สิ่งแวดล้อม
เยาวชนไทย ร่วมจัดกิจกรรมคู่ขนาน COP28 สะท้อนปัญหาโลกรวน ที่ต้องเร่งช่วยกันแก้
โดย panwilai_c
9 ธ.ค. 2566
407 views
Youth women and gender pavillion เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนสายหลักของ Blue zone ภายในมีกิจกรรมของกลุ่มมหาวิทยาลัยจากนานาชาติ และ องค์กรระหว่างประเทศ จัดคู่ขนานไปกับงาน ทั้งเวทีเสวนา และ กิจกรรมเวิร์คชอป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวข้อเดียวกันกับการประชุม เช่น การบริหารจัดการกองทุน การแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย และ ท่าทีของแต่ละประเทศ โดยทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนกระทบคนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย
อัซมานี เจ๊ะสือแม หรือ มาเน่ ในวัย 21 ปี จากจังหวัดนราธิวาส คือ ตัวแทนเยาวชนจากชาติเอเชียเพียง 1 เดียวที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเธอใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง เธอจึงใช้โอกาสบนเวทีของ UNDP ใน COP28 สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเกิด และ เสนอ ให้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสิ่งแวดล้อมและ climate change เข้าไปในหลักสูตรการศึกษาของทุกช่วงวัยให้ทันสมัยมากขึ้น
ผ้ามูน กมลจันทร์ เป็นตัวแทนเยาวชนไทยจากสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเสนอประเด็นวัฒนธรรมและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผ่าน workshop การเรียนรู้ที่ UNESCO Greening Education Hub ซึ่งบ่อยครั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ ชนท้องถิ่นในแต่ละประเทศมักถูกยกมาเป็นข้ออ้างด้านการจัดการปัญหาโลกร้อนโดยขาดความเข้าใจในบริบททางภาษาและวัฒนธรรม จนเป็นผลเสียตามมา
จึงเป็นที่น่าดีใจที่การเจรจาระดับรัฐมนตรีระดับสูงเพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศตามวัฒนธรรม ได้บรรจุประเด็นผลกระทบด้านวัฒนธรรมสำหรับการหารือในครั้งหน้าแล้ว
สำหรับที่ไทยพาวิลเลียนเอง ที่นี่จัดกิจกรรมไซต์อีเว้น ที่เน้นการมีส่วนร่วมกับเยาวชน โดยเปิดให้เยาวชนจากหลากหลายชาติได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในมุมมองของเยาวชน
ตัวแทนจุฬา แชร์ประสบการณ์จากการทำโครงการจุฬา nueatral และ net zero ภายในปี 2035 ซึ่งดำเนินมาได้กว่า 2 ปีแล้ว ในฐานะสถานศึกษา โดยการสร้างจิตสำนึกให้กับนิสิต เปลี่ยนวิธีคิดเริ่มจากการแก้ปัญหาที่ตัวเอง เพราะต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่าเยาวชนรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับปัญหาโลกร้อนอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
นางสาวจิตใส สันตะบุตร ตัวแทนทูตเยาวชน SDG7 Global ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร่วมเวทีที่ไทยพาวิลเลี่ยน ก็เป็นอีก 1 ตัวแทนภาคเยาวชนที่เข้าร่วมการประชุมมาแล้วถึง 8 เวที ซึ่งเธอให้ความสนใจในประเด็น global stocktake หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส เป็นพิเศษ และยังมีประเด็นความชัดเจนในการบริหารจัดการกองทุนโลกร้อน รวมทั้งความชัดเจนในความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกภาคส่วนร่วมด้วย
เวทีภาคเยาวชนในไทยพาวิลเลียน ยังเปิดโอกาสให้เยาวชน ส่งข้อความสั้นๆ ถึงเหล่าผู้นำประเทศและองค์กรต่างๆ ผ่านเสียงสะท้อนของพวกเขา ซึ่งเยาวชนยืนยันว่า ทุกคนมีศักยภาพมากพอหากได้รับการสนุน เพราะพวกเขาคือกำลังสำคัญในการรับมือกับการเปลีย่นแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต และจะนำการแลกเปลี่ยนแนวทางกับเพื่อนๆ เยาวชนจาก COP28 กลับมาปรับใช้กับปัญหาที่ไทยอย่างแน่นอน ธีรุตม์ นิมโรธรรม รายงานจากรัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แท็กที่เกี่ยวข้อง ประชุม COP28 ,เยาวชนไทย ,ปัญหาโลกรวน