สังคม

รองปลัด สธ.เสียงสั่นเครือ รับเตียงไอซียูไม่พอ เสริมทัพแพทย์จบใหม่ ช่วยสู้วิกฤตโควิด

โดย thichaphat_d

2 ก.ค. 2564

27 views

วานนี้ (1 ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอายุรแพทย์ และแพทย์เวชบำบัดวิกฤต ซึ่งเป็นแพทย์เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรม เพื่อขอสนับสนุนภารกิจโรงพยาบาลสนาม หลังมีการขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น


นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ สถานการณ์วันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดครึ่งหมื่น เสียชีวิตครึ่งร้อย สถานการณ์เตียงไอซียูไม่พอ ไม่สามารถรับคนไข้สีแดงไปนอนได้ ต้องขยายเตียงไอซียู ซึ่งจะมีการเปิดเพิ่มที่ รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รพ.วชิรพยาบาล และรพ.พลังแผ่นดินของ รพ.มงกุฎวัฒนะ และต้องการบุคลากรแพทย์ พยาบาล มาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดแพทย์และพยาบาลไอซียูมาสนับสนุน


โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร 2 รองปลัดสธ.ได้ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา คือ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์ด้านปอด อายุรแพทย์ติดเชื้อ และเวชบำบัดวิกฤตจำนวน 144 คน โดยชี้แจงว่าต้องส่งไปทำงานในจุดที่มีการระบาดของคนไข้มากขึ้น แพทย์เหล่านี้ไม่ใช่แพทย์เพิ่งจบใหม่ แต่จบมาหลายปีแล้วมาเรียนต่อ 3-5 ปีตามหลักสูตร เพื่อดูแลคนไข้ที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ เมื่อจบแล้วก็เป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผ่านการดูแลคนไข้โควิดมาแล้ว


สำหรับแพทย์จบใหม่ใน 4 สาขา ทั้งหมด 144 คน ที่ผ่านการอบรม จำนวนนี้ 69 คน จะไปดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีแดง ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี ,วชิรพยาบาล ,ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และรพ.มงกุฎวัฒนะ


ส่วนแพทย์อีก 75 คน จะประจำจังหวัดพื้นที่ระบาด ในเขตสุขภาพที่ 4,5,6 และ12 และถ้าเหลือจากนี้จะส่งไปช่วย รพ.บุษราคัมเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะให้ปฏิบัติภารกิจประมาณ 1 เดือนคือกรกฎาคมก่อน และประเมินสถานการณ์ว่าต้องอยู่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็ส่งกลับไปปฏิบัติหน้าที่ฐานที่เดิมต่อไป


นพ.ธงชัย กล่าวด้วยน้ำเสียงสะอื้นว่า "อยากฝากให้แพทย์ดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด วันนี้ไอซียูขาดแคลนจริงๆ ไม่อยากให้คนไข้ต้องรอ วันนี้กราบขอบคุณน้องๆทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายๆคนอาจคิดว่า ทำไมต้องเป็นฉัน ต้องเป็นเรา จึงต้องขอความร่วมมือจริงๆ


รองปลัดสธ.อีกท่าน นพ.สุระ กล่าวว่า ผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงเพิ่มขึ้น จึงต้องเพิ่มเตียงไอซียู กระทรวงจึงได้สนับสนุนบุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลดูแลผู้ป่วย หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะได้กลับสังกัดเดิม ทั้งนี้ ซึ่งต้องร่วมช่วยกันในภาวะที่ประเทศประสบภาวะวิกฤต เพราะหากเราไม่ช่วยเหลือคนไข้และควบคุมกทม.ไม่ได้ก็จะกลับไปแพร่ระบาดที่ต่างจังหวัดเช่นกัน


นพ.สุระกล่าวว่า สำหรับการส่งมาปฏิบัติงานนั้น ได้ออกเป็นหนังสือส่งตัวไปปฏิบัติราชการที่ รพ.พระนั่งเกล้า เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องเสียสิทธิรับค่าตอบแทนต่างๆ โดยสามารถเบิกค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก จาก รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งจะมีการจัดระบบมาดูแล ส่วนค่าเวรจะรับจากหน่วยงานปลายทางที่ไปปฏิบัติ ซึ่งจะต้องได้มากกว่าหรือเท่ากับที่กระทรวงสาธารณสุขให้ โดยการปฏิบัติงานจะขึ้นเวรเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 1 สัปดาห์พัก 2 วัน แต่ขึ้นกับพื้นที่


หากจำเป็นอาจขอให้ช่วยขึ้นผลัดนอกเวลาราชการ หากสถานการณ์คนไข้มีมาก และหน่วยที่ตั้งเดิมไม่สามารถจัดคนมาได้ อาจต้องขอร้องกัน ส่วนพยาบาลไอซียูจะดูตามความต้องการของเตียงว่าต้องการพยาบาลไอซียูเท่าไร และจะระดมจากโรงพยาบาลทุกจังหวัด โดยเขตสุขภาพจะรวบรวมและจัดส่งมาเพื่อจัดสรรลงไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้ เรามีการจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนประกันก็ทำให้ และอาจจะดูเพิ่มเติมว่ามีใครยังไม่มีประกันก็จะช่วยดำเนินการ


ด้าน นพ.คมชาญ อุดมวาทิน อายุรแพทย์ทั่วไป รพ.อ่างทอง ได้รับภาระกิจให้มาช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด กล่าวว่า แพทย์ทุกคนยินดีปฏิบัติหน้าที่และเข้าใจสถานการณ์ ยอมรับว่าภาระกิจนี้หนักกว่าทุกครั้ง แต่อยากให้รัฐเร่งจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 ที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าโดยเร็ว แม้ขณะนี้จะได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว แต่แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังติดเชื้อ


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/PEQYTKe7vTc

คุณอาจสนใจ

Related News