ไลฟ์สไตล์
'ไบโพลาร์' รับรู้ ศึกษา และเข้าใจ
โดย nattachat_c
15 พ.ย. 2565
161 views
เป็นเรื่องน่าดีใจ ที่ในสมัยนี้ การรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับ ‘โรคทางจิตเวช’ นั้น มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น มีการศึกษาหาความรู้ในด้านนี้มากขึ้น รวมถึงมีการไปปรึกษาจิตแพทย์ โดยที่ทั้ง ‘ผู้ป่วย’ และ ‘คนทั่วไป’ ไม่ได้คิดว่าการไปปรึกษา หรือการไปรักษากับจิตแพทย์ เป็น ‘คนบ้า’ แบบที่สมัยก่อนคิด
แต่…ส่วนใหญ่แล้ว โรคทางจิตเวชที่หลายคนมักคุ้นและเข้าใจกับมัน จะเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ซะส่วนใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้ว โรคทางจิตเวชนั้น มีความหลากหลายอย่างมาก และ ‘โรคไบโพลาร์’ ก็เป็นอีกหนึ่งโรค ที่หลายคนยังไม่เข้าใจ ครั้งนี้เราเลยอยากมาชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้กัน
‘ไบโพลาร์’ (bipolar disorder) โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว
เป็น ‘โรคทางจิตเวช’ ที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่าง ขั้ว Major Depressive Episode และ ขั้ว Mania/ Hypomania
Major Depressive Episode อาการซึมเศร้า
ในช่วงหรืออาการซึมเศร้านี้ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับผู้ที่เป็นโรคที่ซึมเศร้า โดยจะต้องมีอาการต่างๆ ข้างล่างนี้ 4-5 อาการ แทบทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ และจะต้องมีอาการ อารมณ์ซึมเศร้า หรือ เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ
1. มีอารมณ์ซึมเศร้า รู้สึกเศร้า รู้สึกว่าชีวิตตนเองว่างเปล่า
2. ความสุขหรือความสนใจในกิจกรรมต่างๆ ที่เคยชอบลงเป็นอย่างมาก (เช่น เคยมีความสุขกับการดูหนัง แต่กลับไม่รู้สึกมีความสุขอีกต่อไป บางรายถึงขั้นเลิกดูหนัง)
3. เบื่ออาหารอย่างหนัก หรือ กินอาหารมากเกินไป โดยผู้ป่วยจะมีน้ำหนักเพิ่ม/ลด มากกว่า 5% ในหนึ่งเดือน
4. นอนไม่หลับ หรือ นอนหลับมากเกินไป
5. กระสับกระส่าย หรือ เชื่องช้า
6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง เหนื่อยล้า
7. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า รู้สึกผิดมากเกินไป
8. สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง บางรายถึงขึ้นไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้
9. คิดถึงเรื่องความตาย คิดอยากตาย (โดยไม่มีการวางแผน) ทำร้ายตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย
Mania/ Hypomania ช่วงแมเนีย หรือช่วงไฮเปอร์
ช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่รั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ในช่วงนี้ จะมีอาการข้างล่างอย่างน้อย 3 อาการ (หรือ 4 อาการ หากมีเพียงอารมณ์หงุดหงิด)
1. มีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถพิเศษ
2. ความต้องการนอนลดลง (ไม่ใช่นอนไม่หลับ แต่ไม่ยอมหลับนอน บางทีอาจจะลุกขึ้นมาซักผ้าตอนตี 3 ก็ได้)
3. พูดเร็ว พูดมากกว่าปกติ พูดไม่หยุด บางรายจะรู้สึกหงุดหงิดหรือโมโห เมื่อมีคนมาขัดการพูด
4. ความคิดแล่นเร็ว คิดมากหลายเรื่องพร้อมๆ กัน
5. วอกแวก ถูกดึงดูดจากกิจกรรมภายนอกได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมได้นาน เช่น อาจหนังสือ 5 นาที ก็ไปดูหนัง ดูหนังไม่ถึง 10 นาที ก็ไปทำอย่างอื่นอีก
