สังคม
'นักภูมิสารสนเทศชุมชน' ผู้มีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ ประยุกต์ สร้างเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับชุมชน
โดย chiwatthanai_t
3 ก.ค. 2566
193 views
นักภูมิสารสนเทศชุมชน หรือ นักจีไอเอสชุมชน ของจิสด้า กลายเป็นผู้มีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ในหลายชุมชนทั่วประเทศ ซึ่ง 1 ในนั้นคือที่ ชุมชนป่าตึง ในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จนทุกวันนี้ชาวบ้านสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาพื้นที่สู่การทำเกษตรอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นนักจีไอเอสชุมชนได้ เพื่อนำข้อมูลเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศที่มีไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการให้เข้ากับสถานการณ์ได้
ความไม่ชัดเจนของเขตแนวป่าในพื้นที่ ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในอดีตทำให้ชาวบ้านที่ทำกินกันมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ กลายเป็นผู้บุกรุกในทันที เมื่อคำสั่งคสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ประกาศใช้
ชุมชนป่าตึง มีพื้นที่ป่ารวมกันกว่า 700 ไร่ โดยมีหมู่บ้านกระจายอยู่มากถึง 45 หมู่บ้าน ซึ่งปัญหาเดิม คือ ไม่มีบันทึกพิกัดของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ขอบเขตของหมู่บ้าน ไม่รู้ว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตและเป็นประเภทใด
จนกระทั่งช่วงปี 2558 นักภูมิสารสนเทศชุมชน หรือ นัก gis ชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรม ได้นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ตรวจสอบพิกัดทางภูมิศาสตร์และพื้นที่ป่าไม้ จัดทำแผนที่ร่วมกับภาครัฐ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับชุมชน ซึ่งข้อมูลนี้ชุมชนสามารถนำมาพิจารณา ประกอบการตัดสินใจเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันข้อมูลชุดนี้ก็ใช้ต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เช่น น้ำ และ ภัยแล้ง รวมไปถึงป้องกันปัญหาไฟป่า ที่เป็นสาเหตุของหมอกควันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันชาวบ้านที่นี่เรียนรู้การบริหารจัดการพื้นที่ หันมาทำเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ยืนต้นในระยะยาว สวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ร่วมกับการฟื้นฟูป่าชุมชน ที่ตอนนี้ผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้แล้ว และรอการประกาศพื้นที่ในส่วนอุทยานแห่งชาติลำน้ำกกเพิ่มเติม
ดร.สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ตอนนี้มีพื้นที่ 4 ชุมชนต้นแบบ ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และ บริเวณเทือกเขาบูโดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนักจีไอเอสชุมชนได้นำข้อมูลแผนที่ เครื่องมือภูมิสารสนเทศ มาประยุกต์ สร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้เหมาะสมกับคนในชุมชน
ไม่ว่าใครก็สามารถเป็น นัก GIS ชุมชนได้ เพราะตอนนีี้ จิสด้าได้เปิดข้อมูลสารสนเทศให้ทุกหน่วยงาน และประชาชนสามารถใช้ได้อย่างอิสระ แล้วผ่าน www.gistda.or.th ทั้งข้อมูลไฟป่า ข้อมูลน้ำท่วม ข้อมูลภัยแล้ง ข้อมูลด้านการเกษตร ข้อมูลด้านแผนที่ป่า โดยข้อมูลเหล่าจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่