กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

โดย pattraporn_a

15 ก.พ. 2565

100 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย


วันนี้ เวลา 10 นาฬิกา 17 นาที สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความก้าวหน้าการดำเนินงาน "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย" อำเภอแม่สาย โอกาสนี้ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือรับรอง "สลัดสวยงาม" และ "มะเขือเปราะเพชร ล้านนา" ที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติ พุทธศักราช 2518 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินรายได้จากการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ "จันกะผัก-ศรแดง" เพื่อทรงใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์พระราชทานหมุนเวียนต่อไป


จากนั้น ได้พระราชทานวุฒิบัตรแก่ผู้แทนทหารพันธุ์ดี และตำรวจพันธุ์ดี ที่เข้ารับการอบรม ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช จักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวน 29 รุ่น รวม 616 นาย แก่ผู้แทนกองทัพบก และผู้แทนตำรวจพันธุ์ดี ในสังกัดตำรวจภูธรภาค 5 แล้วทอดพระเนตร การผลิตไส้เดือนฝอย ช่วยลดการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช และขยายการผลิต สู่สมาชิกโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ที่บ้านร่องก๊อ ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน


ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริ เมื่อปี 2552 เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ และผลิตเมล็ดพันธุ์ผัก เป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ประชาชนทั่วไป และในพื้นที่ประสบภัย ที่ผ่านมาได้ชักชวน ให้ชุมชนเข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" เพื่อให้ราษฎรมีรายได้เสริม และเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสำรอง รวมทั้งจัดทำโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" ไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ปัจจุบันมีสมาชิก 2 พัน 86 หมู่บ้าน


ส่วนโครงการ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" ได้พระราชทานกล้าไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ให้ชุมชนช่วยกันปลูกตามริมถนน และที่สาธารณะในหมู่บ้าน เพื่อให้มีไม้ผลไว้แบ่งปันบริโภค ปัจจุบันมีสมาชิก 4 พัน 936 ครัวเรือน ปลูกไม้ผลกว่า 7 หมื่น 3 พันต้น และมีรับสั่งให้จัดทำโครงการปลูกผักปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งผู้ปลูก และผู้บริโภค เริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2563 มีสมาชิก ในพื้นที่อำเภอแม่จัน แม่สาย และเชียงแสน รวม 81 ราย ผลิตผักสด 64 ชนิด ส่งจำหน่ายในซุปเปอร์มาเก็ตต่าง ๆ


สำหรับกิจกรรมหลัก ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักที่มีคุณภาพ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้เกษตรกรมีพืชสายพันธุ์ดี ไว้เพาะปลูก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์พืชรวม 16 สายพันธุ์ ได้รับพระราชทานชื่อ อาทิ ถั่วแขกสีเหลืองเทพรัตน์ เบอร์1 , พริกขี้หนูปู่เมธ , สลัดสวยงาม , มะเขือเปราะเพชรล้านนา ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ปรับปรุงพันธุ์ถั่วฝักยาว ได้พันธุ์ใหม่ 4 พันธุ์ ได้พระราชทานชื่อว่า เสือดุ , เสือเขียว , เสือขาว , เสือลายพาดกลอน


ที่โรงปรับปรุงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ได้ทอดพระเนตรโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ ข้าวพระราชทาน" เพื่อนช่วยเพื่อน" จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันมีเกษตรกร ในหมู่บ้านสันหลวงใต้ และบ้านสันบุญเรือง เข้าร่วมโครงการ 30 ราย มีพื้นที่เพาะปลูก 416 ไร่ สามารถพัฒนาและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ผลผลิต 588 ตัน พร้อมแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร


โอกาสนี้ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับสมาชิกกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ตำบลเกาะช้าง เพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจ ทรงชื่นชมสมาชิก และเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่ขยันขันแข็ง สามัคคีร่วมมือกัน ทำให้งานก้าวหน้า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบาก สมาชิกต้องช่วยกันชักชวนเพื่อนฝูง ลูกหลาน ให้ช่วยกันทำเกษตร จะได้มีความรู้มีประสบการณ์ พึ่งพาตนเองได้ ไม่ลำบาก ไม่ตกยาก


ส่วนการผลิตพันธุ์สัตว์ปีกพระราชทาน "เพื่อนช่วยเพื่อน" ปัจจุบันผลิตพันธุ์ไก่พื้นบ้าน ส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อได้แล้ว โอกาสนี้ เจ้าของฟาร์มไก่เหลืองหางขาว บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พ่อแม่พันธุ์ไก่พื้นบ้านเหลืองหางขาว จำนวน 3 ตัว เพื่อเพาะขยายพันธุ์ ขณะที่การผลิตสารชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ มีการทดลองใช้กับพืชผักในโครงการ เมื่อได้ผลจึงขยายสู่ชุมชน เช่น ผลิตสารสกัดสมุนไพรกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ ใบยาสูบ พริก ทองพันชั่ง ส่วนการผลิตน้ำหมักชีวภาพ อาทิ ฮอร์โมนไข่กระตุ้นตาดอก ฮอร์โมนหัวปลี ช่วยขยายส่วยยอด และข้อต่อ นอกจากนี้ยังมีน้ำหมักชีวภาพอื่น ๆ เช่น น้ำหมักเศษผัก เพื่อบำรุงต้นพืช และผลิตจุลินทรีย์จากเศษอาหาร ช่วยบำบัดน้ำเสีย และดับกลิ่น และยังผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อทำลายเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคพืช โดยกรมวิชาการเกษตรช่วยให้คำแนะนำ ส่วนกรมพัฒนาที่ดินช่วยแนะนำ เรื่องการผลิตสารเร่งซุปเปอร์ พด. ช่วยย่อยสลายวัสดุทางการเกษตร , ย่อยโปรตีนไขมัน , ควบคุมเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพืชในดิน และใช้บำบัดน้ำเสียกำจัดกลิ่น


