อาชญากรรม

‘นักอาชญาวิทยา’ วิเคราะห์เหตุยิงพารากอน ผู้ป่วยจิตมักไม่บอกว่าตัวเองป่วย แต่รายนี้วางแผนเป็นขั้นตอน

โดย JitrarutP

6 ต.ค. 2566

333 views

“นักอาชญาวิทยา” วิเคราะห์เหตุ “ยิงพารากอน” ผู้ป่วยจิตเวชมักไม่บอกว่าตัวเองป่วย ส่วนใหญ่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่รายนี้วางแผนเป็นขั้นตอน

รองศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์เด็ก 14 ปี ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงให้ศูนย์การค้าสยามพารากอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 5 ราย ว่า

อย่างแรกต้องขอแสดงความเสียใจกับเหยื่อ และครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีของผู้ก่อเหตุ เมื่อวิเคราะห์ ประเด็นแรกจะต้องดูทั้งสภาพจิตใจ การอบรมเลี้ยงดู การขัดเกลาทางสังคม การปลูกฝังถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามจากคุณพ่อ คุณแม่ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะสถาบันครอบครัวมีผลมาก ๆ

ประเด็นต่อมา สภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน การคบเพื่อน การเล่นเกม การมีความเสี่ยงต่อการเกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติด หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะต้องมีการตรวจสอบ

การปฏิบัติการของผู้ก่อเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สามารถเรียกว่าเป็นการปฏิบัติการแบบ ‘Lone Wolf’ หรือ ‘หมาป่าผู้เดียวดาย’ คือปฏิบัติการตามลำพัง ไม่มีใครมาร่วมขบวนการด้วย ซึ่งเป็นการปฏิบัติการที่หลาย ๆ ประเทศมีความกังวล เพราะหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานตำรวจ หน่วยงานข่าวกรอง ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

สำหรับกรณีนี้ เราทราบตรงกันอยู่แล้วว่า ผู้ก่อเหตุ เลือกสถานที่ เลือกช่วงเวลา

สถานที่ คือ สยามพารากอนเป็นห้างที่อยู่กลางเมือง มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย รวมถึงอยู่ติดสถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือสถานีสยาม

ช่วงเวลา คือ เลือกที่จะก่อเหตุหลัง 16.00 น. ไปแล้ว ซึ่งเป็นเวลาที่คนเลิกเรียน และเลิกงาน

ประการต่อมา เมื่อวิเคราะห์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เชื่อว่า มีการเตรียมการ โดยเฉพาะเรื่องอาวุธ ซึ่งเท่าที่ทราบเป็น Blank Gun ที่ถูกนำมาดัดแปลงจนใส่กระสุนจริงและยิงได้ นอกจากนี้ยังมีคลิปวิดีโอปรากฏ ว่าผู้ก่อเหตุฝึกซ้อมยิงปืน ให้เกิดความชำนาญ รวมถึงเรื่องเสื้อผ้า

สิ่งที่ประมวลทุกประการที่ได้กล่าวไป ก็จะสะท้อนกลับมาที่ตัวตนของผู้ก่อเหตุ ว่าทำไมคนที่ยังเป็นเด็ก ถึงสนใจในสิ่งเหล่านี้ และก่อเหตุเพราะอะไร

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ ตามที่สื่อมวลชนได้รายงานไป คือ มีการส่งข้อความ หรือภาพ ไปทางแชตให้กับเพื่อนที่สนิทกันว่า จะก่อเหตุที่สยามพารากอน แล้วเพื่อนก็บอกให้ใจเย็นๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุกำลังมีความคับแค้นหรือกดดันอยู่ภายในจิตใจ หรืออาจจะต้องการสร้างการยอมรับจากเพื่อนหรือจากครอบครัว โดยข้อมูลเชิงลึกน่าจะอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยตำรวจ

ในเมื่อผู้ก่อเหตุเป็นเด็ก กฎหมายสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันเนื่องจากเด็ก เยาวชน เป็นคนอ่อนเยาว์ ทั้งเรื่องวัย อายุ และความคิด เพราะฉะนั้นการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลจึงแตกต่างจากผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ทบทวน เพื่อแก้ไขกฎหมาย ไม่ให้พิจารณาแค่อายุ แต่ให้พิจารณาจากพฤติการณ์ของการก่อเหตุ ตามโมเดลที่ใช้ในประเทศจีน

ส่วนประเด็นที่บอกว่า จะมีความผิดปกติทางจิตเวชหรือไม่ เพราะตามคลิปวิดีโอขณะจับกุมที่เผยแพร่ออกมา ผู้ก่อเหตุพูดคุยกับตำรวจทำนองว่า มีคนจะเข้ามาทำร้าย รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่าประเด็นนี้มองได้ 2 กรณี

กรณีแรก ผู้ก่อเหตุอาจจะมีความผิดปกติทางจิตเวชจริง ซึ่งจะมีประวัติการรักษา มีการรับประทานยา มีจิตแพทย์วินิจฉัย มีการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้สามารถตรวจสอบได้

กรณีที่สอง ผู้ก่อเหตุฉลาดพอที่จะอำพรางว่าตนเองมีความผิดปติทางจิตหรือไม่

อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ผู้ที่สามารถให้ความเห็นควรเป็นจิตแพทย์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอศาล

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุว่า ตามหลักแล้ว คนไข้จิตเวช จะไม่ทำร้ายผู้อื่น ส่วนใหญ่จะทำร้ายตัวเอง หรือกลัวว่าคนอื่นจะมาทำร้าย หูแว่ว ประสาทหลอน รวมถึงขว้างปาสิ่งของ

แต่กรณีนี้ การคิด การวิเคราะห์ และการตัดสินใจของผู้ก่อเหตุ ดูเป็นขั้นเป็นตอน มีการเตรียมการ รวมทั้งในขณะจับกุม ผู้ก่อเหตุสามารถรับรู้และทำตามคำสั่งของตำรวจ ที่สั่งให้หันหลัง วางอาวุธ ย่อตัวลง นอนคว่ำ ได้ทั้งหมด ซึ่งแปลว่า ผู้ก่อเหตุเข้าใจว่าหากไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่จะสามารถยิงเขาได้ ตามสิทธิการป้องกันตัวตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ ไม่ได้มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คนไข้จิตเวชจริง ๆ เมื่อก่อเหตุ และถูกจับกุม มักจะไม่ได้บอกว่าตัวเองป่วย

สำหรับประเด็นเรื่องเกม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการยืนยันตรงกันว่าเด็ก เยาวชนที่ติดเกม คือเล่นเกมถี่ ๆ ซ้ำ ๆ หลายชั่วโมงต่อวัน หลายวันต่อสัปดาห์ หลายสัปดาห์ต่อเดือน สิ่งที่จะมีผลแน่ ๆ คือเรื่องอารมณ์

คนที่ติดเกมจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด โมโหง่าย ไม่พอใจเมื่อไม่ได้ดั่งใจ เพราะหลัก ๆ แล้ว เกมมีแค่แพ้กับชนะ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์ชอบที่จะเป็นผู้ชนะมากกว่าผู้แพ้ ดังนั้น เราจึงควรดูแลไม่ให้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดติดเกม เพราะในโลกความเป็นจริง เราไม่ได้เป็นผู้ชนะตลอด บางครั้งเราก็ต้องยอม

ส่วนคำถามที่ว่า การติดเกมจะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมหรือไม่?

