อาชญากรรม
พ่อแม่ยินยอมให้เด็ก 14 กราดยิงพารากอน รักษาตัวต่อ - ครอบครัวเหยื่อ ลั่นเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม
โดย passamon_a
2 ม.ค. 2567
228 views
กรมพินิจฯ ส่งมอบตัวเด็ก 14 มือกราดยิงพารากอน ให้ผู้ปกครอง ขณะที่ผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันกัลยาฯ รักษาเด็กต่อไป โดยยังไม่สามารถระบุกรอบเวลาได้ ส่วนเรื่องอาการ-คดี แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้นว่าหายและสามารถกลับมาต่อสู้คดีได้ ขณะที่อัยการระบุ แพทย์ต้องค้นหาให้ได้ว่า "เด็กป่วย ไม่ใช่เด็กแกล้ง ไม่ใช่ลืม" รวมถึงปัจจัยกระตุ้น-ปมการก่อเหตุ
ด้าน ครอบครัวน้องหนุงหนิง เหยื่อเด็ก 14 กราดยิงกลางพารากอน ลั่นเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ หลังพ้นกำหนดคุมตัวมือยิง ต้องรักษาตัวต่อจนกว่าจะหายถึงดำเนินคดีได้ ชี้พฤติกรรมแบบนี้ไม่เด็กแล้ว เชื่อเด็กรู้เรื่อง อยากให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
จากกรณีสำนักงานอัยการพิเศษ คดีเยาวชนและครอบครัว 3 ส่งคืนสำนวนการสอบสวนคดีเยาวชนอายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน กลับไปยังพนักงานสอบสวน เนื่องจากแพทย์วินิจฉัย และรายงานว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ และในวันที่ 31 ธ.ค.66 จะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว
ซึ่ง นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า หลังจากปล่อยตัวต้องมีการพูดคุยถึงเรื่องการรักษาตัวเด็กชายวัย 14 เนื่องแพทย์ได้ลงความเห็นว่า เด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม และต้องหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช แพทย์จึงยืนยันว่า จะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตามกฎหมาย เนื่องจากการรับการรักษาต่อนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองเอง
ล่าสุดวานนี้ (1 ม.ค.67) เวลา 10.30 น. ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ มีการประชุมหารือระหว่างร่วมกันผู้ปกครองเด็ก เจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ และแพทย์จากสถาบันกัลยา
ต่อมาเวลา 11.00 น. หลังการประชุมเสร็จสิ้น รถของเจ้าหน้าที่กรมพินิจฯ แพทย์และผู้ปกครอง ทยอยขับรถออกจากโซนอาคารรักษาตัวของผู้ป่วย ซึ่งปิดกั้นไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป ในส่วนของผู้ปกครองเด็กชายวัย 14 ไม่มีการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ต่อมา น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กรมพินิจฯ ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวเด็ก จึงมาแจ้งสถาบันกัลยาฯ และส่งมอบให้ผู้ปกครองลงนามรับตัวเด็ก ก่อนจะหารือเรื่องการรักษาตัวต่อภายในสถาบันฯ ซึ่งบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดี โดยผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันฯ รักษาตัวต่อไป โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอง แต่ไม่สามารถระบุกรอบเวลาการรักษาตัวได้ จากนี้ถือว่าหมดอำนาจการควบคุมของกรมพินิจฯ แล้ว ส่วนการจะรักษาตัวนานเท่าใดและมีแผนการรักษาอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเป็นดุลพินิจของแพทย์ แต่ตอนนี้กรมพินิจฯ ได้หมดอำนาจการควบคุมตัวแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของทางแพทย์กับครอบครัว ส่วนเรื่องคดี แพทย์จะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยการประเมินสุขภาพต่าง ๆ และนำส่งให้กับทางพนักงานสอบสวนต่อไป