6. มีกิจกรรมมากผิดปกติ ทั้งวางแผนและลงมือ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ลงมือทำ หรือลงมือทำแต่ทำไม่ได้หรือทำไม่สำเร็จ
7. มีการตัดสินใจเสีย มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา
รู้หรือไม่? ไบโพลาร์ ไม่ได้มีแค่แบบเดียว
ความจริงแล้ว ไบโพลาร์มีหลายแบบด้วยกัน บางสมาคมการแพทย์ แพทย์บางท่านแยกไบโพลาร์ออกมาได้ถึง 5 แบบ แต่ถ้าแบ่งกันแบบคร่าวๆ และสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ไบโพลาร์จะมี 3 แบบ คือ Bipolar Type 1, Bipolar Type 2 และ Cyclothymia
Bipolar Type 1
มีอารมณ์เศร้า (Depressive) อย่างน้อย 2 สัปดาห์ มีอาการอารมณ์ดีมากผิดปกติ (Mania) อย่างน้อย 7 วัน หรือมีแค่อาการอารมณ์ดีมากผิดปกติ (Mania) อย่างเดียว โดยที่ไม่มีอารมณ์เศร้าก็ได้
Bipolar Type 2
มีอาการของซึมเศร้า (Depressive) และอารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก (Hypomania) แต่ไม่มีอาการถึงขั้นอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ร่วมด้วย
Cyclothymia
เป็นกลุ่มอาการที่แปลกแตกต่างออกไป เพราะผู้ป่วยจะไม่มีช่วง Mania Episode และ Depressive Episode อย่างแน่ชัด คือไม่เข้าข่ายตามอาการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่เป็น Cyclothymia จะมีอารมณ์ดีผิดปกติ แต่ไม่มาก (Hypomania) กับอารมณ์เศร้า (depressive) เกิดขึ้นหลายครั้งในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี
‘ไบโพลาร์’ สาเหตุคืออะไร
ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์นั้นมีได้หลายสาเหตุ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 อย่างคือ ความผิดปกติของสารสื่อสารทางสมอง, พันธุกรรม และ ปัจจัยอื่นๆ
ความผิดปกติของสารสื่อสารทางสมอง
‘โรคทางจิตเวช’ นั้น มีการศึกษามาแล้ว ว่ามีผลจากการที่สารสื่อประสาทนั้นผิดปกติ คือมากไป หรือ น้อยไป ซึ่งสารสื่อสารที่ว่านี้ก็มีอยู่หลายตัวด้วยกัน แต่จะมีอยู่ 3 ตัว ที่เป็นตัวหลัก ที่ทำให้เกิด ‘โรคทางจิตเวช’ อย่างโรคซึมเศร้า หรือ โรคไบโพลาร์ นั่นคือ โดปามีน (Dopamine), เซโรโทนิน (Serotonin) และ นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งสารสื่อประสาทแต่ละตัว
โดปามีน (Dopamine)
ทำให้รู้สึกมีความสุข และยังมีหน้าที่ในการควบคุมการหลับ แรงจูงใจ การมีสมาธิและการเรียนรู้
เซโรโทนิน (Serotonin)
ช่วยควบคุมอารมณ์ ฮอร์โมน ควบคุมวงจรการนอนหลับ จากการศึกษาหลายงานพบว่า ระดับของเซโรโทนินที่ลดลงกว่าปกติ จำให้เกิดอาหารซึมเศร้า ยาที่จิตแพทย์หลายคนเลือกที่จะจ่ายให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จึงมักจะเป็นยาที่เพิ่มสารเซโรโทนิน (Serotonin)
นอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine)
ทำให้ร่างกายตื่นตัวเมื่อเผชิญกับภาวะกลัวหรือเครียด ซึ่งผู้ป่วยไบโพลาร์มักมีนอร์อิพิเนฟรินในสมองลดลงกว่าปกติ
พันธุกรรม
ในด้านพันธุกรรมนั้น ยังคงมีความเห็นที่ความแตกต่างกัน บางรายเชื่อว่า ‘โรคไบโพลาร์’ นั้นสามารถสืบทอดทางพันธุกรรมได้ แต่ไม่จำที่พ่อแม่เป็นโรคทางจิตเวช แล้วลูกจะต้องเป็นโรคทางจิตเวช คล้ายกับโรคเบาหวานนั่นเอง
ปัจจัยอื่นๆ
ความเครียด ความเศร้าอย่างรุนแรงและฉับพลัน (เช่น อกหัก การสูญเสียคนรัก) การเกิดความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง แม้ว่าปัจจัยอื่นๆ เหล่านี้ จะไม่ได้เป็นสาเหตุของการเป็นโรคไบโพลาร์โดยตรง แต่ก็เป็นสาเหตุในการกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศ้รา หรืออาการแมเนีย ได้
