ต่างประเทศ
ตระการตา! หลายประเทศเขตซีกโลกเหนือ เห็น 'แสงเหนือ' สุดสวย จากพายุสุริยะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี
โดย nattachat_c
13 พ.ค. 2567
37 views
หลายประเทศทั่วโลกในเขตซีกโลกเหนือ มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ แสงเหนือ สุดตระการตา อันเป็นผลกระทบจากพายุสุริยะครั้งรุนแรงที่สุด ในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ พายุสุริยะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี เดินทางมาถึงโลกเมื่อวันศุกร์ และวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ออโรรา’ หรือ ‘แสงเหนือ’ ในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ จีน / เยอรมนี / อังกฤษ / สหรัฐฯ และแคนาดา และในอีกหลายประเทศ
ทั้งนี้ การปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (CME) หรือ พายุสุริยะ ซึ่งประกอบด้วยพลาสมาและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ ระลอกแรก เดินทางมาถึงโลกในเวลาประมาณ 16.00 น. วันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2567 ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ตามการเปิดเผยของศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศ ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (NOAA)
หลังจากนั้น พายุสุริยะได้ ยกระดับเป็นพายุสุริยะขั้นรุนแรง ในเวลาต่อมา อีกทั้งดวงอาทิตย์ได้ปล่อยมวลพลังงาน มายังโลกอีกในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ NOAA กำลังติดตามผลกระทบจากพายุสุริยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่ง อาจส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่โคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และอาจส่งผลกระทบต่อกริดจ่ายไฟฟ้าภาคพื้นโลก สำหรับประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพายุสุริยะอาจสร้างความเสียหายต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้ แต่มันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือในหลายพันที่ของโลก บรรยากาศความตื่นเต้นแพร่กระจายไปทั่วออสเตรเลีย, ยุโรป และอเมริกาเหนือ
--------------
GISTDA ได้ติดตามใกล้ชิด 'เปลวสุริยะ'
ดวงอาทิตย์ที่อยู่ห่างจากโลกระยะทางกว่า 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 1 AU แม้จะดูห่างไกล แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ส่งผลต่อสภาวะอวกาศ (Space weather) และกิจกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศ
และจากการที่ GISTDA ได้ติดตามบริเวณที่มีการปะทุ AR 3664 ของดวงอาทิตย์ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นต่อเนื่อง หลายสำนักข่าวนานาชาติ ตั้งชื่อบริเวณนี้ว่า 'monster sunspot region'มีการปะทุรุนแรงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา บริเวณนี้ได้ปล่อยเปลวสุริยะ (solar flare) ระดับความรุนแรงสูงสุด (X class) ทั้งหมด 7 ครั้ง
การปะทุทำให้เกิดการปลดปล่อยมวลโคโรนา ส่งผลให้เกิดลมสุริยะ (Solar wind) และพายุสนามแม่เหล็กโลกตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา โดยปกติ จากข้อมูลของ NOAA ลมสุริยะมีความเร็วประมาณ 300-500 km/s มีความเร็วสูงขึ้นสูงสุดไปที่ประมาณ 1,000 km/s และค่าสนามแม่เหล็กรวม (Bt) จากเดิมอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 nT และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 74 nt (ตามภาพที่ 3) จากข้อมูลล่าสุดจาก NOAA ค่าสนามแม่เหล็กมีแนวโน้มลดลง แต่ความเร็วของลมสุริยะยังอยู่ในระดับสูง แต่ข้อมูลจากแบบจำลอง คาดการณ์ว่าความรุนแรงของลมสุริยะมีแนวโน้มลดลง
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA เผยว่า สำหรับผลกระทบในประเทศไทย พบว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูล local K index ตั้งแต่วันที่ 9 -11 พฤษภาคม 2567 ช่วง 3 วันที่ผ่านมา ค่า local K-index ขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ระดับ 9 หรือ G5
โดยมีความรุนแรงขั้นสูงสุดของพายุสนามแม่เหล็กโลก (Extreme level) ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ในช่วงเวลา 11:00 – 16:00 น. ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสส่งผลกระทบกับดาวเทียมที่โคจรในอวกาศ ระบบการสื่อสาร และระบบนำร่อง อาจจะถูกรบกวนหรือไม่สามารถสื่อสารได้ชั่วคราว(อยู่ระหว่างการติดตามผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว)
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา หลายประเทศที่อยู่ละติจูดที่สูงสามารถมองเห็นแสงเหนือ หรือออโรร่า ด้วยตาเปล่า และมีสีสันหลากหลายมากกว่าปกติ เนื่องจากพายุสนามแม่เหล็กโลกที่เกิดขึ้นในระดับสูง
--------------