เทคโนโลยี
เปิดตัวอย่างวิธีการทำนาลดโลกร้อน ทำนาเปียกสลับแห้ง-ไม่เผาฟาง
โดย parichat_p
8 ธ.ค. 2567
118 views
ตัวอย่างวิธีการทำนาลดโลกร้อน ด้วยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง และไม่เผาฟาง ซึ่งนอกจากชาวนาจะได้ผลตอบแทนที่ มาในรูปแบบผลผลิตแล้วยังสามารถ นำคาร์บอนเครดิต ที่เกิดจากการลดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปขายเป็นเงินได้ โดยในทุกขั้นตอน ของการเพาะปลูกก็จะนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ตรวจสอบ ซึ่งพบว่าสามารถลดปริมาณการปล่อยมีเทนได้สูงถึง 400 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่
แปลงนาของนายสุภณ ทองไพสิฐ เป็น 1 ในแปลงนาโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อติดตามผลการลดปัญหาโลกร้อน จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม โดยนี่เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ที่เขาเลือกใช้วิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หลังพบว่าเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลา สามารถลดต้นทุนการเพาะปลูก ในขณะที่ผลผลิตก็ได้ตามเป้า ไร่ละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน อย่างแปลงนาแปลงนี้ของเขาที่มีพื้นที่กว่า 20 ไร่ เก็บเกี่ยวครั้งหนึ่งก็ได้ไม่ต่ำกว่า 20 ตัน
โดยโครงการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ได้นำเทคโนโลยีติดตามผลและตรวจวัดด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดรน และ ดาวเทียม หรือ MRV ของเนทซีโร่คาร์บอน
ผ่านแอปพลิเคชั่นทำนาเปียกสลับแห้ง spiro carbon ให้ชาวนาถ่ายภาพผ่านเครื่องมือท่อวัดน้ำ ที่ใช้เอไอตรวจจับ สภาพนาที่เปลี่ยนไปตามการเพาะปลูก เปียก สลับ แห้ง และ เปียก ซึ่งจากข้อมูลดินแห้งสามารถยับยั้งการปล่อยก๊าซมีเทน ส่วนดินเปียกที่มีน้ำหมักผสมก็ช่วยกักเก็บมีเทนเช่นกัน
โดยจากการทดลองปลูกช่วง 3 รอบการเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เฉลี่ย 0.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ ประมาณ 400 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อไร่ต่อ 1 รอบการเพาะปลูก
ตัวอย่างของแพลตฟอร์ม spiro carbon เป็นตัวอย่างหนึ่งของรูปแบบการสำรวจคาร์บอนเครดิต ของการตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือดิจิทัล ติดตามการทำนา ต่างจากในอดีตที่เป็นการจดบันทึกบนกระดาษ ทางสไปโรคาร์บอนจึงสร้างการจดบันทึกบนอีเทอเรียมบล็อกเชนขึ้น เพื่อการตรวจสอบที่ง่าย และ สามารถแลกเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ผ่านเหรียญดิจิทัล
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสำรวจด้วยคน หรือ MRV กำลังพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ DMRV เช่น เครื่อง 3D scanner /ไลดาร์ ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้วางแผนการส่งเสริมเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อการติดตามปัญหาโลกร้อน ผ่านกิจกรรม คาร์บอน แอทลาส ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2022 สู่ปลายทาง blockchain technology ในปี 2030
ปลายทางของความร่วมมือผ่านโครงการคาร์บอนแอทลาส คือการจัดทำฐานข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำและตรวจสอบได้ เพื่อการจัดทำรายงานแห่งชาติและรายงานความก้าวหน้าราย 2 ปี เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม
แท็กที่เกี่ยวข้อง ลดโลกร้อน ,ทำนา ,ทำนาลดโลกร้อน ,ทำนาเปียก