ขณะที่ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว ถึงกระบวนการต่อจากนี้ ว่า จากนี้ในส่วนของการดูแลเด็ก 14 เป็นภารกิจของคณะทำงานของสหวิชาชีพ โดยมีจิตแพทย์ของทางสถาบันกัลยาฯ และคณะเป็นคนดูแล บำบัดให้หายป่วยตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต 2551 ซึ่งการรักษาอย่างที่ตนนำเรียนไปว่า อำนาจของสถานพินิจได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากว่าพนักงานอัยการไม่สามารถฟ้องภายในผัดที่ 4 เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.66 ที่ผ่านมาได้ทัน เนื่องจากสำนวนที่พนักงานสอบสวนทำมานั้นฝ่าฝืนต่อวิอาญา มาตรา 14 ที่สอบสวนในขณะที่เด็กยังมีอาการป่วย และต้องรักษาอาการทางจิตอยู่ และได้ตีสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวนให้หยุดกระบวนการสืบสวน
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า จากนี้แพทย์จะทำงานคู่ขนาน คือ การรักษาตัวเด็ก 14 ให้หายป่วยด้วยการดูแลจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช หากไม่หายก็ต้องดำเนินการรักษาต่อเนื่อง ซึ่งทีมแพทย์จะต้องรายงานพนักงานสอบสวนทุก ๆ 180 วัน หากไม่หายก็ยังต้องรักษาและรายงานตามกำหนดทุกครั้ง
นอกจากรักษาตัวเด็กให้หายป่วยแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญที่แพทย์ไม่สามารถปล่อยเด็กออกไปได้ เพราะยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุปัจจัยในการก่อเหตุได้ กระบวนการตรงนี้เรียกว่า นิติจิตเวช แพทย์ต้องหาสาเหตุว่าปัจจัยที่นำมาสู่การก่อเหตุคืออะไร ปัจจัยกระตุ้นคืออะไร อะไรจะเป็นสิ่งที่ปกปกป้องไม่ให้เด็กทำผิด ทางทีมแพทย์ต้องค้นหาสิ่งเหล่านี้ หากปล่อยไปโดยไม่ค้นหา จะเป็นเรื่องที่เสี่ยงและอันตรายทั้งต่อตัวเด็ก 14 อันตรายต่อคนใกล้ชิดและสังคม เพราะฉะนั้นขอให้สังคมรอการทำงานของทีมแพทย์ เมื่อผลออกมาแล้วและเด็กหายป่วย เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนสังคมเองก็จะมีความปลอดภัย
นายประยุทธ ย้ำว่า การรักษาต้องใช้เวลา ต้องใช้เจ้าหน้าที่จากหลากหลายทีมมาประเมินร่วมกัน เพราะคนที่อยู่ในภาวะนี้ ต้องค้นหาให้ได้ว่า "เด็กป่วย ไม่ใช่เด็กแกล้ง ไม่ใช่ลืม" ซึ่งทีมแพทย์มีหลักวิชาชีพในการประเมิน ต้องฟังแพทย์เท่านั้น พร้อมยกตัวอย่างว่า เวลาเรามองตึก ทางกายภาพมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ มองด้วยสายตาไม่ได้ต้องฟังวิศวกร ฟังคนที่ออกแบบตึก ทำนองเดียวกันการรักษาคนไข้ต้องฟังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและสังคมภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษา สามารถฟังได้ แต่ต้องฟังด้วยความระมัดระวัง
ส่วนการรักษาตลอดช่วงเวลาที่มีการควบคุมตัว 180 วันที่ผ่านมา แพทย์ยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุ ปมเหตุดังกล่าวได้เลยใช่หรือไม่ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ย้ำว่า ประเด็นนี้ตนไม่ก้าวล่วง แต่สิ่งที่สรุปได้ ณ เวลานี้คือ "เด็กยังป่วยอยู่" ขณะเดียวกันคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึ่งจะหมดอายุความวันที่ 3 ตุลาคม 2586 ยังมีเวลาเพียงพอให้แพทย์ทำงาน
นอกจากนี้ ทีมข่าวได้คุยกับ พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ที่ก่อนหน้านี้ให้ข้อมูลว่า เข้าไปสอบปากคำเด็ก 14 ในกระบวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหว บันทึกวีดีโอเอาไว้ตลอดการสอบสวนและเป็นไปตามกระบวนการอย่างถูกต้อง ซึ่งในช่วงการสอบสวน ผู้ต้องหาสามารถตอบคำถามได้ แต่พอสอบถามประเด็นที่เกี่ยวกับคดี (กราดยิงที่พารากอน) ผู้ต้องหาก็จะให้การว่า "จำไม่ได้" ซึ่งในส่วนนี้ทางตำรวจได้นำวิดีโอไปให้แพทย์เจ้าของไข้ เพื่อประกอบคำประเมิน และวินิจฉัยแล้ว
เมื่อถามย้ำล่าสุดหลังจากผู้ปกครองเด็ก 14 ยินยอมให้รักษาต่อเนื่องหลังครบกำหนดปล่อยตัวแล้ว ตำรวจมีความเห็นเช่นเดิมหรือไม่ที่ยืนยันว่าเด็กสามารถต่อสู้คดีได้ ประเด็นนี้ พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ระบุว่า ขออนุญาตหยุดพูดถึงประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นความเห็นระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งอัยการสั่งมาแบบนี้แล้ว ทางตำรวจไม่มีประเด็นโต้แย้ง
