เลือกตั้งและการเมือง

"ชัชชาติ" ออกลุยงานแต่เช้า พายเรือเก็บขยะในวันสิ่งแวดล้อมโลก ตั้งเป้า 2030 ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

โดย kanyapak_w

5 มิ.ย. 2565

222 views

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย้ำนโยบายสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำ ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็น ศูนย์ ในปี 2030 เตรียมหารือกรมการขนส่งทางบก ในการดูแลรถที่ปล่อย PM 2.5



(5 มิ.ย.) บริเวณใต้สะพานพระราม 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดกิจกรรม รวมพลเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาและปลูกต้นไม้เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 2565 การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นการกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลกภายใต้ เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ ขยะ รวมทั้งการขาดแคลนพื้นที่สีเขียวในเมือง



โดย นาย ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ได้พายเรือคายัคเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นได้ขึ้นมาบริเวณสวนหลวงพระราม 8 ร่วมปลูกต้นไม้ ร่วมกับผู้บริหาร กทม.และผู้แทนองค์กรเอกชน จำนวน 69 ต้น อาทิ ต้นมะฮอกกานี ตะเคียนทอง และขี้เหล็กสำหรับต้นไม้ที่ผู้ว่า กทม.ปลูก คือต้นมะฮอกกานี




นายชัชชาติ ระบุว่าเรื่อง สิ่งแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร เป็นภารกิจที่ต้องเร่งทำ ถ้าจะทำให้เสร็จภายใน 4 ปีนี้ มองว่าทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อส่งต่อกรุงเทพมหานครสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูกหลาน



การจัดกิจกรรมดังกล่าว จะทำต่อเนื่อง ไม่อยากให้มองและทำแค่วันนี้ เพราะทุกวันเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก  ทั้งเรื่องลดการปล่อยพลังงานที่ไม่เป็นประโยชน์  ลดการใช้พลังงานในอาคาร  การจัดเก็บขยะ การดูแลลำคลองต่างๆ  และการปลูกต้นไม้ ตั้งเป้า ปี2030 กทม.ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ โ



ส่วนเรื่องของการขนส่ง จะต้องมีนโยบายผลักดันให้ประชาชนส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รถพลังงานสะอาดให้มากขึ้น แต่อาจจะต้องไปดูในเรื่องของราคาต้นทุนอีกครั้ง  ส่วนการรณรงค์ลดการใช้พลังงานในอาคาร ปกติมีกฎหมายควบคุมอาคารอยู่แล้ว แต่อาจจะเพิ่มการให้โบนัสและอาคารสีเขียว  ขณะเดียวกันในอนาคต กรุงเทพฯมีแผนที่จะทำการแยกขยะเพื่อลดการฝังกลบ ขยะทั้งหลายจะต้องเป็นในรูปแบบรีไซเคิลหรือกลับไปใช้ได้หมด  รวมถึงการบำบัดน้ำเน่าน้ำเสียในคลอง เบื้องต้น กทม.มีแนวคิดที่จะทำบ่อดักไขมันชุมชน เพื่อแก้ปัญหาสาเหตุที่ทำให้น้ำเน่าเสียในคลองรวมถึงการตั้งเป้าปลูกต้นไม้ล้านต้นภายใน 4 ปี



ส่วนแผนการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหนคร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า จะมีการทำโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น นักสืบฝุ่น



จากข้อมูลที่ผ่านมาในปี 2554 ปัญหาหลักของฝุ่นระบุว่า มาจากรถ แต่ส่วนตัวมองว่ายังต้องมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมลภาวะหรือฝุ่น เบื้องต้น มีด้วยกัน 3 องค์ประกอบ มาจากรถ  โรงงานและการเผาชีวมวล หากมีข้อมูลครบจะทำให้รู้สาเหตุต้นตอที่แท้จริง



สำหรับเรื่องรถบรรทุกเป็นเรื่องสำคัญ จะมีการนัดหารือกับกรมการขนส่งทางบก เข้ามาดูแลรถที่ปล่อย PM 2.5 โดยที่ผ่านมามีการใช้มาตรการตรวจจับรถควันดำ ส่วนตัวมองว่าเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ต่อไปต้องไปดูรถบรรทุกก่อสร้าง ที่วิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ ไปยังไซต์ก่อสร้างต่างๆ เพราะกรุงเทพมหานคร ถืออำนาจ การคุมใบอนุญาตก่อสร้าง ถือใบอนุญาตการคุม การประกอบกิจการแทงค์ปูน ต้องมีเงื่อนไขในการควบคุมรถบรรทุกขนส่งเหล่านี้ เช่นมาตรการให้หยุดการก่อสร้างชั่วคราว อย่างไรก็ตาม คงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสร้างสรรค์




หากฝุ่นมาจากชีวมวล ที่เผานอกกรุงเทพมหานคร อาจจะต้องตามไปไล่จี้ ถึงแหล่งการเผาเหล่านั้น รวมถึงโรงงานที่มีกิจการในกรุงเทพฯกว่า 1,000 แห่ง แล้วปล่อยควัน ก็ต้องมีการติดตั้งกล้องมอนิเตอร์ที่กล่องปล่อยควัน ดูว่าเกินกว่าค่าที่กำหนดไว้หรือไม่




คุณอาจสนใจ

Related News