สำหรับกิจกรรมวานิลลา ที่ได้รับพระราชทานพันธุ์ 9 สายพันธุ์ ปัจจุบันเหลือ 7 สายพันธุ์ จะปลูกทำวิจัย และขยายพันธุ์ต่อไป


ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จะทำการทดสอบเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ ก่อนบรรจุซองเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ด้วยวิธีการสุ่มเมล็ดพันธุ์ นำไปปลูก ดูการงอก ความแข็งแรงทนต่อโรคและแมลง ที่สำคัญ คือจะต้องมีรสชาติดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้ง ร้านขายผักจากการทดสอบความเสถียรของเมล็ดพันธุ์ผัก เมื่อเดือนตุลาคม 2552 พระราชทานชื่อร้านว่า "จันกะผัก" ปัจจุบันจำหน่ายอาหาร ที่ใช้พืชผักทั้งจากภายในศูนย์ และผักปลอดภัยจากชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ มีผักสด ผักสลัด ขนม ไอศกรีม เครื่องดื่ม เปิดขายทุกวัน


นอกจากนี้มูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้จัดทำสื่อความรู้ "นิทานจันกะผัก" ตอนที่ 1 การปรับปรุงพันธุ์พืช เล่าเรื่องราวของงานต่างๆ ที่ศูนย์ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในรูปแบบที่เด็กๆ และประชาชนเข้าใจได้ง่าย และทรงอัพโหลด "นิทานจันกะผัก" ตอนที่ 1 ขึ้นบนเว็บไซต์ของมูลนิธิชัยพัฒนา www.chaipat.or.th


ด้วยพระวิสัยทัศน์ ทำให้ประเทศไทยมีเมล็ดพันธุ์พืชผัก และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพสะสมสำรองไว้ ในยามที่ราษฏรประสบภัยธรรมชาติ หรือประเทศชาติอยู่ในภาวะคับขัน เมล็ดพันธุ์พระราชทานเหล่านี้ จะช่วยเหลือฟื้นฟู ให้ราษฎรได้ปลูกข้าว ปลูกผัก ที่มีคุณภาพไว้บริโภคตลอดไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน


ต่อจากนั้น เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอแม่สาย ในการนี้ ทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


และทรงติดตามการดำเนินงานของศูนย์ฯ โดยในปี 2564 ได้รับผลผลิตเมล็ดชา จากแปลงปลูกชาน้ำมัน เขตปูนะ และปางมะหัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง กว่า 1 แสน 2 หมื่น 3 พันกิโลกรัม สามารถหีบน้ำมันเมล็ดชาได้ประมาณ 2 หมื่น 7 พันลิตร น้ำมันเมล็ดชาที่ผลิตได้ มีคุณภาพสูงประกอบด้วยโอเมก้า 3, 6 และ 9 สามารถนำไปประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง ตลอดจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ โลชั่นบำรุงผิว แฮร์โทนิค และครีมอาบน้ำ ส่วนผลิตภัณฑ์ใหม่ในปี 2564 ทรงมีพระราชานุมัติให้ปรับชื่อจากน้ำมันเมล็ดชาเป็น "น้ำมันเมล็ดคามีเลีย" เพื่อให้มีความเป็นสากลมากขึ้น พร้อมทั้ง เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากขวดแก้วเหลี่ยมใส เป็นขวดแก้วกลมสีชา เพื่อป้องกันแสงที่มีผลกระทบ ต่อการเสื่อมสภาพของน้ำมัน และรักษาคุณภาพของน้ำมันได้ยาวนานขึ้น โดยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 จะเสด็จพระราชดำเนินไป ทรงเปิดงาน"เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์" ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ส่วนการปรับปรุงโรงงาน และการผลิตศูนย์ฯ ได้ปรับปรุงเครื่องหีบเมล็ดชาน้ำมัน ด้วยการแก้ไขถาดรองน้ำมันดิบ เพื่อแยกน้ำมันเมล็ดชาดิบ ที่ออกมาจากส่วนหน้า ถึงส่วนกลางของเครื่องหีบ ให้การผลิตน้ำมันมีคุณภาพดียิ่งขึ้น ทั้งยังปรับปรุงเครื่องบรรจุน้ำมัน และเครื่องรีดเกลียวฝาขวดอัตโนมัติ ให้สามารถใช้งานกับขวดแก้วทรงกลม ที่ใช้บรรจุน้ำมันเมล็ดคามีเลีย


โอกาสนี้ ทอดพระเนตรร้านค้าเมล็ดชา เป็นร้านจำหน่ายของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์ จากโครงการต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา กว่า 100 รายการ อาทิ น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ผ้าไหมย้อมสีเปลือกเมล็ดคามีเลีย ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ชาสมุนไพร รวมทั้ง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ สบู่เหลวน้ำมันเมล็ดคามีเลีย และสบู่เหลวสำหรับผิวหน้าน้ำมันเมล็ดคามีเลีย กลิ่นดอกพีโอนี ซึ่งจะวางจำหน่ายในเดือนกุมภาพันธ์นี้