สังคม
กรมอุทยานฯ เปิดมาตราการป้องกัน รักษา โรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า หลังพบกระทิงป่วยเป็นลัมปีสกินครั้งแรก
โดย sujira_s
22 ส.ค. 2564
40 views
นายวิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรณีที่พบกระทิงป่วยและเสียชีวิตยืนยัน จำนวน 1 ตัว ด้วยโรคไวรัสลัมปีสกิน(Lumpy skin disease:LSD) ครั้งแรกในประเทศ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จึงได้ทำการสำรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน และเป็นการยกระดับการปกป้องคุ้มครองในฐานะพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ โดยการลงพื้นที่และร่วมกำหนดมาตรการกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานปกครองท้องถิ่น
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบนโยบายและมาตรการต่างๆ โดยกำหนด พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ป่า ได้แก่ พื้นที่ป่ามรดกโลกแก่งกระจาน ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง ป่ามรดกโลกเขาใหญ่ – ดงพญาเย็น และพื้นที่ป่ารอยต่อห้าจังหวัด รวมถึงพื้นที่อื่นๆที่มีสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อโรคลัมปีสกินและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า จากการดำเนินการตามมาตการของกรมอุทยานฯ ตั้งแต่มีรายงานการระบาดโรคลัมปีสกินในประเทศ ที่มีแมลงดูดเลือดเป็นพาหะ พบกระทิงที่จัดกลุ่มเป็น 'สัตว์ป่ายืนยัน' 1 ตัว และ 'สัตว์ป่วยสงสัย' จำนวนหลายตัว กระจายอยู่ในแต่ละฝูงแต่ละพื้นที่ อัตราการป่วยอยู่ที่ 4-45% โดยเฉพาะในลูกกระทิงและกระทิงที่ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมาได้ส่งตรวจอย่างส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ ได้แก่ แก่งกระจาน 2 ตัว เขาแผงม้า 6 ตัว ไม่พบสารพันธุกรรมของไวรัสลัมปีสกิน
ส่วนที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี 3 ตัว พบผลบวก 1 ตัว อีก1 ตัวไม่พบ และอีก 1 ตัวรอผล กรมอุทยานฯจึงได้เพิ่มมาตรการเชิงรุก (นอกเหนือจากการทำวัคซีนในปศุสัตว์ งดการเคลื่อนย้ายสัตว์เลี้ยง การป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ การจัดทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ) ซึ่งข้อมูลในการรักษาสัตว์เลี้ยงพบว่า เมื่อพบสัตว์ที่ป่วย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม อัตราการรอดชีวิตสูง จึงได้เตรียมพร้อมทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เวชภัณฑ์ เพื่อเข้ารักษาทันที หากพบตัวที่ป่วยหนักอยู่ในป่า รวมถึงการทำแหล่งดินโป่งที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆที่จำเป็นแก่สัตว์กินพืช และเพิ่มวิตามิน A D E และ Selenium เพื่อช่วยในการรักษาบาดแผล และเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนก้อนแร่ธาตุและวิตามินต่างๆจำนวน 2 ตันจากบริษัท ภัสร์-ฟาร์ม จำกัด พบกระทิงและวัวแดง รวมถึงช้างป่า จำนวนมาก ลงมากินและใช้ทันทีหลังจากดำเนินการ
โดยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เติมคลังยา เพื่อป้องกันและรักษาโรคลัมปีสกิน จำนวน 3 จุด ได้แก่ ได้แก่หน่วยพิทักษ์ห้วยคมกฤษ และบริเวณข้างแหล่งน้ำอีกสองแห่ง พบกระทิงและช้างป่าลงมาใช้
ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เติมคลังยาทั้งหมด 12 แหล่ง จากการตรวจสอบภาพพบกระทิงจำนวน 66 ตัว และวัวแดงจำนวน 4 ตัว ที่สงสัยว่ามีร่องรอยโรคลัมปีสกิน ในกล้องถ่ายภาพจำนวน 12 จุด ได้แก่
จุดที่ 1 แปลงหญ้าปศุสัตว์ทางเข้าบ่อ 5 พบกระทิงจำนวน 12 ตัว
จุดที่ 2 บ่อ5 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว
จุดที่ 3 แปลงหญ้า WWF ทางเข้าบ่อ 8 พบกระทิงจำนวน 9 ตัว
จุดที่ 4 สระป่าสนไฟไหม้ พบกระทิงจำนวน 4 ตัว
จุดที่ 5 แปลงหญ้า 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 14 ตัว และวัวแดงจำนวน 3 ตัว
จุดที่ 6 แปลงหญ้าสยามไวน์ / บ่อช้างใหม่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว
จุดที่ 7 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 7 ตัว
จุดที่ 8 แปลงหญ้าทหาร พบกระทิงจำนวน 12 ตัว และวัวแดงจำนวน 1 ตัว
จุดที่ 9 แปลงหญ้าโป่งสลัดได พบกระทิงจำนวน 1 ตัว
จุดที่ 10 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 2 ตัว จุดที่ 11 แปลง 200 ไร่ พบกระทิงจำนวน 3 ตัว จุดที่ 12 แปลงหญ้าสยามไวน์ / ต้นมะค่าโมง พบกระทิงจำนนวน 4 ตัว
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการดำเนินการ ติดตาม พบกระทิงออกมาหากินจำนวนมาก ออกมากินแร่ธาตุ วิตามิน หลังจากที่ทำไว้ 1 คืน สามารถถ่ายรูปและประเมินสุขภาพได้ง่าย มีบางตัวพบรอยโรคที่ไม่รุนแรง บริเวณสะโพกทั้งสองข้าง ยังไม่พบการแพร่กระจายหรือแตกของตุ่มรอยโรค ตุ่มรอยโรคลัมปีสกิน ตามนิยามที่เกิดขึ้นจะเป็นตุ่มนูนแข็งขนาด 2-5 เซนติเมตร และแตกเป็นแผล อาจตกสะเก็ด หรือติดเชื้อขึ้นมา โดยในสัตว์ป่ามีปัจจัยป้องกันตัวเองจากการติดต่อโรคที่นำโดยแมลงได้แก่
1. ห่วงโซ่ป้องกัน ผู้ปัดเป่า จิกกิน กระทิงทุกฝูง และแทบจะทุกตัว มีนกเกาะและเดินตามดั่งผู้อารักขาความปลอดภัย นกเหล่านี้ เช่น นกเอี้ยง นกกระยาง ก็จะคอยจิกกินแมลงต่างๆที่เกาะตามตัวกระทิง เป็นระบบพึ่งพาที่ช่วยป้องกันพาหะนำโรคที่ดูน่ารักดี
2.นิเวศน์ป้องกัน กระทิงอยู่ในทุ่งหญ้า ที่โล่ง เวลามีแมลงมากัดหรือเกาะก็จะตกใจ ก็วิ่ง เป็นการหนีแมลงไม่ให้มาเกาะ โอกาสได้รับเชื้อซ้ำๆจากแมลงที่มากัดก็จะน้อย (หากเป็นสัตว์ที่อยู่ในคอก ไปไหนไม่ได้ โอกาสที่ถูกรุมกัดบ่อยๆจนได้รับเชื้อไวรัสซ้ำๆ รอยโรคมาก อาการก็จะรุนแรง)
3.กายวิภาคป้องกัน สัตว์กีบ จำพวกวัว ควาย กระทิง วัวแดง จะมีกล้ามเนื้อที่คอยสั่นและกระตุก คือกล้ามเนื้อ cutaneous trunci ที่จับกับผิวหนังทำให้ผิวหนังเคลื่อนไหวได้ เวลาที่มีแมลงมาเกาะ ซึ่งเป็นป้องกันและไล่แมลงทางสรีระวิทยาที่อัศจรรย์
4.ห้องพยาบาล คือแหล่งดินโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารเสริมของสัตว์กินพืชที่สำคัญ อย่างที่เรารู้กัน แต่รู้ไหมครับว่า ในดินโป่งที่ประกอบไปดินเกลือแร่ แร่ธาตุต่างๆมากมาย จะเป็นตัวไล่แมลงและพยาธิภายนอกได้ จากการลงไปถูตัว และเกลือเหล่านี้ก็ยังช่วยรักษาบาดแผลต่างได้เป็นอย่างดี.
