อาชญากรรม

ญาติเหยื่อกราดยิงพารากอน เผยกลัวคดีจะถูกแช่แข็ง - 'บิ๊กต่อ' จ่อหารือลดอายุอาชญากรเด็ก เหลือ 12 ปี

โดย nattachat_c

3 ม.ค. 2567

258 views

วานนี้ (2 ม.ค.) นายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีเด็ก 14 ปี ที่ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งล่าสุด ครบกำหนดคุมตัวเด็ก และผู้ปกครองยินยอมให้เด็กยังคงรักษาตัวต่อที่สถาบันกัลยาณ์ราชณนครินทร์ ว่า มีข้อสรุปว่าเด็ก 14 ปี จะเข้าบำบัดที่สถาบันกัลยาราชณนครินทร์ต่อ เพื่อดูแลทางด้านสภาพจิตใจซึ่งก็ยังอยู่ในความควบคุมของรัฐ


ส่วนจะเป็นการยื้อเวลา ในเรื่องนี้จะกระทบกับความมั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวจีนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ เพราะยังอยู่ในความควบคุม ยืนยันไม่ใช่การยื้อเวลา เพราะเด็ก 14 ปีที่ก่อเหตุ มีความผิดปกติทางด้านจิตก็ต้องดูแลตรงนี้ให้ดี

-------------
จากกรณีสำนักงานอัยการพิเศษ คดีเยาวชนและครอบครัว 3 ส่งคืนสำนวนการสอบสวนคดีเยาวชนอายุ 14 ปีก่อเหตุกราดยิงกลางศูนย์การค้าสยามพารากอน กลับไปยังพนักงานสอบสวน เนื่องจากแพทย์วินิจฉัย และรายงานว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ // และในวันที่ 31 ธ.ค.66 จะครบกำหนดระยะผัดฟ้องครั้งสุดท้าย ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว // กระทั่งวันที่ 1 ม.ค.67 ที่ผ่านมา กรมพินิจฯ ส่งมอบตัวเด็ก 14 มือกราดยิงพารากอน ให้ผู้ปกครอง โดยผู้ปกครองยินยอมให้สถาบันกัลยาฯ รักษาเด็กต่อไป ไม่สามารถระบุกรอบเวลาได้


วานนี้ (2 ม.ค.) นางภาวินี วราทวีสวัสดิ์ คุณน้าของนางสาวเพ็ญพิวรรณ มิตรธรรมพิทักษ์ หรือ หนุงหนิง อายุ 30 ปี ผู้เสียชีวิตจากเหตุเด็กอายุ 14 ปีกราดยิงในห้างสรรพสินค้าพารากอน เปิดเผยความรู้สึกหลังทราบความคืบหน้าทางคดีว่า รู้สึกไม่ยุติธรรมสำหรับเรา แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องขั้นตอนของกฎหมาย แต่ตอนแรกที่ได้ยินข่าวก็ตกใจ ญาติๆ ทุกคนก็ตกใจ โทรมาบอกว่า เขาจะปล่อยตัวเด็กแล้ว ตนจึงโทรศัพท์ไปสอบถามตำรวจ ก็บอกว่าไม่ได้ปล่อยตัวเด็ก แต่ส่งไปอีกที่ อายุความยังมีอยู่ 20 ปี แล้วตนก็ได้คุยกับอัยการ ก็เลยรับทราบว่าเป็นเรื่องของกฎหมายที่คุ้มครองเด็ก เป็นหลักสากลทั่วโลก


ยอมรับว่าในใจ ไม่ได้ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในเมื่อกฎหมายประเทศไทยเป็นแบบนี้ ก็ต้องยอมรับ เพราะทำอะไรไม่ได้ โดยที่รู้สึกไม่ยุติธรรม เพราะส่วนตัวมองว่า พฤติกรรมของเด็กเหมือนรับรู้แต่แกล้ง มีความฉลาดในเรื่องของข้อกฎหมาย เวลาที่ตำรวจและแพทย์ถามอะไร ก็รับรู้และตอบได้ปกติทุกอย่าง แต่พอถามมาถึงเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลับไม่รู้อะไร บอกว่ามีเงาดำๆ มาสั่งให้ยิง มันเป็นไปได้หรอ ตนมองว่ามีการเตรียมการมาหมดแล้วทุกอย่าง ขอถามว่า เงาดำๆ จะมาสั่งให้ไปซื้ออุปกรณ์ ซื้อปืน เข้าห้องน้ำ เงาดำๆ สั่งหมดเลยหรือ และเท่าที่ได้พูดคุยกับพ่อแม่ของเด็ก เด็กก็ยอมรับเองว่า ปกติเล่นเกมที่เกี่ยวกับยิงกัน ตนเลยคิดว่า ด้วยความคึกคะนองของเด็กอาจจะเล่นเกมแล้วอยากลองของจริงว่าเป็นอย่างไร เลยทำเหมือนในเกมหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางครอบครัวของเด็ก ได้เข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาตามความเหมาะสมแล้ว แต่สิ่งที่ครอบครัวตนกังวล คือต้องการให้มีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับตัวเด็ก เพราะกลัวว่าถ้าวันหนึ่งเด็กได้กลับออกมาใช้ชีวิตปกติ จะไปทำแบบเดิมซ้ำอีก สร้างความเสียหายให้สังคมและประเทศชาติ เหตุการณ์นี้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนน้อยลงด้วย / และก็กลัวว่าเด็กจะยังมีความคับแค้นใจอยู่หรือไม่ที่ถูกดำเนินคดี อาจจะกลับมาก่อเหตุซ้ำ และกฎหมายก็คุ้มครองอีกเพราะอายุยังไม่ถึง 18 ปี


