ต่างประเทศ
เกิด โรคลึกลับอุบัติใหม่ใน “สาธารณรัฐบุรุนดี” โรคเลือดกำเดาไหลลึกลับ
โดย onjira_n
30 มี.ค. 2566
1K views
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วแอฟริกากลางเตรียมความพร้อมสูงสุดเนื่องจากมีรายงานพบผู้เสียชีวิตหลายรายที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไข้เลือดออกลึกลับใน“สาธารณรัฐบุรุนดี” โดยก่อนหน้านี้พบการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กในอิเควทอเรียลกินีและแทนซาเนียและเนื่องจากบุรุนดีมีพรมแดนติดกับแทนซาเนีย ซึ่งมีการยืนยันการระบาดของไวรัสมาร์บวร์กไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาว่าโรคติดเชื้อไข้เลือดออกลึกลับในบุรุนดีอาจมีสาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสมาร์บวร์ก แต่สาธารณสุขของบุรุนดีออกมายืนยันว่าผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบทั้งไวรัสมาร์บวร์กและอีโบลาในสารคัดหลั่งจากผู้เสียชีวิต
ประเทศบุรุนดีซึ่งอยู่ทางด้านแอฟริกาตะวันตกได้พบการระบาดของ "โรคติดเชื้อลึกลับที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตแล้ว 3 รายภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดมาจากชุมชนเดียวกัน ซึ่งตั้งแต่ปรากฏอาการและเสียชีวิตรวดเร็วกว่าไวรัสอีโบลาและมาร์บวร์กที่ผู้ติดเชื้ออาจเสียชีวิตได้ช่วง 2 วัน- 3 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยติดเชื้อโรคลึกลับจะมีอาการไข้นำ ตามมาด้วยการปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ, อาเจียน อุจจาระเป็นเลือด และ มีเลือดกำเดาไหล (nosebleed disease)
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบุรุนดีและองค์การอนามัยโลกพยายามเข้าควบคุมโรคที่คาดว่าเกิดจากไวรัสในพื้นที่จังหวัด Baziro โดยยังไม่สามารถระบุชนิดของไวรัสหรือจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุได้ มีการกักตัวผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิดสัมผัสกับผู้เสียชีวิตแล้วหลายสิบคน
รัฐบาลและสาธารณสุขบุรุนดีขอความร่วมมือจากประชาชนให้ป้องกันตนเองด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยครั้งและหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตจากโรคลึกลับ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว แพทย์ถูกส่งไปยังบุรุนดีเพื่อสอบสวนโรค "เลือดกำเดาไหล" ลึกลับทางตอนใต้ของแทนซาเนีย ซึ่งคร่าชีวิตคนสามคน และต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 พบผู้ติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 8 รายใน “แทนซาเนีย” และเสียชีวิต 5 ราย
แม้อาการของโรคลึกลับในบุรุนดีจะคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสอีโบลาและไวรัสมาร์บวร์กที่มีอันตรายสูง แต่กระทรวงสาธารณสุขของบุรุนดีได้แถลงยืนยันต่อมาว่าจากการตรวจวินิจฉัยตัวอย่างส่งตรวจจากผู้เสียชีวิตจากโรคลึกลับกลับไม่พบทั้งไวรัสอีโบลาและไวรัสมาร์บวร์ก ทางการจึงเร่งดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือจุลชีพประเภทใดที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกในครั้งนี้ เพื่อดำเนินการป้องกันและรักษาได้ตรงจุด และโรคลึกลับดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะระบาดในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือระดับโลกหรือไม่
ศูนย์จีโนมฯ รพ. รามาธิบดีเตรียมความพร้อมในการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสหรือจุลชีพที่อาจก่อโรคอุบัติใหม่หรืออุบัติซ้ำภายใน 24-48 ชั่วโมง
การระบาดของโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonotic ourtbreak) เพิ่มขึ้นอย่างมากในแอฟริกา
เมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีซาเมีย ซูลูฮู ฮัสซัน ของแทนซาเนียกล่าวว่าโรคเลือดกำเดาไหลลึกลับอาจเกิดขึ้นเนื่องจาก "ปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น" ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าอันเป็นผลมาจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเตือนว่าการเติบโตของประชากร เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูของประเทศที่ยังไม่พัฒนาก่อนหน้านี้ การบุกรุกป่าของมนุษย์ และการเติบโตของการค้าสัตว์ป่า ล้วนผลักดันให้เกิดการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของไวรัสทั้งใหม่และที่มีอยู่เดิม กลายเป็น “ศตวรรษใหม่ของโรคระบาด”
จากการวิเคราะห์ขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี ภัยคุกคามที่เกิดจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนกำลังเพิ่มขึ้นทั่วแอฟริกา
จำนวนการระบาดของโรคจากสัตว์สู่คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 63 เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า โดยมีการพุ่งสูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในปี 2562 และ 2563 โดยครึ่งหนึ่งของภัยคุกคามด้านสาธารณสุขเกิดจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และร้อยละ 70 เกิดจากโรคไข้เลือดออกจากไวรัส เช่น ไวรัสอีโบลา ไวรัสมาร์บวร์ก ไข้ลาสซา ไข้เลือดออกไครเมีย-คองโก ไข้ Rift Valley โรคไข้เลือดออกเดงกี้
องค์การอนามัยกล่าวว่าการติดเชื้อจากสัตว์แล้วกระโดดสู่คนเกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษแล้ว แต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อและการเสียชีวิตจำนวนมากนั้นค่อนข้างจำกัดวงในแอฟริกาเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ไม่ดีทำหน้าที่เป็นปราการทางธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการขนส่งที่ดีขึ้นในแอฟริกา ทำให้มีภัยคุกคามจากเชื้อโรคจากสัตว์สู่คนจำนวนมากขึ้นที่เดินทางไปยังใจกลางเมืองใหญ่ และแพร่ออกสู่โลกภายนอกทางเครื่องบินและเรือเดินทะเล จึงควรเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนก่อนที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อในวงกว้างและต้องหยุดยั้งแอฟริกาไม่ให้กลายเป็นจุดแพร่ระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง โรคอุบัติใหม่ ,โรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า ,เตรียมศึกษาโรคอุบัติใหม่