ต่างประเทศ
ตื่นตา! หลายประเทศแห่ชม 'แสงเหนือ' ตระการตา หลัง 'พายุสุริยะ' แรงสุดรอบ 20 ปี
โดย passamon_a
12 พ.ค. 2567
259 views
เกิดพายุสุริยะที่ทรงพลังและรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 20 ปี กระทบโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ ที่สวยงามในหลายประเทศ เบื้องต้นมีรายงานผลกระทบต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า, การสื่อสาร หรือดาวเทียมเพียงเล็กน้อย
องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ โนอา (NOAA) เผยว่า พายุสุริยะ หรือการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (CME) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (ตามเวลามาตรฐานกรีนิช) และต่อเนื่องมาจนถึงวันเสาร์ ทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า, การสื่อสารที่ใช้คลื่นวิทยุย่านความถี่สูง และระบบการหาตำแหน่งทั่วโลก หรือ GPS แต่ยังไม่ระบุแน่ชัดว่าความผิดปกติดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ดี ทางด้านสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง หรือ ฟีมา (FEMA) บอกว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีรายงานของผลกระทบที่รุนแรงจากพายุสุริยะ เช่นเดียวกับ กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่า พายุสุริยะยังไม่ส่งผลกระทบใด ๆ โครงข่ายพลังงาน
ขณะเดียวกัน เมื่อเช้าวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ มีรายงานบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ให้บริการได้น้อยลง และทีมเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการตรวจสอบ ขณะที่ นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอบริษัท ได้ทวีตข้อความลงบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) ว่า โครงข่ายดาวเทียมของสตาร์ลิงก์ที่มีดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลกประมาณ 5,000 ดวง อยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนัก แต่ยังควบคุมได้จนถึงตอนนี้
โนอา คาดการณ์ว่า พายุสุริยะครั้งนี้จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยไปจนถึงวันนี้ ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศของหน่วยงานก็ได้เตรียมการรับมือกับพายุสุริยะลูกนี้เป็นอย่างดี
นายโรเบิร์ต สตีนเบิร์ก (Robert Steenburgh) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศของโนอา กล่าวว่า ปัจจุบัน พวกเขามีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย ช่วยทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโครงข่ายไฟฟ้าและการสื่อสารลดลง แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา
นายสตีนเบิร์ก ยังบอกอีกว่า สำหรับคนบนโลก พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลย สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องทำคือการออกไปชมแสงเหนือ ที่เปรียบเสมือนกับของขวัญจากอวกาศ
แม้จะยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบที่รุนแรงออกมา แต่พายุสุริยะในครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกเกิดปรากฏการณ์แสงเหนือหลากสีสันบนท้องฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, จีน, อังกฤษ, สเปน และอีกหลายที่ทั่วโลก ทำให้ผู้คนต่างพากันออกมาถ่ายภาพแสงเหนือ และโพสต์ลงบนสื่อสังคมออนไลน์
จุดหนึ่งที่เราได้เห็นปรากฏการณ์แสงเหนือที่ชัดเจนและสวยงาม คือที่ หมู่บ้านดีส-เต-เด้ (Diestedde) ประเทศเยอรมนี ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียรายนี้ได้โพสต์ภาพปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้ โดยใช้เทคนิคการถ่าย และการตัดต่อเป็นวิดีโออย่างเร็ว หรือ ไทม์แลปส์ (Time-lapse) มาให้ได้ชมกัน ซึ่งภาพที่ถ่ายมาครั้งนี้มีทั้งหมด 178 ภาพ แสงเหนือที่พาดผ่านท้องฟ้าที่นี่จะออกเป็นสีชมพูซะส่วนใหญ่
และมีภาพแสงเหนือที่เกิดขึ้นบริเวณท้องฟ้าในสวิตเซอร์แลนด์ จุดที่บันทึกภาพนี้คือ ที่เมืองริเอ็กซ์ แถบสีของแสงเหนือที่นี่เป็นสีชมพูและสีเขียว
แม้แต่ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งโดยปกติแล้ว ปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก มาครั้งนี้ประชาชนที่สหราชอาณาจักรมีโอกาสได้เห็นในหลายจุดเช่นกัน
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ประชาชนในหลายพื้นที่ก็ได้เห็นปรากฏการณ์นี้เช่นเดียวกัน เช่น ที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ทางใต้ของสหรัฐฯ ที่ไม่ค่อยได้เห็นปรากฏการณ์นี้ ก็มีแสงสีชมพูและเขียวปรากฏขึ้นเหนือท้องฟ้ายามค่ำคืน
ส่วนที่รัฐวิสคอนซิน ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รายหนึ่งได้โพสต์คลิปวิดีโอแสงเหนือที่เขาถ่ายด้วยกล้องโกโปร (GoPro) ลงบนโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นแสงเหนือหลากสีสันที่กำลังเต้นระบำอยู่บนท้องฟ้า
ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประชาชนพากันมารวมตัวในพื้นที่ที่มืดและไม่มีแสงรบกวน บริเวณพิวเจ็ต ซาวน์ (Puget Sound) และทะเลสาบวอชิงตัน เพื่อรับชมปรากฏการณ์อันสวยงามนี้
เช่นเดียวกันกับเมืองแวนคูเวอร์ ของแคนาดา ประชาชนหลายร้อยคนแห่กันออกมาชมปรากฏการณ์แสงเหนือ ที่มีความสวยงามและชัดเจนมากขึ้นเนื่องพายุสุริยะ
ส่วนที่ชิลี ประชาชนในเมืองปุนตาอาเรนัส ในภูมิภาคปาตาโกเนีย ก็ได้เห็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่แปลกตาในครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดแสงสีม่วงปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า
ส่วนที่จีน ชาวเน็ตบางคนได้แชร์ภาพแสงเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นที่เมืองอัลไต ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่นเดียวกับชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในเมืองโม่เหอ มณฑลเฮยหลงเจียง ก็ได้มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์แสงเหนืออันสวยงามในครั้งนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ พายุสุริยะที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความรุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่พายุฮาโลวีน ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ซึ่งครั้งนั้น ทำให้เกิดไฟดับครั้งใหญ่ในสวีเดน และสร้างความเสียหายต่อหม้อแปลงไฟฟ้าบางส่วนในแอฟริกาใต้
แท็กที่เกี่ยวข้อง แสงเหนือ ,พายุสุริยะ