5.สปาบำบัด ปลัก แหล่งน้ำ เป็นอีกจุดหนึ่งในป่าที่สัตว์สามารถเอาดินโคลนมาพอกให้หนา เพื่อกันแมลงกัน สร้างความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ตรงไหนที่มีแหล่งน้ำ ที่ลึกท่วมถึงหลัง ก็ช่วยในการหลีกหนีการกันของแมลงนำโรคได้เช่นกัน โดยปัจจัยเรื่องฝนตก ก็ส่วนหนึ่งในการป้องกันด้วยเช่นกัน
6.อิสระกระตุ้นภูมิคุ้มกัน กระทิง วัวแดง ควายป่า ที่อยู่ในสถานที่ธรรมชาติ กว้างขวาง ปลอดภัย ปราศจากการคุกคามด้านต่างๆ ความเครียดในการดำรงชีวิตก็จะน้อย หากเทียบกับสัตว์ที่ถูกอยู่ในพื้นที่แคบหรือจำกัด ซึ่งเมื่อร่างการเกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันก็จะลดลง โอกาสติดเชื้อจากแมลง จนเกิดเป็นรอยโรคและอาการป่วยก็จะมากขึ้น
7.คลังยาที่ซ่อนอยู่ พืชอาหารบางชนิด กินในสภาวะปกติ และในบางสภาวะที่ร่างกายผิดปกติ พืชบางชนิดก็เป็นสิ่งจำเป็น นั่นหมายถึงเมื่อเวลาสัตว์ป่า บาดเจ็บหรือป่วย ก็มักจะกินพืชอาหารในป่าหลากหลายชนิดเพื่อเป็นสมุนไพรรักษาตัวเอง
8.ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นการป้องกันพื้นฐานที่สัตว์ป่ามี เมื่อมีแมลงมาเกาะหรือกัดจนเจ็บและเกิดความรำคาญ ก็มีจะเห็นกระทิงมาใช้ปากเลียตามตัว ลิ้นกระทิงจะสากมาก ทำความสะอาดตัว เลียแผล ไล่แมลงให้กันเอง บางครั้งก็เอาตัวมาเบียดถูกกัน ป้องกันแมลงให้กัน โดยเฉพาะในลูกกระทิง ที่มีโอกาสเสี่ยงมากที่สุด
9.ห้องน้ำที่กว้างใหญ่ และมีระบบกำจัดที่ดี เป็นการลดการหมักหมมของมูลและฉี่ เพราะเดินกินไปก็อึไป กระจายไปเป็นปุ๋ย จุลินทรีย์ย่อยสลายและแสงแดดทำให้แห้ง โอกาสทับถมของกองมูล ซึ่งเป็นแหล่งรวมของแมลงนำโรคก็น้อยลง
10.Wax ที่เคลือบผิวหนังกระทิง เป็นน้ำมันสีดำ จับแล้วจะเป็นสีดำติดมืออุ่นๆ เป็นตัวช่วยให้ความอบอุ่นของกระทิงในช่วงอากาศหนาว ลดการเสียดสี เกิดบาดแผล จากการเดินไปป่าที่รกมีหนาม ผิวหนังกระทิงที่เราเห็นเป็นมันวาว ถ้าเอามือถู จะเป็น wax ลื่นๆติดมือ โอกาสที่แมลงบางชนิดมาเกาะก็จะลื่น ยังไม่รวมถึงการขึ้นของขนกระทิงที่ผิวหนัง ในบางช่วงฤดู เช่น หน้าหนาว ขนจะขึ้นหนาแน่นมากกว่าหน้าร้อน เพื่อผลในการระบายความร้อนให้กับร่างกาย
จากการประเมินระยะฟักตัวของโรคที่ 28 วัน หลายพื้นที่ยังไม่พบรายงานการพบซากหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ในแต่ละพื้นที่ได้ติดตามความรุนแรงของรอยโรคที่เพิ่มขึ้นของสัตว์ที่และการแพร่กระจายรอยโรคของสัตว์ในฝูงว่ามีเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่ง ณ เวลานี้ระยะเวลาที่มีรายงานการระบาดในประเทศ 5 เดือน รายงานการเกิดโรคในกระทิงผ่านมาแล้ว 3 เดือน และนอกจากจะมีการเฝ้าระวังและติดตามในทุกพื้นที่อย่างเข้มข้นแล้ว ก็จะได้มีการดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและกุยบุรี เพื่อเป็นการเสริมมาตรการป้องกันโรคในสัตว์ป่าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงจะได้มีการเตรียมแผนที่จะสำรวจโรคโรคลัมปีสกิน เชิงรุกด้วยการสุ่มเก็บตัวเลือด ตัวอย่างรอยแผลชิ้นเนื้อจากกระทิง เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประกอบผลการสืบสวนโรคต่อไป