อาชญากรรม

‘เจ้าของรีสอร์ทหลีเป๊ะ’ ยื่นหนังสือ ‘สุชาติ’ ขอความเป็นธรรม ถูกขายที่ดินไม่ตรง ส.ค.1

โดย attayuth_b

13 ธ.ค. 2565

190 views

วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่อาคารรัฐสภา นายสามารถ เจริญฤทธิ์ ผู้ประกอบการรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อ นายสุชาติ  ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 จากกรณีถูก กรมบังคับคดี ยึดที่ดินที่อยู่ในการครอบครองสิทธิของ นายสามารถ นำไปขายทอดตลาด ตามคำพิพากษาของศาล แต่ปรากฎว่า ที่ดินตามคำพิพากษาของศาลที่อ้างอิงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) นั้น เป็นคนละแปลงกับที่ดินที่ตั้งของรีสอร์ของนายสามารถ จนได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยมี นายนาถะ ดวงวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้หนังสือแทน

โดยนายสามารถ เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล โดยได้ซื้อที่ดินมาจากชาวเลท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะมีข้อพิพาทกับฝ่ายโจทก์ ซึ่งแอบอ้างว่า ได้หุ้นกับตนในการซื้อที่ดินที่เป็นที่ตั้งของรีสอร์ทของตนในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นเพียงการกู้ยืมเงิน และตนได้การชดใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ได้นำไปฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งศาลก็ได้ตัดสินถึงที่สุดเมื่อปี 2557 ว่า ให้ตนและฝ่ายโจทก์แบ่งที่ดินกัน หากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินขายทอดตลาด และให้นำเงินมาแบ่งกัน ซึ่งตนก็ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลว่ายังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการผ่านกระบวนการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ส.ค.1 ที่อ้างตามคำพิพากษาของศาลไม่ใช่จุดที่ตั้งของรีสอร์ทของตน

นายสามารถ กล่าวต่อว่า จนถึงปี 2564 กรมบังคับคดี ก็ได้นำที่ดินที่พิพาทไปขายทอดตลาด ปรากฎว่า ฝ่ายโจทก์ก็เป็นผู้เข้าไปซื้อที่ดินดังกล่าว ภายหลังซื้อแล้วโจทก์ก็ได้นำกลุ่มชายฉกรรจ์เข้ามาบุกรุกพื้นที่รีสอร์ทของตน ทั้งที่ที่ดินตาม ส.ค.1 ที่โจทก์ซื้อจากกรมบังคับคดีอยู่คนละจุดกัน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่อุทยานฯก็ได้ทำการตรวจสอบรังวัดที่ดิน และตนได้เป็นผู้นำชี้เขตที่ดินที่ปรากฎว่า ไม่ตรงตาม ส.ค.1 ที่นำมาอ้าง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีหนังสือแจ้งยืนยันใดๆจากทางอุทยานฯ และเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตราย ตนจึงได้เข้าลงบันทึกประจำวันไว้ที่ สภ.เกาะหลีเป๊ะ ขณะที่ฝ่ายโจทก์เองก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับตน ฐานไม่ออกจากที่ดินพิพาท จนตนถูกออกหมายจับ 3 ใบในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

นายสามารถ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีข้อพิพาทกันเมื่อปี 2557 เป็นช่วงเดียวกับที่มีการจัดระเบียบพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตาขณะนั้นได้ออกหนังสือแจ้งผลการรังวัดและเขตตำแหน่งที่ดิน ลงวันที่ 23 พ.ค.2558 ระบุว่า เขตที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 25 และเลขที่ 32 ทิศและตำแหน่งที่ดิน ซึ่งใช้กล่าวอ้างในชั้นศาล ไม่สอดคล้องและรองรับกับตำแหน่งที่ดินในพื้นที่จริง และอนุญาตให้ตนเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ไว้เป็นการชั่วคราว รวมทั้งยังมีพื้นที่ดังกล่าวก็ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 และต่อมาได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2561 เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ตนได้โต้แย้งให้ กรมบังคับคดี ทราบว่า ที่ดินที่จะดำเนินการขายทอดตลาดนั้นไม่ถูกต้อง เพราะตรงนั้นถือเป็นที่ดินของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา รวมทั้งโต้แย้งผ่านหน่วยงานต่างๆ ทั้ง กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆเลย

“ผมเคารพคำตัดสินของศาล แต่จำเป็นต้องโต้แย้ง เพราะไม่ตรงข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย จึงอยากให้กรมบังคับคดี, กรมอุทยานฯ และกรมที่ดิน ช่วยลงไปตรวจสอบว่าที่ดินนั้นตรงตามคำพิพากษาหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามคำพิพากษา ผมก็ไม่โต้แย้ง แต่หลักฐานทั้งหมดชัดเจนว่า เป็นที่ดินคนละแปลง” นายสามารถ กล่าว

นายสามารถ เปิดเผยด้วยว่า ได้ไปยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งอธิบดีกรมอุทยานฯ แล้วด้วย.

คุณอาจสนใจ

Related News