ทั้งนี้ กระบวนการสอบสวนทุกย่างตอนนี้ต้องหยุดไว้ก่อน แต่อย่างไรก็ตามพยานหลักฐานทางคดีตอนนี้ครบถ้วนแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม เหลือเพียงการสอบปากคำตัวผู้ต้องหาหรือเด็ก 14 เท่านั้น ส่วนอาการของเด็กทางตำรวจได้ประสานกับทีมแพทย์อย่างใกล้ชิดว่าให้รายงานอาการเด็กให้ทราบ หากมีผลวินิจฉัยแล้วให้รีบแจ้งมา ส่วนการประเมินอาการทางจิตของเด็กอีกครั้ง ตนยังไม่ทราบวันและเวลาชัดเจนแต่คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงเดือน ม.ค.67 นี้
ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าตำรวจเตรียมจะดำเนินคดีกับพ่อแม่เด็ก 14 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 นั้น พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ระบุว่า ในส่วนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องอาศัยปากคำของเด็ก 14 โดยเฉพาะในเรื่องของเลี้ยงดูจากผู้ปกครองก่อน ว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็กหรือไม่ ซึ่งยังไม่สามารถสอบปากคำได้ จะต้องรอให้เด็ก 14 รักาตัวจนหายก่อน และต้องรอคำวินิจฉัยจากแพทย์ว่าสามารถสอบปากคำต่อได้เช่นเดียวกันกับคดีหลัก
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ยังระบุอีกว่า สำหรับคดีนี้สอบปากคำไปแล้วทั้งหมด 80 กว่า ปากรวมทั้งพ่อแม่ของเด็ก 14 ได้ แต่ไม่สามารถเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากอยู่ในสำนวน
ต่อมาทีมข่าวได้คุยกับคุณแม่และคุณน้า ของคุณเพ็ญพิวรรณ หรือคุณหนุงหนิง ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งตอนแรกคุณหนุงหนิงได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ศีรษะ 2 นัด ลำตัวอีก 2 นัด ก่อนที่จะรักษาตัวกว่า 10 วัน ก่อนเสียชีวิตในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ซึ่งคุณหนุงหนิงเป็นแฟนคลับตัวยงของนักร้องชื่อดัง นนท์ ธนนท์ และแบมแบม Got7
โดยคุณแม่ของคุณหนุงหนิง ให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า อยากให้เขาติดคุก ไม่อยากให้ออกมา เพราะว่าลูกเราตายทั้งคน ตนมีลูกคนเดียวด้วย อีกอย่างลูกเรากำลังเติบโตเรื่องของการงาน แล้วอยู่ ๆ มายิงลูกเสียชีวิต ตนมองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้เขาติดคุกจนโตเลย ให้รู้สึกบ้าง เพราะก่อเหตุเสียชีวิตหลายคน ไหนจะบาดเจ็บอีก ตนมองว่าเขาไม่ใช่เด็กแล้ว เขารู้มาก พูดรู้เรื่องหมด แต่พอมาเรื่องยิงกลับมาบอกว่าไม่รู้ พร้อมตั้งคำถามอีกว่าถ้าไม่รู้เรื่องทำไมมีกระสุนปืนเป็นจำนวนมาก ทำไมยิงปืนแม่น แบบนี้ไม่ใช่เด็กแล้ว มองว่าเขาก็อ้างไปแบบนั้นแหละ มองว่าเกิดจากความคึกคะนอง จึงมองว่าแบบนี้ไม่ใช่เด็กแล้ว
ขณะที่ คุณน้าของคุณหนุงหนิง ก็บอกเช่นกันว่า เรื่องนี้เหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นธรรมกับน้องหนุงหนิง
ส่วนกรณีที่พนักงานสอบสอนส่งสำนวนไปยังอัยการ ระบุว่า เด็กสามารถต่อสูคดีได้ แต่ถูกตีกลับสำนวนเนื่องจากแพทย์วินิจฉัย และรายงานว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ประเด็นนี้ คุณน้าของคุณหนุงหนิง ระบุว่า ทางคอบครัวทราบประเด็นนี้ แต่ไม่รู้ตะทำอย่างไร เพราะกฎหมายเป็นแบบนี้ แต่จริง ๆ แล้วเหมือนกับแกล้งบ้าถามอยากอื่นรู้เรื่องหมด แต่พอเรื่องคดี "ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้" ก็รู้สึกงง
ส่วนกรณีที่ปล่อยตัวเด็ก 14 แล้วครอบครัวยินยอมให้รักษาตัวจนกว่าจะหายที่สถาบันกัลยาฯ และจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คุณน้าคุณหนุงหนิง บอกว่า จริง ๆ ก็ไม่โอเค แต่กฎหมายเป็นแบบนี้ก็ต้องโอเคตาม
ขณะที่ทีมข่าว VDO CALL สัมภาษณ์ คุณแม่กับคุณน้าของคุณหนุงหนิง กำลังเดินทางกลับจากการไปให้น้องหนุงหนิงที่ จ.เพชรบุรี นอกจากนี้ตนฝากแจ้งไปยังเพื่อน ๆ กลุ่มแฟนคลับด้อมนนท์ ธนนท์ และแบมแบม GOT7 ด้วยว่า ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ทางครอบครัวจะไปทำบุญครบรอบ 100 วันน้องหนุงหนิง ที่วัดโพธิ์ ตำบลกบเจา อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/iLi2UNhV3-k