และแม้ตอนนี้ เด็กจะต้องเข้ารับการรักษาต่อ แต่ครอบครัวตนก็ยังกังวลอยู่ดี เพราะไม่รู้ว่าจะรักษาได้แค่ไหน ขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อไป กลัวว่าคดีจะถูกแช่แข็ง นานๆ ไปคนก็ลืม เงียบไปเลย ก็หวังให้สังคมช่วยกระตุ้นเจ้าหน้าที่ด้วย โดยคุณแม่ของหนุงหนิง ก็บอกว่า อยากให้เด็กติดคุกเพื่อปรับพฤติกรรม กลัวออกมาแล้วทำกับคนอื่นอีก

-------------

รองโฆษกสภาทนายความ ได้บอกกับ เดลินิวส์ว่า ผลการรักษาน่าจะ 2 ปี ได้ และอายุความมี 20 ปี 


ซึ่งการมองว่าจะเอาให้เด็กเป็นอาชญากรให้ได้ และต้องลงดทษ จะทำให้สังคมอยู่ยาก สังคมไม่ให้อภัยเด็ก 


สมมุติว่าแพทย์ประเมินว่าเด็กเป็นโรคจริง อย่าไปมองว่าเด็กไม่ได้รับการลงโทษ เพราะตลอดเวลา 20 ปี เด็กก็ต้องทุกข์ทรมาน ก็ต้องให้โอกาส และตอนนี้เขาน่าจะสะเทือนใจพอสมควร


และไม่เคยมีเคสที่คนร้ายรักษาอาการทางจิต 20 ปี มาก่อน

-------------

วานนี้ (2 ม.ค.) พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เปิดเผยถึงกรณีอัยการส่งกลับสำนวนคดีเด็กอายุ 14 กราดยิงที่สยามพารากอนว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ล่าช้าในการรวมพยานหลักฐาน และการสอบปากคำ ตำรวจทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ส่วนกฎหมายที่มีการระบุให้พนักงานสอบสวนและศาล สามารถใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีกับเด็ก ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อเท้จจริงไปแล้ว ถือว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจแล้ว


ส่วนกรณีที่ญาติของผู้เสียชีวิตกลัวว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ผบ.ตร ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้พูดคุยกับญาติผู้เสียชีวิตและอธิบายขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังได้พูดคุยกับญาติของผู้ก่อเหตุมีความเห็นตรงกันว่า อยากให้สถาบันสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นผู้ดูแลต่อไป


สำหรับที่หลายฝ่ายมองว่ากฎหมายที่ใช้กับเด็กที่ก่อเหตุความรุนแรง มีอัตราโทษเบา และเกรงว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความเป็นธรรม ทาง ตำรวจได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหยิบยกแบบอย่างของต่างประเทศมาศึกษาเพื่อปรับลดอายุของผู้กระทำผิดให้ต่ำลง จากอายุ 15 ปี เหลือ 12 ปี ซึ่งเรื่องนี้จะมีการหารืออย่างจริงจัง เพราะปัจจุบันการก่อเหตุอาชญากรรมในเด็กมีความรุนแรงมากขึ้น และผู้ก่อเหตุก็มีอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ

------------
ด้านนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า กรณีการส่งคืนสำนวนคดีเด็กอายุ 14 ปี กราดยิง เป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ว่าการสอบสวน มีส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ การสอบสวนพยานทั่วไป และสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือการสอบสวนผู้ต้องหา ดังนั้น การที่อัยการคืนสำนวนก็ถูกต้องแล้ว แต่ตนไม่เห็นด้วยตรงที่ใช้คำว่า การสอบสวนกระทำโดยมิชอบ เพราะจริงๆ แล้ว การสอบสวนอื่นนั้นชอบหมดแล้ว เพียงแต่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหานั้น ยังไม่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาขณะผู้ต้องหามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และถ้าเป็นเด็กต้องมีสหวิชาชีพ


โดยในคดีนี้ ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่รอรายงานของแพทย์ ซึ่งแพทย์ชี้ว่าเด็กยังมีอาการของโรคทางจิตเวช ยังไม่สามารถให้การได้ ก็เข้าใจว่าตำรวจพยายามจะทำให้เร็ว เพราะเป็นคดีที่สะเทือนขวัญ ทำให้อาจผิดพลาดไปบ้าง แต่ตนถือว่าไม่ได้เสียหาย อัยการเพียงแค่คืนไป แล้วทำให้ครบถ้วนรัดกุม ไม่ให้มีปัญหา เพราะหากอัยการส่งฟ้องไป แล้วศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลการสอบสวนมิชอบด้วยกฎหมาย ก็จะไม่สามารถฟ้องใหม่ได้แล้ว.


ส่วนการหมดระยะเวลาควบคุมตัวนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการส่งฟ้อง สามารถส่งฟ้องได้ ส่วนที่ญาติหรือสังคมกังวลหากเด็กไม่ได้อยู่ในการควบคุม เรื่องนี้ผู้ปกครองต้องดูแลให้ได้อยู่แล้ว หากดูแลไม่ได้ ก็มีขั้นตอนตามกฎหมายในการควบคุม


ส่วนประเด็นที่ว่าคดีจะถูกแช่แข็งนั้น ตนมองว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะทุกอย่างต้องทำในระยะเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว และในปัจจุบัน แพทย์ถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการพิจารณาคดีหลายคดี ดังนั้น แพทย์จะไม่ละเลยในเรื่องกรอบระยะเวลาตามกฎหมายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจพบข้อผิดพลาดก่อนส่งฟ้องถือว่าดีกว่า หากไปพบในภายหลัง
------------


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/lA_9Nc5oNbk



คุณอาจสนใจ

Related News