สังคม

ปิดฉากการประชุม 'ลดโลกร้อนไทย TCAC 2024' ย้ำจุดยืนมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

โดย panisa_p

4 ต.ค. 2567

35 views

วันนี้ไทยได้ข้อสรุปจากเวทีการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ เวทีลดโลกร้อนของไทย ครั้งที่ 3 เพื่อย้ำจุดยืนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 โดยมีเวทีการประชุมจากภาคประชาสังคม เข้าร่วมเสนอแนวทางการแก้ไชปัญหาครั้งนี้ ซึ่งทางกรมลดโลกร้อน ก็เตรียมนำข้อสรุปจากเวที TCAC เข้านำเสนอต่อที่ประชุม COP 29 ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป



การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เวทีโลกร้อนของไทย หรือ TCAC ครั้งที่ 3 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดเร่งเปลี่ยนผ่านสานพลังภาคี สู่สังคมที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้



เวทีการมีส่วนร่วมของประชาสังคมในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่สังคมคาร์บอนต่ำ มีตัวแทนภาคประชาชนจากจังหวัดแพร่ ที่พยายามปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูิอากาศ ตัวแทนชาวบ้านบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่มาเสนอข้อเท็จจริง สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ กรณีน้ำท่วมและกักขังเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้ในพื้นที่ไม่มีปลาให้ทำอาชีพประมง เกิดโรคภัยจากน้ำมากขึ้น ตัวแทนจากภาคตะวันออก ที่พยายาม แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือปฏิบัติการลดผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน ได้กำหนดกลไกความร่วมมือกลาง ในการพัฒนากลไก แผนงาน สื่อสารสาธารณะ สร้างข้อตกลงร่วมกัน งานด้านฐานข้อมูล



ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานของจังหวัดหวัดเชียงใหม่ ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมสู่ Net Zero



ขณะที่เวทีพลังเครือข่ายเยาวชนไทยกับภารกิจลดโลกเดือด ตัวแทนเยาวชนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้เสนอกิจกรรมที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทำหน้าที่โฆษกประจำจังหวัดทำหน้าที่รายงานสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากระดับโลกสู่ชุมชนอย่างง่าย เพื่อการร่วมแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน



ขณะที่ช่วงวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึง 22 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยก็จะเข้าร่วมการประชุมภาคีกรอบสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 29 ที่ เมืองบาคู ประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยต่อยอดสาระสำคัญจากการประชุม COP 28 ในครั้งก่อน คือ การประกาศข้อตกลงการเริ่มต้นไปสู่จุดสิ้นสุดของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือ Global stocktake โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 3 เท่า และ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2 เท่า



นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า สำหรับประเด็นการหารือใน COP 29 ครั้งนี้ ก็จะมีการพิจารณากำหนดเป้าหมายทางการเงินเพื่อรับมือปัญหาภาวะโลกรวนใหม่อีกครั้ง เพื่อสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา ให้มีขีดความสามารถในการบรรลุเป้าหมายข้อตกลงปารีสได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้ากองทุนไว้ที่ 1.1-1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ



นอกจากนี้จะมีการนำข้อมูล Global stocktake มาทบทวนเป้าหมายใหม่อีกครั้งให้สอดคล้องกับการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงปารีส หรือ NDC ที่จะไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สู่การยกระดับเป้าหมาย NDC 2035 ที่จะตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจากเดิมร้อยละ 30-40 เป็น ร้อยละ 60 ขณะเดียวกันก็สร้างความชัดเจนในรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุน LOSS and DAMAGE ให้ครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น



สำหรับการประชุม TCAC 2024 ที่ปิดฉากลงในวันนี้ ก็จะเป็นการกำหนดทิศทางและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความเข้มข้นมากขึ้น ตั้งแต่ระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ โดยล่าสุดกรมลดโลกร้อน ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับการขับเคลื่อนประเทศไทย ไว้เรียบร้อยแล้ว มีเนื้อหาใน 14 หมวด ครอบคลุม ด้านนโยบาย การบรรเทาปัญหาโลกร้อน การปรับตัว กลไกการเงินสนับสนุน และบทลงโทษ ซึ่งร่างฉบับนี้ผ่านการรับฟังความเห็นสาธารณะแล้ว โดยกฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือภาคบังคับและส่งเสริมที่จำเป็นต่อประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มีประสิทธิภาพ ส่วนผลของการประชุม TCAC ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นตัวแทนของประเทศไทยนำข้อเสนอ ที่ได้จากการหารือไปนำเสนอต่อที่ประชุม COP 29 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

คุณอาจสนใจ

Related News