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ‘ไบโพลาร์’
- 1 ใน 5 ของผู้ป่วยไบโพลาร์ ฆ่าตัวตายสำเร็จ
- ช่วงอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 15-19 ปี รองลงมาคือ 20-24 ปี
- ผู้ป่วยไบโพลาร์ในไทยมีประมาณ 1 ล้านคน แต่เข้าสู่ระบบการรักษาเพียง 1%
- 11 ปี คือระยะเวลาเฉลี่ย ที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้า
- ผู้ป่วยไบโพลาร์ มีโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำถึง 70-90%
- WHO ประมาณว่า ประชากรโลกเป็นไบโพลาร์ถึง 5% แต่เข้าสู่ระบบการรักษาเพียง 1-2%
การดูแลรักษา ‘ไบโพลาร์’
ในการรักษา ‘ไบโพลาร์’ นั้น บางการศึกษาก็บอกว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให่หายขาดได้ บางการศึกษาก็บอกว่าเป็นโรคที่สามารถนักษาให้หายได้ สามาถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงาน และอื่นๆ ซึ่งถ้าเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็ว ถูกวิธี ผู้ป่วยก็แทบจะไม่แตกต่างจากคนทั่วไป ดูเผินๆ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคนนี้เป็นโรคไบโพลาร์ ได้เข้ารับการรักษาและกินยา
และอย่างที่บอกไปว่า โรคไบโพลาร์นั้น เกี่ยวกับสารสื่อประสาท ดังนั้น โรคนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยยา โดยการใช้ยานั้นจะเน้นไปที่ยาปรับอารมณ์ให้คงที่ (mood stabilizer) หรือบางรายก็จะได้รับต้านโรคจิตกลุ่มใหม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและการจ่ายยาของแพทย์ เนื่องจากอย่างที่ได้กล่าวไป โรคไบโพลาร์นั้นมีหลายรูปแบบ และต่างก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีความยากในการวินิจฉัยและการรักษา
แต่…ไม่ว่าจะการศึกษาจะออกมาในรูปแบบที่ว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด หรือ รักาาได้หายขาด การเข้าสู่ระบบการรักาาอย่างถูกวิธีก็ดีกว่าการไม่เข้ารับการรักษา เพราะการไม่ได้รับการรักษานั้น อาจเกิดความผิดปกติด้านอารมณ์ที่รุนแรง จนทำให้มีความบกพร่องอย่างมากในด้านการงาน หรือกิจกรรมทางสังคมตามปกติ หรือสัมพันธภาพกับผู้อื่น หรือทำให้ต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อป้องกันอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีอาการโรคจิต
นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ควรจะได้รับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) เช่น จิตบําบัดปรับความคิดและพฤติกรรม จิตบําบัดเพื่อสัมพันธภาพระหว่างบุคคล สุขภาพจิตศึกษา และการบําบัดที่เน้นครอบครัว
การดูแลตัวเองของผู้ป่วยไบโพลาร์
ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วยทางการ หรือ อาหารเจ็บป่วยทางจิตใจ นั้น นอกจากการรักษาด้วยแพทย์แล้ว การดูแลตัวเองเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้โรคต่างๆ รักษาให้หายได้ หรือไม่ก็บรรเทาความรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยไบโพลาร์ควรจะดูแลตัวเอง ดังนี้
การไปหาแพทย์ตามนัด และกินยาตามที่แพทย์สั่ง
การไปหาจิตแพทย์นั้น ไม่ใช่แค่การไปรับยาเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากไบโพลาร์นั้น มีอาการทางอารมณ์ที่หลากหลาย การไปพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยถึงความรู้สึก หรืออาการต่างๆ ที่ผ่านมา จะทำให้จิตแพทย์วินิจฉัย และปรับเปลี่ยนยาได้อย่างถูกต้อง
