เศรษฐกิจ

สรุป 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แหล่งที่มาเงิน-เงื่อนไข ใครได้ 1 หมื่น ได้เงินเมื่อไหร่ ใช้ได้ที่ไหน

โดย passamon_a

11 เม.ย. 2567

1.2K views

เศรษฐา ลั่นทำตามสัญญาเงินดิจิทัล 1 หมื่น ใช้ได้ไตรมาส 4 ชี้แหล่งที่มางบ 500,000 ล้าน ไร้เงินกู้ ดึงเงิน ธ.ก.ส.ช่วยกลุ่มเกษตรกร ย้ำเป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง เผยนับรวมเซเว่น เป็นร้านค้าขนาดเล็กตามเงื่อนไข


เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล กว่า 1 ชั่วโมง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมด้วย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล


โดยก่อนเริ่มเข้าสู่เนื้อหาการแถลง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ฝนตกเมื่อเริ่มเข้าสู่เดือนเมษา ชุ่มฉ่ำใจเป็นอย่างยิ่งครับ เป็นนิมิตหมายอันดีนะครับวันนี้” เนื่องจากก่อนเริ่มแถลงข่าว ที่ทำเนียบรัฐบาลมีฝนตกลงมาและตกต่อเนื่องถึงช่วงแถลงข่าว


จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าสู่เนื้อหาการแถลงข่าว โดยระบุว่า รัฐบาลมีความยินดีที่จะประกาศให้ประชาชนทราบว่า นโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่จะยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งระดับประเทศและระดับประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุด ฝ่าฟันทุกอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนรัฐบาลทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ได้ส่งมอบนโยบายพลิกชีวิตประชาชน และที่สำคัญเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด โดยให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียนและยืนยันตัวตนได้ในไตรมาส 3 ของปี 2567 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนในไตรมาส 4 ปี 2567


นายเศรษฐา กล่าวว่า นโยบายนี้เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงกระจายทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนในระบบถึงฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เตรียมพร้อมประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ เพิ่มความโปร่งใสการชำระเงิน


นายรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ  โดยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนและชุมชน มีความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจ พึ่งพาตนเองได้ สร้างโอกาสประกอบอาชีพของประชาชน ก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม


ทั้งนี้ ความคุ้มค่าจะให้สิทธิ์แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด เป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 1.2-1.6% ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียดของโครงการ  รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ เป็นไปตามกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด


“การแถลงครั้งนี้ก็ชัดเจน ในแง่ของหลักการและจุดประสงค์ว่าเราต้องการทำเพื่ออะไร แหล่งที่มาที่ไปของเงินคอนดิชั่นที่จะได้รับเงิน และคณะกรรมการที่จะมาดูแลเรื่องความโปร่งใส เป็นวันที่รัฐบาลมีความดีใจที่ประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเงินดิจิทัล ที่จะถึงมือในปลายปีนี้” นายเศรษฐา กล่าว


ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า วงเงิน 500,000 ล้านบาท บริหารจัดการผ่านงบประมาณทั้งหมด ใช้งบประมาณในปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กันไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ 1 คือเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

ส่วนที่ 2 การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท จะใช้มาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแล กลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกร

ส่วนที่ 3 การบริหารจัดการฐานเงินงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้าน ซึ่งอาจมีการใช้งบกลางเพิ่มเติม หากวงเงินไม่เพียงพอ  


โดยหากรวมทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ก็จะได้วงเงิน 5 แสนล้านบาท พร้อมยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลังและกฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา พร้อมขออย่ากังวล และยืนยันว่าไม่ได้ใช้เงินสกุลอื่นแต่อย่างใด


ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า คณะกรรมการให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น โดยสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ คณะกรรมการให้ความเห็นชอบว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ  รวมถึงมีแนวโน้มในการเติบโตลดลง เผชิญความท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ปัญหาหนี้ครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลก รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวสู่ชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงในด้านการคลัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนการรักษาวินัยการเงินการคลัง


คณะกรรมการได้วางแนวทางการดำเนินโครงการ และรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ คือ

1. กลุ่มเป้าหมายประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ให้แก่ผู้มีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือ มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

