สังคม

ศบค.ย้ำคุมเข้มช่องทางธรรมชาติ หลังพบกลุ่มลักลอบเข้าประเทศติดโควิด - 'หมอโอภาส' ยันวัคซีนแอสตราฯ 1 ขวดแบ่งฉีด 12 โดสได้

โดย panwilai_c

20 พ.ค. 2564

57 views

วันนี้ (20 พ.ค. 64) กรุงเทพมหานครพบกลุ่มคลัสเตอร์การระบาดเพิ่มอีก 2 กลุ่ม รวมแล้ว 36 คลัสเตอร์ ทำให้กรุงเทพมหานครต้องปิดตลาดไปแล้ว 10 ตลาด ส่วนสถานการณ์โดยรวมพบผู้ติดเชื้อใหม่ กว่า 2,600 คน เสียชีวิต 25 คน


ยอดผู้ติดเชื้อใหม่วันนี้คือ 2,636 คน มาจากเรือนจำ 671 คน ส่วนเรือนจำตัวเลขลดลงจากเมื่อวานนี้ ที่พบผู้ติดเชื้อ 1,498 คน ขณะที่มีผู้ป่วยสะสม 119,585 คน รักษาตัวอยู่ 42,246 คน อาการหนัก 1,213 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 คน เสียชีวิตเพิ่ม 25 คน เสียชีวิตสะสม 703 คน


ที่น่าจับตาวันนี้คือ ผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 58 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยพบว่ามี 54 คน มาจากกัมพูชา และจำนวนหนึ่งลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ ทำให้ ศบค. ย้ำให้เพิ่มมาตรการป้องการหลบหนีเข้าเมืองตามช่องทางธรรมชาติ เพราะไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโรคก่อน ขณะเดียวกันก็ประกาศว่าเตรียมพิจารณาขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิดออกไปอีก จากเดิมจะสิ้นสุดปลายเดือนนี้


สำหรับในกรุงเทพฯ วันนี้พบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง รวมเป็น 36 คลัสเตอร์ แต่ 28 คลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวังสูงสุด ส่วนการระบาดในกลุ่มตลาด ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครได้สั่งปิดตลาดไปแล้ว 10 แห่ง จาก 485 แห่ง เพื่อเข้าทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ


สำหรับรายละเอียดเรื่องการลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนของแต่ละกลุ่ม ตามที่มีการแจ้งผ่านช่องทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนจากซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา แต่ละกลุ่มดังนี้ กลุ่มแรก คือ กลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ หรือ บุคลากรด่านหน้า เริ่มฉีดไปแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์, วัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุก ในชุมชนที่มีเชื้อระบาด เริ่มฉีดตั้งแต่ กุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน, กลุ่มผู้อาชีพขับรถขนส่งสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพเทพมหานคร ฉีดได้ตั้งแต่ วันที่ 24-31 พฤษภาคมนี้, กลุ่มผู้ให้บริการขนส่ง และ บุคคลากร ราชการ รัฐวิสหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม เริ่มฉีดเดือนมิถุนายน, กลุ่มผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป และโรคกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม รวม 16 ล้านคน เริ่มฉีด 7 มิถุนายนนี้ ลงทะเบียนผ่านช่องทาง " หมอพร้อม" และติดต่อได้ผ่านสถานพยาบาลใกล้บ้าน, กลุ่มผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือพนักงานเอกชนทั่วไป เริ่มเดือน มิถุนายนนี้, กลุ่มประชาชนทั่วไป อายุ 18-59 ปี สามารถจองคิวฉีดวัคซีนผ่านระบบหมอพร้อม ได้ตั้งแต่ 31 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะได้ฉีดประมาณเดือนสิงหาคม – ธันวาคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเปิดช่องทางการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ในสัปดาห์หน้า และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ หน่วยงานทางการแพทย์จัดสรรวัคซีนฉีดให้ บางกลุ่มเสี่ยง เช่น จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย ฉีดแบบวอล์กอินให้ คนสูงวัยอายุ 70 ปีขี้นไปวันละ 100 คน เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้


และวันนี้องค์การเภสัชกรรม ได้รับมอบวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค เพิ่มอีก 1 ล้าน 5 แสนโดสจากประเทศจีน รวมนำเข้าแล้วทั้งสิ้น 6 ล้านโดส และจะได้รับเพิ่มในเดือนมิถุนายนนี้อีก 3 ล้านโดส ปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 2,500,000 โดส


จากกรณีที่มีการตั้งคำถาม ถึงนโยบายแบ่งฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา ต่อขวดให้ได้ 12 โดส ว่าอาจจะทำให้ประชาชนได้วัคซีนไม่เพียงพอหรือไม่ ล่าสุด นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามกลไกผลิตของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนฯ ใน 1 ขวด จะบรรจุวัคซีนเผื่อไว้ประมาณ 20-30% 1 ขวด บรรจุวัคซีนมา 6.5 ซีซี แต่ฉีด 1 โดส จะใช้ปริมาณ 0.5 ซีซี ดังนั้น การฉีด 10 เข็มจึงใช้วัคซีน 5 ซีซี เหลืออีก 1.5 ซีซี ดังนั้น การฉีด 11-12 โดสต่อขวด จึงสามารถทำได้ วิธีการฉีดจะใช้เข็มพิเศษ เรียกว่า Low Dead Space Syringes ทำให้การสูญเสียวัคซีนในปลายหลอดลดลง โดยได้อบรมพยาบาลดึงวัคซีนเป็นอย่างดี


น.พ.โอกาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ก็เห็นว่า สามารถทำได้และเกิดประโยชน์ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนให้ได้เพิ่มเป็น 11-12 โดส จะทำให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News