การติดเกมมีผลต่ออารมณ์ ความคิด การแสดงออก และการตัดสินใจ แต่การก่ออาชญากรรมต้องอาศัยปัจจัยอื่นมาประกอบด้วย เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัว รวมถึงความกดดันจากเพื่อน และคนรอบข้าง

ต้องพิจารณาว่า ผู้ก่อเหตุถูกเลี้ยงดูด้วยความกดดัน คือต้องเรียนให้ได้คะแนนดี หรือครอบครัวไม่มีเวลาหรือความรักความผูกพันให้ ให้แต่เงิน ที่พัก และอาหารหรือไม่

บางคนชอบเล่นเกมที่ใช้ความรุนแรง ชอบดูหนัง action ก็ไม่ได้ก่ออาชญากรรม ฉะนั้นต้องดูหลายปัจจัย

บางคนก็ไม่ได้ละเมิดกฎหมายเพราะมีพันธะทางสังคม เช่น สถานภาพทางสังคม ตำแหน่งหน้าที่ทางการงาน หรือความเชื่อทางศาสนา

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุถึงความสำคัญของครอบครัวว่า งานวิจัยเมื่อประมาณ 40 - 50 ปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่า สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีบทบาทต่อความนึกคิดจิตใจ และความรู้สึกของมนุษย์มากที่สุด ซึ่งงานวิจัยในปัจจุบัน ก็ยังแสดงให้เห็นแบบเดียวกัน

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง หรือคนในครอบครัว ต้องดูแล เอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด ทั้งการอบรม สั่งสอน ปลูกฝัง ถ่ายทอดสิ่งที่ดีงาม คุณธรรม จริยธรรม ไม่ใช่ให้แค่เงิน เพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง บางคนอาจไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ สายใยความรักที่ห่างกัน จะมีผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก เยาวชน

ประการต่อมา บางคนถูกครอบครัวกดดันด้านการเรียน โดยที่ครอบครัวไม่เข้าใจปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ สิ่งนี้ยิ่งเป็นการเพิ่มความกดดัน

เพราะฉะนั้น ครอบครัวต้องเข้าใจ การเลี้ยงลูกให้ถูกหลักการ อย่าผลิตซ้ำอาชญากร

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ให้ข้อมูลว่า มีการศึกษาเก็บข้อมูลที่สหรัฐโดยนักอาชญาวิทยาท่านหนึ่ง เก็บข้อมูลเหตุกราดยิงในสหรัฐ ตั้งแต่ ค.ศ. 2021 ย้อนกลับไป 55 ปี ทั้งหมด 178 กรณี พบว่าส่วนใหญ่ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ชาย อายุต่ำกว่า 30 ปี โดยพบว่ามีปัญหาสภาพจิตใจถึง 70%

ที่น่าสนใจคือ พบว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่อาศัยอยู่คนเดียว ใช้ชีวิตตามลำพัง ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือสมาชิกในครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือถูกกดดันโดยคนรอบข้าง

หากพบว่าบุตรหลาน เริ่มเป็นคนเก็บตัว เงียบขรึม เริ่มสนใจเรื่องการใช้ความรุนแรง เริ่มสนใจเรื่องอาวุธ นั่นเป็นสัญญาณบอกเหตุถึงอะไรบางอย่าง ครอบครัวต้องรีบเข้ามาพูดคุย และดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากต้องการให้บุตรหลานไปพูดคุยกับจิตแพทย์ ครอบครัวจะต้องเริ่มต้นไปปรึกษา ขอคำแนะนำจากจิตแพทย์ก่อน

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ย้ำว่า การไปพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ

มีผู้ก่ออาชญากรรมเคยเล่าให้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ฟังว่า แม่ของเขาไม่เคยคุยกับเขาทางโทรศัพท์ ไม่เคยกอดเขาเลย และไม่เคยบอกรักเขาเลย

เราทุกคนควรหันกลับไปดูสมาชิกในครอบครัวว่า มีเวลาให้กันไหม มีปฏิสัมพันธ์กันต่อวันมากน้อยเพียงใด เพราะในปัจจุบัน เราใช้เวลากับหน้าจอโทรศัพท์ มากกว่าการพูดคุยกัน ซึ่งทำให้เราเหินห่างกันมากขึ้น ถ้าเหินห่างกันมากขึ้น ยิ่งทำให้คนมองว่าคนไม่ใช่คน ก็จะก่อเหตุได้ง่ายขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News