สังคม

'เยือนเย็น' วิสาหกิจเพื่อสังคม เผยแนวคิดให้บริการดูแลผู้สูงอายุ-ป่วยโรคร้ายแรง ด้วยหลักการอยู่สบาย ตายสงบ

โดย parichat_p

21 เม.ย. 2567

505 views

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2565 ในจำนวนผู้สูงอายุประมาณ ร้อยละ 20-30 และจะสูงขึ้นกว่านี้ในปี 2574 ขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยโรคร้ายแรงอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการรักษา ซึ่งก็เป็นที่น่ากังวลถึงการวางแผนด้านสุขภาพในช่วงบั้นปลายของชีวิต ข่าว 3 มิติ ได้พูดคุยกับ ผู้ก่อตั้งเยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการวางแผนดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้กับชีวิต ถึงแนวคิดและความสำคัญของการจัดการดังกล่าวเพื่อให้บั้นปลายชีวิตของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุจากไปอย่างสงบที่สุด


ศาสตราจารย์นายแพทย์ อิศรางค์ นุชประยูร ผู้อำนวยการเยือนเย็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้เปิดเผยแนวคิดสำคัญถึงการจัดตั้งเยือนเย็นขึ้นมา เพื่อให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ด้วยหลักการอยู่สบาย ตายสงบ


โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อิศรางค์ ใช้เวลาว่างเว้นจากการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและการออกตรวจ มาพูดคุยและรักษาผู้ป่วยก่อนนำเข้าสู่โครงการ


ผู้ป่วยหลายคนมักป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ทำให้ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์มากกว่าหากจะได้เลือกแนวทางการรักษาด้วยตัวเอง พร้อมกับการตัดสินใจร่วมกันกับคนใกล้ชิด


เมื่อเข้าสู่โครงการผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลและรับคำปรึกษาผ่านแพทย์และบุคลากรวิชาชีพ ทั้งการเข้าตรวจเยี่ยมรักษา และ กรณีหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นซึ่งสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง


ผู้อำนวยการเยือนเย็นเล่าว่า กว่า 6 ปีที่ผานมาของเยือนเย็น พบว่าอุปสรรคสำคัญของการรักษาแบบประคับประคอง คือความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งบ่อยครั้งที่มีความเห็นไม่ตรงกัน และสิทธิการตัดสินใจมักไม่ได้อยู่กับผู้ดูแลใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันเยือนเย็นมีผู้รับบริการทั้งหมด 1,392 คน โดยมีเคสที่อยู่ในความดูแลตอนนี้ 375 คน


เยือนเย็น เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหากำไร รายได้จึงมาจากการสนับสนุนตามกำลังของผู้ป่วย และผ่านการรับบริจาคจากองค์กรและประชาชน โดยโครงการนี้ตั้งใจให้ผู้ป่วยทุกคน เข้าถึงสิทธิการดูแลรักษาพยาบาลที่บ้าน เพราะมีผู้ป่วยราวร้อยละ 25 ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตรงนี้ และสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ รายละเอียดต่างๆ สามารถติดต่อเยือนเย็นได้ที่ เฟสบุค เยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ โทร 080-776-6712

คุณอาจสนใจ

Related News