สังคม

จนท.รับตัว 2 อาม่าไปรักษาแล้ว ด้านสำนักการแพทย์ เผยทั้งคู่มีชื่อรอเตียง แต่ตกหล่นในระบบ

โดย weerawit_c

24 เม.ย. 2564

1.4K views

ความคืบหน้ากรณี นางนันทวรรณ อายุ 75 ปี พร้อมน้องสาวอายุ 70 ปี ขอความช่วยเหลือ ติดเชื้อโควิดแต่รอเตียงไม่ได้รับการรักษา จนทำให้นางไหม้ พี่สาวอายุ85ปี เสียชีวิตในบ้านพัก ตามที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้


ช่วงเช้าวานนี้ (23 เม.ย.) เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปที่บ้านของอาม่า ในซอยวัดไผ่เงิน เขตบางคอแหลม เพื่อรับตัวอาม่านันทวรรณ และน้องสาวที่มีปัญหาทางสมองไปรักษา ที่รพ.สิรินธร เขตลาดกระบัง โดยเป็นโรงพยาบาลเดียวกับญาติของอาม่า รักษาตัวในรพ.นี้ โดยแพทย์ได้จัดห้องขนาดใหญ่ ให้อาม่านันทวรรณ และน้องสาวอยู่ด้วยกัน เพราะน้องสาวดูแลตัวเองไม่ได้ โดยผลการตรวจร่างกายเบื้องต้น ทั้งสองคน อยู่ในอาการปลอดภัย และเฝ้าระวังอาการไข้ และการแทรกซ้อนต่างๆ


ส่วนศพของนางไหม้ อายุ 85 ปี พี่สาวที่ติดเชื้อและรอการรักษาจนเสียชีวิตนั้น เจ้าหน้าที่ได้ประสานญาติของอาม่า มาทำพิธีและฌาปนกิจศพทันที


เรื่องราวของอาม่า ถือว่าสะเทือนใจสังคมอย่างมาก ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ แต่ไร้การดูแลรักษา เพราะรอเตียงว่าง ซึ่งอาม่าทั้ง 3 คนนั้น ไม่แน่ชัดว่าติดเชื้อมาจาก หลานชายหรือน้องชาย หรือจากการไปทำแผลที่รพ.แห่งหนึ่ง แต่ทั้งสามคนติดเชื้อและรอการรับรักษา ซึ่งเมื่อวานนี้อาม่านันทวรรณ ก็เปิดใจกับทีมข่าวว่า เจ้าหน้าที่กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนรู้ ว่าอาม่าทั้ง 3 คนติดเชื้อ ก็บอกให้รอ และเอาข้าวสารอาหารแห้งมาเยี่ยมและบอกให้รอ จนพี่สาวเสียชีวิตอย่างน่าเวทนา


หลังจากรับตัวอาม่าทั้ง 2 คนไปรักษาแล้ว เจ้าหน้าที่ก็นำน้ำยาฆ่าเชื้อ มาฉีดพ่นทำความสะอาด ที่บ้านพักอาม่า และบ้านเพื่อนข้างเคียงทั้งหมด เพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งการเข้าช่วยเหลืออาม่านี้ เพราะเพื่อนบ้านทนกับการรอคอยการรับตัวอาม่าไปรักษาไม่ๆไหว จึงอัดคลิปขอความช่วยเหลือ


ทีมข่าวสอบถามเพื่อนบ้าน เล่าว่า เห็นอาม่าทั้งสามคน รอรถรพ.มารับ กี่วันก็ไม่มาสักที เกิดความสงสารแต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เพราะโทรหาเจ้าหน้าที่ ตามเบอร์ที่ให้ ทั้ง 1669 1330 1668 ก็ไม่มีผลตอบรับใดๆ จึงอัดคลิปลงโซเชียล เพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งก่อนหน้านี้คนที่อยู่ในซอยเดียวกันพยายามช่วยกันติดต่อส่ายด่วน ติดต่อทุกช่องทาง ให้เข้ามารับไปรักษา เเต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามา และหลังจากนี้อยากขอร้องให้ กทม. เข้ามาคัดกรองเชิงรุกในซอยนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ในระหว่างที่ติดโควิดกักตัว ครอบครัวนี้ออกมาซื้ออาหาร และเดินไปมาในซอย ซึ่งมีเพื่อนบ้านความเสี่ยงสูงก็กักตัวแยกจากครอบครัวไปแล้ว 2 ราย


ประเด็นการช่วยเหลือล่าช้า หรือเกิดอะไรขึ้น กับการประสานงานช่วยเหลือกรณีอาม่า จนเสียชีวิตนั้น นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า กรณีนี้เนื่องจากในครอบครัวมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด 6 ราย ก่อนหน้านี้มีรถพยาบาลมารับไปแล้ว 3 ราย ส่วนอีก 3 ราย อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย. มีผู้สูงอายุ 1 ราย เสียชีวิตในบ้านพักว่า สำนักการแพทย์ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งนำส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัวดังกล่าวอีก 2 ราย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสิรินธรเรียบร้อยแล้ว


ส่วนสาเหตุที่ ได้รับการรักษาล่าช้าต้องรอถึง 5 วัน จนเสียชีวิต ทั้งที่ผู้ป่วยทั้งสามคน เป็นคนชรา นายสุขสันต์ กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ประสานขอเตียงจำนวนมาก "จึงมีผู้ป่วยค้างในระบบ" รวมถึงข้อมูลผู้ป่วยถูกส่งมาจากหลายทาง อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ผู้ป่วยรอเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ประสานติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของโรครุนแรงเพิ่มขึ้นจะจัดรถไปรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นการเร่งด่วน


ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาเปิดโทรศัพท์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดต่อและติดตามอาการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง ศูนย์เอราวัณจะร่วมกับศูนย์ราชวิถี กรมการแพทย์ เร่งดำเนินการคัดกรอง เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาเป็นลำดับต้นๆ ต่อไป


ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เสียชีวิตที่บ้าน สำนักการแพทย์ได้วางแนวทางสำหรับการจัดการศพ มีการซักซ้อมตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติภารกิจจะสวมชุดและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดยศพได้รับการบรรจุใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น ทุกขั้นตอนจะมีการฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อภายนอกถุงตามมาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อภายในบ้านและบริเวณโดยรอบ เพื่อความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนการแก้ไขปัญหานี้ สำหรับผู้ป่วยโควิดในกลุ่มสูงอายุและเด็ก ทางกทม.และบริหารยังไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดว่า จะดำเนินการแก้ไขอย่างไร


ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กรณีผู้สูงอายุ 3 รายที่ติดเชื้อ ที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านจนเสียชีวิต 1รายในเขตบางคอแหลม ตนได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นทุกคนก็เสียใจและพยายามแก้ไขอย่างเต็มที่ และแม้จะทำเต็มที่แล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่ไม่สามารถไปกดดันหรือสั่งย้ายผู้เกี่ยวข้องได้ เพราะทุกคนทำงานกันอย่างเต็มที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกคนยังมีขวัญกำลังใจในการปฎิบัติหน้าที่ และทุกคนก็ทุ่มเทอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเหนื่อย อย่างไรก็ตามได้ให้กรมการแพทย์ประสานงานไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อปรับปรุงระบบ เพื่อให้แยกประเภทคนไข้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว


ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/7O_CQ90qS9Q

คุณอาจสนใจ

Related News