สังคม

รู้จัก 'โรคลีเจียนแนร์' ปอดอักเสบมีคนเสียชีวิตที่อาร์เจนตินา 'หมอธีระ' เผย ไทยเคยพบผู้ป่วย

โดย passamon_a

5 ก.ย. 2565

123 views

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงเรื่องโรคลีเจียนแนร์ ที่มีผู้เสียชีวิตในอาร์เจนตินา ว่า รู้จักกับโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งคือ Legionella ที่ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการป่วยรุนแรงจากภาวะปอดอักเสบ และเสียชีวิตได้


การติดเชื้อส่วนใหญ่นั้นมักมาจากการสูดละอองฝอยของน้ำ หรือจากดิน ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ทางเดินหายใจ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ ตลอดจนในสถานที่ต่างๆ อาทิ บ่อบาดาล น้ำในอุปกรณ์หล่อเย็น เครื่องปรับอากาศ ฝักบัว สปริงเกลอร์ สระว่ายน้ำ เป็นต้น พบการติดเชื้อได้ทั้งภายในสถานพยาบาล โรงแรม อาคารสถานที่ต่างๆ และในชุมชน


การติดเชื้อ Legionella ในคนนั้น ส่วนใหญ่มักเป็น Legionella pneumophila แต่ Legionella นั้นมีสายพันธุ์อื่นๆ รวมแล้ว 65 ชนิด บางชนิดก็พบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น Legionella longbeachae ซึ่งพบรายงานในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์


ชื่อของ Legionella นั้นมาจากการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ในกลุ่มผู้ที่เข้าพักในโรงแรมที่จัดงานรำลึกวันทหารผ่านศึกครบรอบ 200 ปี (The American Legion Convention) ณ รัฐฟิลาเดลเฟีย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงกว่า 200 ราย และเสียชีวิตกว่า 30 ราย ซึ่งในปีต่อมาจึงค้นพบว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนี้


เท่าที่ทราบ ไทยมีผู้ป่วยโรคลีเจียนแนร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 และพบประปรายมาเรื่อยๆ เฉลี่ยแล้วระดับหลักหน่วยต่อปี มักพบในนักท่องเที่ยว


ผู้ที่ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกิดอาการราว 5-6 วัน (ระยะฟักตัวตั้งแต่ 2-10 วัน) อาจมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และมีไข้สูง ทั้งนี้อาจมีเรื่องปวดท้อง และอุจจาระร่วงเกิดขึ้นตามมาได้


ในกรณีที่ป่วยรุนแรง จะเกิดภาวะปอดอักเสบ มีอาการไอ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย เอกซเรย์ปอดจะพบเป็นปื้นหรือจุดขาว อาจพบลุกลามได้ในปอดทั้งสองข้าง และอาจจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลว


การติดเชื้อนั้น หากรับเชื้อมาน้อย หรือป่วยน้อย อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียก ไข้พอนเตียก (Pontiac fever) ซึ่งมักหายเองได้ และไม่เสียชีวิต แต่หากป่วยรุนแรงจนเกิดภาวะปอดอักเสบ จะเรียกโรคลีเจียนแนร์ (Legionnaires' disease) ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตราว 15-20%


ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษามีหลายชนิด เช่น ยากลุ่ม Fluoroquinolone (เช่น Levofloxacin, Moxifloxacin, Ciprofloxacin), ยากลุ่ม Macrolide (ได้แก่ Azithromycin) การดูแลฟื้นฟูแหล่งน้ำ รักษาความสะอาด และบำรุงรักษาระบบต่างๆ ในอาคารสถานที่อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้


อ้างอิง

1. Viasus D et al. Legionnaires’ Disease: Update on Diagnosis and Treatment. Infectious Diseases and Therapy. 3 May 2022.

2. การควบคุม เฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดโรคลีเจียนแนร์. สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/CGy_Fkjc61c

คุณอาจสนใจ

Related News