เปิดปฏิบัติการตรวจสอบซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ลักลอบขายสินค้าผิดกฎหมาย ยึดของกลางกว่า 2 พันชิ้น

อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. สำนักอนามัย และสำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร เปิดปฏิบัติการตรวจสอบดำเนินคดีซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ลักลอบขายสินค้าอุปโภคบริโภคผิดกฎหมายหลายสาขา ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ยึดของกลาง รวมทั้งสิ้น 2,436 ชิ้น เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป



เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. และเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร (สำนักอนามัย และสำนักงานเขต) เข้าตรวจซูเปอร์มาร์เก็ตจีน จำนวน 8 แห่ง ดังนี้

1) ร้านสาขาสวนเพลิน มาร์เก็ต เขตคลองเตย พบผลิตภัณฑ์อาหารไม่แสดงฉลากภาษาไทย ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท รวม 611 ชิ้น

2) ร้านสาขารามคำแหง 2 เขตประเวศ พบอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท รวม 487 ชิ้น

3) ร้านสาขาเยาวราช แยก S.A.B เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พบอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เช่น อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น รวม 377 ชิ้น

4) ร้านสาขาอนุสาวรีย์ เขตราชเทวี พบอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เช่น อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เป็นต้น รวม 343 ชิ้น

5) ร้าน ซุปเปอร์มาร์เก็ต เขตวังทองหลาง พบอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย เช่น อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เป็นต้น รวม 117 ชิ้น

6) บริษัทซุปเปอร์มาร์เก็ต เขตห้วยขวาง พบอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ได้แก่ เครื่องดื่มผงสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภค (เมล็ดทานตะวันอบเกลือ น้ำพริกเผา และลูกพรุนอบแห้ง) และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ปลาแห้งปรุงรส) เป็นต้น รวม 324 ชิ้น

7) ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจีน เขตห้วยขวาง พบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น อาหาร
ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น รวม 152 ชิ้น

8) ร้านตลาดสดธนบุรี เขตทวีวัฒนา พบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย ได้แก่ เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท วุ้นสำเร็จรูปและขนมเยลลี่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที และชา เป็นต้น รวม 25 ชิ้น


จากการตรวจสอบพบอาหารไม่มีเลข อย. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรืออาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง 102 รายการ รวมทั้งสิ้น 2,436 ชิ้น ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 6 (10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งนี้ ได้มอบเอกสารพยานหลักฐานและผลิตภัณฑ์อาหารที่ตรวจยึดได้ ให้พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดดังกล่าวต่อไป


รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า จากการข่าวทราบว่าอาหารลักลอบหนีภาษีจากประเทศจีนถูกนำเข้ามายังประเทศไทย โดยรถบรรทุกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว นำเข้ามาเก็บในโกดังแถวจังหวัดปริมณฑลแล้วกระจายขายต่อในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ อย. จะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพอาหาร เครื่องสำอาง ลักลอบนำเข้าไม่เสียภาษีศุลกากรต่อไป และ อย. จะตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารโดยเข้มงวดและดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด  ให้ตรวจสอบเฝ้าระวังในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงขอเตือนให้ร้านค้าจำหน่ายสินค้านำเข้า เลือกสินค้าที่ถูกกฎหมายมาขายในร้าน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย


ในส่วนของผู้บริโภค ต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทยมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน ระบุชื่ออาหาร ชื่อ ที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบ น้ำหนักสุทธิ และเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. การรับประทานอาหารที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (ไม่มี อย.) อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่ชัด ไม่มีการรับรองว่าสถานที่ผลิตนั้นถูกสุขลักษณะหรือไม่ ใส่สารใดลงไปในอาหารบ้าง หากผู้บริโภคพบการกระทำผิดแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556

โดย gamonthip_s

12 ก.ย. 2567

398 views

EP อื่นๆ