อาชญากรรม

ส่งสำนวนฟ้องไม่ทัน จับตาปล่อยเด็ก 14 กราดยิงพารากอน ถกรักษาต่อ

โดย passamon_a

1 ม.ค. 2567

226 views

อธิบดีกรมพินิจ เผย ด.ช.14 มือกราดยิงพารากอน พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาลได้ทัน หมดอำนาจควบคุมตัวของกรมพินิจฯ ครบกำหนดเวลาเที่ยงคืน ปล่อยตัววันนี้ (1 ม.ค.67) 10 โมง ประสานสถาบันกัลยาณ์-ผู้ปกครองแล้ว เห็นควรต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อเนื่อง ด้านโฆษกอัยการ ชี้ต้องรักษาให้หายถึงดำเนินคดีได้


กรณี ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงกระสุนปืนด้วยอาวุธแบลงค์กันกลางห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 5 ราย ได้รับการส่งตัวเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แทนการคุมตัวไว้ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กเบื้องต้น เห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาและประเมินอาการทางจิตจากแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น


กระทั่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ส่งคืนสำนวนให้กับพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เนื่องจากขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหาโดยไม่ชอบ เป็นการทำก่อนแพทย์ตรวจประเมินผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ อีกทั้งในวันที่ 31 ธ.ค. ครบกำหนดผัดฟ้อง ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจะมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว


ความคืบหน้าวานนี้ (31 ธ.ค.66) พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ได้รับการประสาน จากทางพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าวแล้วว่า พนักงานสอบสวนไม่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อส่งอัยการสั่งฟ้องต่อศาลให้คดีดังกล่าวได้ทัน จึงใช้วิธีการตาม ป.วิ อาญา งดการสอบสวน ดังนั้นกรมมพินิจฯ ก็ไม่สามารถควบคุมตัวได้ตามกฎหมาย ซึ่งอำนาจการควบคุมตัวจะครบกำหนดเวลา เที่ยงคืนนี้ (31 ธ.ค.66)


อย่างไรก็ตาม กรมพินิจฯได้ประสานให้พ่อแม่ของเด็กไปที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ในวันนี้ (1 ม.ค.67) เวลา 10.00 น. เพื่อทำแผนประกอบการรักษาอาการป่วยของเด็ก โดยจะมีรองอธิบดีกรมพินิจฯ พร้อมด้วยพ่อแม่และแพทย์ด้วย


ทั้งนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 กําหนดว่าในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาล เห็นว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริต หรือสามารถต่อสู้คดีได้


เวลา 17.30 น. วันที่ 31 ธ.ค.66 นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในฐานะโฆษกกรมพินิจฯ เปิดเผยว่า ล่าสุดทางคณะพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ไม่สามารถสรุปสำนวนส่งฟ้องต่ออัยการได้ทัน จึงต้องงดการสอบสวนไว้ก่อน ทำให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งให้มีการควบคุมตัว ด.ช. ถึงเพียงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธ.ค. ทำให้สถานพินิจกรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจควบคุมตัวเด็กได้


จากนั้นในวันที่ 1 ม.ค.67 เวลา 10.00 น. จะมีการปล่อยตัวเด็กชายจากการดูแลของแพทย์สถาบันกัลยาณ์ให้กับผู้ปกครอง แต่ทางกรมพินิจฯ ได้ส่งหนังสือกำชับขอความร่วมมือไปยังสถาบันกัลยาณ์และผู้ปกครองเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากสภาพอาการและการประเมินสุขภาพจิตของเด็ก เห็นควรว่าเด็กจะต้องเข้ารับการรักษาตัวต่อเนื่อง


โดยในวันนี้ (1 ม.ค.67) ผู้ปกครองของเด็กจะเข้าพบและพูดคุยทำความเข้าใจกับแพทย์ผู้ตรวจรักษา และจะได้พบกับ น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ทั้งนี้ โฆษกกรมพินิจ กล่าวอีกว่า การเห็นควรให้เด็กอยู่ในการดูแลรักษาต่อโดยแพทย์สถาบันกัลยาณ์นั้น ก็เพื่อคุ้มครองสังคมและตัวเด็กเอง เพื่อไม่ให้ไปก่อเหตุหรือมีเหตุเบี่ยงเบน เพราะเรากังวลว่าผู้ปกครองอาจไม่สามารถควบคุมตัวเด็กได้


ด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อพนักงานอัยการคืนสำนวนกลับไปยังพนักงานสอบสวน ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไม่สามารถสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานได้ จนกว่าผู้ต้องหาที่เป็นเด็กหายป่วยและต่อสู้คดีได้ เพราะต้องทำตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 14 ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ว่าพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน ไว้ก่อน จนกว่าที่ผู้ต้องหาจะหายจากอาการป่วยและต่อสู้คดีได้ โดยจะต้องรอการประเมินการตรวจรักษาของแพทย์เท่านั้น


ดังนั้นในวันที่ 31.ธ.ค.66 เมื่อครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 4 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องปล่อยตัวเด็กจากการควบคุมของสถานพินิจฯ ซึ่งคณะแพทย์และกลุ่มสหวิชาชีพจากสถาบันกัลยาราชนครินทร์สามารถประสานผู้ปกครองเด็กเพื่อรับตัวไปบำบัดรักษา หรืออาจบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 มาตรา 22 และ 36 ได้โดยสามารถรับผู้ต้องหาไปรักษาตัวต่อได้


ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรักษาเด็กและป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับเด็กและสังคม จากนั้นทางแพทย์จะมีการส่งผลประเมินให้กับพนักงานสอบสวน ทราบทุก 180 วัน ถ้ายังไม่หายก็สามารถขยายได้อีก 180 วันไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายสู่สภาวะปกติ แต่ถ้าเด็กหายป่วยก่อนกำหนด 180 วัน ก็สามารถรายงานให้พนักงานสอบสวนทราบได้ทันที เพื่อจะหยิบยกคดีขึ้นทำการสอบสวนต่อไป โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ซึ่งจะขาดอายุความในวันที่ 3 ต.ค. 2586


โดย นพ.พงค์เกษม ไข่มุกด์ รักษาการอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้รอผลการคัดกรองโรค คือ การตรวจสแกนสมองผ่านระบบเอ็มอาร์ไอ จากสถาบันปราสาทวิทยา รวมถึงผลเทสต์การนอนหลับด้วย ซึ่งกระบวนการทั้งหมดต้องให้เวลาแพทย์ในการสรุปผล ยังไม่ไฟนอลหรือสรุป


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/byL5digb2AI

คุณอาจสนใจ

Related News