2. เงื่อนไขการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า โดยใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ กำหนดให้มีการใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น กลุ่มที่สอง เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่ และร้านค้าต่อร้านค้าที่มีการแลกเปลี่ยนด้วยการใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ

3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดขึ้น

4. สำหรับการใช้จ่ายโครงการ จะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเอง โดยหน่วยงานของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล ด้วยการใช้งานจะต้องให้ใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open loop จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความรอบครอบ และสามารถตอบตรวจสอบได้

5. คุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการ จะต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ส่วนการถอนเงินสด ร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย จะถอนเงินสดได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต เพิ่มผลกระตุ้นเศรษฐกิจ

6. สำหรับระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายในไตรมาส 4 ของปี 2567

7. เพื่อป้องกันทุจริต จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เป็นกรรมการ

8. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet  มีนายจุลพันธ์เป็นประธาน ทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามเงื่อนไขและระเบียบที่ถูกต้อง รวมไปถึงประชาสัมพันธ์โครงการ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการ นำมติที่ได้รับการเห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายนนี้


เมื่อถามว่า ความตั้งใจผิดจากแรกในการหาเสียงหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ทุกอย่างชัดเจนในแง่ของหลักการ ว่าเราต้องทำเพื่ออะไร แหล่งที่มาของเงิน มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ที่ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ เพื่อให้โครงการนี้เป็นโครงการที่โปร่งใส ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์เข้าไปอยู่กับประชาชน


ส่วนที่ไม่ใช้การกู้เงิน แต่ใช้เงินจาก ธ.ก.ส.นั้น เงินที่จะใช้จาก ธ.ก.ส. ต้องมีการตั้งงบประมาณในการใช้หนี้และดอกเบี้ยอย่างไร ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า เหตุผลที่ใช้เงินจากธนาคาร ธ.ก.ส.เพราะมีสภาพคล่อง ตนยืนยันว่าจะมีการตั้งงบคืน ซึ่งต้องขอรอดูงบปี 2568 ออกมาก่อนจึงจะทราบรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง


เมื่อถามว่าเงินที่จะเข้ากระเป๋าประชาชน 10,000 บาท จะเข้าล็อตเดียวหรือทยอยจ่าย นายจุลพันธ์ ระบุว่า เข้าครั้งเดียว เมื่อถามต่อว่าร้านค้าที่จะเบิกเงินได้ เมื่อมีการใช้จ่ายของประชาชนเป็นครั้งที่ 2 จะมีการวัดเกณฑ์อย่างไรนั้น นายจุลพันธ์ อธิบายว่ามีข้อห่วงใยในเรื่องของทุจริตคอรัปชั่น


ส่วนที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยหรือการตั้งคำถามตามมาหรือไม่ นายจุลพันธ์ระบุว่าไม่น่าเกิดประเด็นอะไร เนื่องจากส่งตัวแทนมา เป็นไปตามกฎหมายถูกต้องทุกประการ หลายท่านก็อาจจะไม่อยู่ในที่ประชุมในครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีประเด็นอะไร


เมื่อถามต่อว่า นายกฯเองก็ไม่ได้ซีเรียสใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ท่านบอกว่าท่านติดภารกิจ ก็รับทราบอย่างที่รัฐมนตรีช่วยบอก เป็นไปตามกฎหมายมีการส่งมอบตัวแทนมา ทุกอย่างเป็นไปอย่างชอบธรรมและถูกต้อง


เมื่อถามต่อว่าเซเว่นกับแม็คโครใช่ร้านค้าขนาดเล็กหรือไม่ นายจุลพันธ์ ระบุว่า รายละเอียดนี้สุดท้ายจะต้องมีการข้อสรุปอีกรอบ แต่ในเบื้องต้น เซเว่นหรือเป็นร้านค้าขนาดเล็ก แต่แม็คโครถือเป็นห้างสรรพสินค้า ไม่รวมอยู่ในเงื่อนไข


ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขยายความเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่มีการระบุร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากต้องการกระจายเงินให้ชุมชนมากที่สุด โดยร้านค้าจะไม่รวมห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ แต่รวมร้านประเภทร้านสะดวกซื้อ ทั้งแบบการแสตนอโลนและตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมัน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/LwGGhm5NLfI

คุณอาจสนใจ

Related News