ผู้ป่วยต้องกินยาตามที่จิตแพทย์สั่งให้ตรงเวลาและครบ ในคำว่าครบนี้รวมไปถึงการไม่กินยาเกินขนาดด้วย ทั้งนี้ยาที่รักษาโรคจิตเวชนั้น ไม่ได้เป็นยาที่กินปุ๊บอาการหายปั๊บ อย่างยาแก้ปวด หรือยาอื่นๆ แต่จะเป็นยาที่ค่อยๆ ปรับสารสื่อประสาท ซึ่งต้องใช้เวลาทานมากกว่า 2 สัปดาห์ ถึงจะเห็นผล และต้องทานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี
แต่มีผู้ป่วยบางราย เมื่อเห็นว่าทานยาไปแล้วไม่ได้ผล จึงกินยาเกินขนาด นอกจากจะไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ยาหมดก่อนที่จะหาหมอรอบต่อไป และเมื่อไม่มียาทาน ก็จะยิ่งทำให้อาการป่วยหนักขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยไบโพลาร์บางคนมักจะหยุดยาเอง เนื่องจากโรคไบโพลาร์จะมีช่วงที่อาการปกติร่วมอยู่ด้วย ทำให้ผู้ป่วยบางคนหยุดกินยาเอง ทั้งนี้มีการศึกษาว่า ถ้าผู้ป่วยหยุดยา แล้วมีอาการแมเนียครั้งที่ 2 จำเป็นจะต้องกินยานานถึง 5 ปี ส่วนผู้ที่มีอาการแมเนียครั้งที่ 3 จำเป็นจะต้องกินยานานตลอดชีวิต
ผู้ป่วยควรควบคุมเวลานอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง พยายามหาวิธีแก้ปัญหาและลดความเครียด และอย่าใช้ยากระตุ้นหรือสารมึนเมา เช่น เหล้า หรือ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
โรคไบโพลาร์เป็นโรคเรื้อรัง มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้
โรคไบโพลาร์นั้นเป็นโรคที่มีความเกี่ยวกับข้องหลายอย่าง ทั้งความผิดปกติของสารสื่อประสาท ซึ่งการรักษาด้านนี้นั้น มียาอยู่หลายตัวที่รักษาได้ และช่วยลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ
แต่…
ปัจจัยทางด้านจิตสังคมทำให้อาการโรคไบโพลาร์ มีโอกาสกลับเป็นซ้ำสูงได้ เช่น ความเครียดจากเหตุการณ์ในชีวิตและสิ่งแวดล้อม การสอบตก การเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ปัญหาด้านการเงิน การเจ็บป่วย การสูญเสียหรือความล้มเหลวในชีวิต
ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับไบโพลาร์
จากหนัง การ์ตูน สื่ออะไรต่างๆ นานา ซึ่งอาจสร้างความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับไบโพลาร์ได้ ซึ่งเราก็มักจะเคยได้ยินว่า เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเป็นไบโพลาร์หรอ ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามา เช่น การไม่ได้เข้ารับการรักษา การเข้าใจผู้ป่วยแบบผิดๆ และนี่คือส่วนหนึ่งของความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับไบโพลาร์
เหวี่ยงวีนไม่ใช่ 'ไบโพลาร์'
การเหวี่ยงวีน ขีวีน เป็นอารมณ์ส่วนตัวของบุคคล ไม่ใช่ 'โรค' แต่ไบโพลาร์เป็นโรค ที่ไม่ใช่นิสัยของป่วย แต่มาจากความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งสามารถควบคุมและรักษาได้ด้วยการแพทย์
วันนี้ดี วันพรุ่งนี้ร้าย ไม่ใช่ 'ไบโพลาร์'
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นๆ อาการซึมเศร้า อาการพลุ่งพล่าน (แมเนีย) ของผู้ป่วยไบโพลาร์นั้น ในแต่ละขั้ว ไม่ได้เป็นกันแค่วันสองวัน แต่ต้องเป็นนานนับสัปดาห์ จนถึงเป็นเดือน ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ที่สุดแล้ว
มาถึงตรงนี้ เราหวังว่าบทความชิ้นนี้ จะทำให้หลายได้เข้าใจกับโรคไบโพลาร์มากขึ้นไม่มากก็น้อย เพื่อเตรียมรับมือกับมัน ไม่ว่าจะเป็นโรคนี้เอง หรือมีคนรู้จักที่เป็น ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจผู้ป่วยได้ และก็มีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่แตกต่างจากบุคคลอื่นๆ