สังคม

'หมอธีระ' เผยถึงประสิทธิภาพของวัคซีน Bivalent ในอเมริกา ช่วยลดเสี่ยงป่วยนอน รพ.-เสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิตได้ดี

โดย weerawit_c

28 พ.ค. 2566

125 views

28 พ.ค.66 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า ""อัพเดตเรื่องโควิด-19

1. สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ภาพที่ 1-3)

ปัจจุบันมีประเทศที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาที่ WHO ลดลงมาก เหลือราว 42 ประเทศ หรือเพียง 18% ของประเทศทั้งหมดที่เป็นภาคีสมาชิก ทั้งนี้มีเพียง 22 ประเทศที่รายงานอย่างสม่ำเสมอ


ทั้งนี้ข้อมูลจนถึง 7 พฤษภาคม 2566 พบว่า สายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังคงเป็น XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบราว 41.57% โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง


ในขณะที่ XBB.1.9.1 พบ 15.65% และ XBB.1.16 พบ 13.17% โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้พบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


2. ประสิทธิภาพของวัคซีน Bivalent ในอเมริกา ทีมงานจาก US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด Bivalent ลงในวารสาร MMWR วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 (ภาพที่ 4)


...การลดเสี่ยงป่วยนอนโรงพยาบาล ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยนอนโรงพยาบาลได้ราว 60% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด

แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 25% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน โดยประสิทธิภาพในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมากกว่าคนอายุ 18-64 ปีเล็กน้อย


...การลดเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาในไอซียู หรือเสียชีวิตได้ราว 69% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด


ทั้งนี้ ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 50% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน ...ผลการศึกษาข้างต้น ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ที่จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งมักมีสถานะสุขภาพที่ไม่แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม ก็ตอกย้ำให้เราทราบว่า ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังรุนแรงในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด แม้จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาแล้วก็ตาม เพราะวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงได้บางส่วน


การป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงที่แออัดหรือที่ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน ที่สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด


ขณะที่ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเปิดเทอม และเริ่มมีฝนตก ทำให้เกิดการระบาดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือการเล็กน้อย โดยจะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน มีส่วนหนึ่งที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่คลินิกทางเดินหายใจ ARI ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายโรงพยาบาลได้ปรับโดยขยายระยะเวลาบริการเป็นนอกเวลาด้วย รวมถึงคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ห้องฉุกเฉิน


โดยมีการแยกโรคเพื่อความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดความคับคั่ง และจัดการให้รับยาแบบผู้ป่วยนอกโดยใช้ Telemedicine ไม่ต้องมาตรวจที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยในที่นอนมีเพิ่มขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนเปรียบเทียบก็ยังน้อยกว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่สามารถบริหารจัดการได้


กรณีที่มีข่าวว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเต็ม เนื่องจากโรงพยาบาลบางแห่งจะมีเตียงผู้ป่วยโควิดอยู่จำกัด และได้มีการปรับเตียงไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์จริงกับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ในกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันโรคทรวงอก พบว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยมานอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการเตียงได้ดี


โดยเดิมเคยมีศักยภาพเตียงจำนวนมาก ซึ่งได้ปรับไปดูแลผู้ป่วยหนักโรคอื่นแล้ว ให้กลับมารับผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นสาเหตุจากมีโรคร่วม และจัดอัตรากำลังพยาบาลตามจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและพร้อมที่จะขยายเตียงได้เพิ่มขึ้นอีกทั้ง ICU และเตียงผู้ป่วยหนักระดับอื่น จึงไม่มีข้อกังวลที่น่าเป็นห่วง


ขอแนะนำว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับเข้มกระตุ้นมานานกว่า 3 เดือน ควรไปรับวัคซีนโควิด 19 ที่โรงพยาบาลได้ทุกแห่งเพื่อช่วยลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้อย่างดี โดยเราจะเห็นว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามากกว่า 90% เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้ไม่ครบทั้งนั้น


ที่สำนักงานเขตพญาไท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผศ.ดร. ทวิดา กมลเวช รองผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่กลับมาระบาดหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ


นายชัชชาติ ระบุว่า เรื่องนี้ที่น่าเป็นกังวล คือ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่พบว่ายอดตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยพบผู้ติดเชื้อวันละ 1300-1500 คน โดยเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่คาดว่าตัวเลขจริงผู้ป่วยอาจมากกว่า 2-3 เท่า


โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการและผู้ป่วยอาการหนัก คิดเป็น ร้อยละ 2-3 ของจำนวนผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยโควิดจากเดิมในช่วงพี่จำนวนผู้ป่วยลดลงจำนวนเตียงก็ลดลง เพื่อเปิดให้บริการในส่วนผู้ป่วยรายอื่นๆ แต่ในขณะนี้มีสัดส่วนผู้ป่วยโควิดของเตียงประมาณร้อยละ 70 ซึ่งยังไม่ใช่ระดับวิกฤตแต่เป็นระดับที่ยังสามารถขยายได้อีก แต่ในครั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดจึงยังไม่ต้องกังวล สามารถพักรักษาอยู่ที่บ้านได้ เพียงแต่ต้องระวังอย่าให้เชื้อไปติดกับคนกลุ่ม 608


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/AniBR3ZXQd4

คุณอาจสนใจ

Related News