากภาครัฐกิจ ธุรกิจ และประชากิจ เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ๆ ในการเตรียมความพร้อมด้านคน ระบบ และบริบท ในการรับมือกับปัญหาและความท้าทายที่จะเกิดมากขึ้น”





การประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้นำและผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำด้านสุขสภาพจากทั่วโลก อาทิ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ. อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.ซาวาธอว์เร่ ดิ ซอมมา มหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม อิตาลี ศ.นพ.ดาวิด เบรนเนอร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนดีเอโก สหรัฐอเมริกา ศ.นพ.โอเลล มีแลนเดอร์ มหาวิทยาลัยลุนด์ สวีเดน ดร.นาโอโกะ ยามาโมโต๊ะ องค์การอนามัยโลก ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ศ.เกียรติคุณ ดร.สุเรช รัตตาล มหาวิทยาลัยออร์ฮูส เดนมาร์ก ผศ.แดน ลีวิท มหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ แคนนาดา นพ.นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ กรรมการแพทยสภา ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตรวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นพ.ไอศวรรย์ เพชรล่อเหลียน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ศริยามน ติรพัฒน์ มหาวิทยาลัยมหิดล มร.ดาชิด เพเทล ผู้ก่อตั้งบริษัท Decode Age อินเดีย เข้าร่วมด้วย

ประธานสถาบันการสร้างชาตินานาชาติ กล่าวถึงแนวคิด ‘สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ’ ว่า เป็นแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ที่เอื้อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมีสุขสภาพสูงสุด กล่าวคือ มีอายุยืนยาวจนสุดขีดจำกัดของอายุขัยที่ 123 ปี มีช่วงเวลาที่เจ็บป่วยสั้นที่สุด และมีความสุขในชีวิต ประเด็นหลักของการประชุมจึงครอบคลุมถึง การวิเคราะห์สถานการณ์ผู้สูงอายุ การทบทวนผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยและอภิปรายเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ทั้งปัจจัยทางการแพทย์ ชีววิทยา จิตวิทยา พฤติกรรม วิถีชีวิต สภาพแวดล้อม สังคม ตลอดจนปัจจัยเชิงนโยบาย ที่นำไปสู่ภาพอนาคตพึงประสงค์สำหรับสังคมผู้สูงอายุ

“การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้าน wellness ร่วมกับยุทธศาสตร์อื่น ๆ ซึ่งถูกจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เช่น การจัดทำโครงการวิจัยศตวรรษิกชนในประเทศไทย การจัดทำวารสารวิชาการนานาชาติด้านสุขสภาพ (The Wellness Journal) การขยายผลการจัดตั้งสมาพันธ์สุขสภาพนานาชาติ (International Society of Wellness) การพัฒนาพื้นที่คนอายุยืนต้นแบบ การจัดทำหลักสูตรผู้ประกอบการ wellness เพื่อการสร้างชาติ (Leadership and Entrepreneur in Wellness for Nation-Building Program) การจัดตั้งศูนย์สุขสภาพ (GoldenZone Wellness Centre) ตลอดจนการจัดประกวด Miss Wellness World โดยมีจุดมุ่งหมายพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ‘เมืองหลวงสุขสภาพโลก’ และ ‘เมืองหลวงอภิบาลคนชราโลก” ดร.แดน กล่าว

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  ยังระบุถึงแนวคิดการพัฒนาดัชนีวัดสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ ซึ่งเป็นดัชนีรวม (composite index) ที่ประกอบด้วย ตัวชี้วัดย่อยสามกลุ่ม คือ ตัวชี้วัดการมีอายุยืน ตัวชี้วัดสุขภาพ และตัวชี้วัดความสุข วัตถุประสงค์ของการจัดทำดัชนีนี้ คือ การระบุพื้นที่ที่เข้าข่ายเป็นสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ และจัดอันดับพื้นที่ต่าง ๆ เป็น ‘สุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพ 5 ระดับ’ เพื่อส่งเสริมให้พื้นที่ต่าง ๆ แข่งขันกันพัฒนาให้เป็นสุวรรณภูมิแห่งสุขสภาพระดับสูงสุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้ผู้คนมีอายุยืนยาวที่สุด สุขภาพดีที่สุด และมีความสุขที่สุด






คุณอาจสนใจ

Related News