อาชญากรรม

นายกฯ ยันคดีเด็กยิงพารากอน ไม่ใช่ยื้อเวลา - "ปรเมศวร์" ชี้ตร.แจ้งข้อหาไม่รอรายงานแพทย์

โดย nutda_t

2 ม.ค. 2567

58 views

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีเด็ก 14 ปี ก่อเหตุยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งล่าสุด ครบกำหนดคุมตัวเด็ก และผู้ปกครองยินยอมให้รักษาตัวต่อที่สถาบันกัลยาณ์ราชณนครินทร์ ว่า มีข้อสรุปว่าเด็ก 14 ปี จะเข้าบำบัดที่สถาบันกัลยาราชณนครินทร์ต่อ เพื่อดูแลทางด้านสภาพจิตใจ ซึ่งก็ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐ

ส่วนเป็นการยื้อเวลาในเรื่องนี้จะกระทบกับความมั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวจีนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ เพราะยังอยู่ในความควบคุม ยืนยันไม่ใช่การยื้อเวลา เพราะเด็ก 14 ปี ที่ก่อเหตุ มีความผิดปกติทางด้านจิต ก็ต้องดูแลตรงนี้ให้ดี


ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า กรณีการส่งคืนสำนวนคดีเด็กอายุ 14 ปี กราดยิง เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ว่าการสอบสวน มีส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือการสอบสวนพยานทั่วไป และสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการสอบสวนผู้ต้องหา ดังนั้น การที่อัยการคืนสำนวนก็ถูกต้องแล้ว แต่ตนไม่เห็นด้วยตรงที่ใช้คำว่า การสอบสวนกระทำโดยมิชอบ เพราะจริงๆ แล้ว การสอบสวนอื่นนั้น ชอบหมดแล้ว เพียงแต่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหานั้น ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาขณะผู้ต้องหามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และถ้าเป็นเด็กต้องมีสหวิชาชีพ


โดยในคดีนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่รอรายงานของแพทย์ ซึ่งแพทย์ชี้ว่าเด็กยังมีอาการของโรทางจิตเวช ยังไม่สามารถให้การได้ ก็เข้าใจว่าตำรวจพยายามจะทำให้เร็ว เพราะเป็นคดีที่สะเทือนขวัญ ทำให้อาจผิดพลาดไปบ้าง แต่ตนถือว่าไม่ได้เสียหาย อัยการเพียงแค่คืนไป แล้วทำให้ครบถ้วนรัดกุม ไม่ให้มีปัญหา เพราะหากอัยการส่งฟ้องไป แล้วศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลการสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่สามารถฟ้องใหม่ได้แล้ว

ส่วนการหมดระยะเวลาควบคุมตัวนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการส่งฟ้อง สามารถส่งฟ้องได้ ส่วนที่ญาติหรือสังคมกังวลหากเด็กไม่ได้อยู่ในการควบคุม เรื่องนี้ผู้ปกครองต้องดูแลให้ได้อยู่แล้ว หากดูแลไม่ได้ ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายในการควบคุม

ส่วนประเด็นที่ว่าคดีจะถูกแช่แข็งนั้น ตนมองว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทุกอย่างต้องทำในระยะเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว และในปัจจุบัน แพทย์ถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการพิจารณาคดีหลายคดี ดังนั้น แพทย์จะไม่ละเลยในเรื่องกรอบระยะเวลาตามกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจพบข้อผิดพลาดก่อนส่งฟ้องถือว่าดีกว่า หากไปพบในภายหลัง

คุณอาจสนใจ

Related News