ข่าวโซเชียล

สรุปดรามาเดือด! ‘หมอ - เภสัชฯ’ แพทยสภาขอเพิกถอนสิทธิ ‘บัตรทอง’ รับยาที่ร้าน ไม่ผ่านหมอ

โดย JitrarutP

9 ชั่วโมงที่แล้ว

768 views

ดรามาลุกลาม! “หมอ - เภสัชฯ”  ซัดเดือด หลังแพทยสภาร้องเพิกถอนประกาศสิทธิบัตรทอง รับยาที่ร้านไม่ผ่านหมอในกลุ่มอาการเล็กน้อย

จากกรณีที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการดูแลอาการป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่ม ซึ่งเป็นโครงการที่ให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองที่ป่วยโรคไม่ร้ายแรงสามารถไปที่ร้านขายยาพบเภสัชกรให้ซักประวัติและจ่ายยาเบื้องต้น ทั้งนี้ก็เนื่องจากต้องการที่จะลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาอย่างมาก

แต่หากซักประวัติและเห็นว่าควรพบแพทย์เภสัชกรก็จะแนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจและรักษาออกไป


โดยมีการออกประกาศกลุ่มอาการ 32 กลุ่มที่สามารถไปรับยาได้

สำหรับ 32 กลุ่มอาการประกอบด้วย 1.เวียนศีรษะ 2.ปวดหัว 3.ปวดข้อ/ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดฟัน 5.ปวดประจำเดือน 6.ปวดท้อง 7.ท้องเสีย 8.ท้องผูก/ริดสีดวงทวาร 9.ปัสสาวะแสบขัด 10.ตกขาว11.แผล 12.ผื่นผิวหนัง 13.อาการทางตา 14.อาการทางหู 15.ไข้ ไอ เจ็บคอ 16.ติดเชื้อโควิด 17.น้ำมูก คัดจมูก 18.มีแผลในปาก 19.ตุ่มน้ำใสที่ปาก 20.แผลน้ำร้อนลวกไม่รุนแรง

21.อาการคันผิวหนัง/ศีรษะ 22.อาการจากพยาธิ 23.อาการจากหิด เหา 24.ฝี หนองที่ผิวหนัง 25.อาการชา/เหน็บชา 26.อาการนอนไม่หลับ 27.เมารถ เมาเรือ 28.เบื่ออาหารโดยไม่มีโรคร่วม 29.คลื่นไส้ อาเจียน 30.อาการแพ้ยา/แพ้อาหารเล็กน้อย/แมลงกัดต่อย 31.อาการเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ และ 32.เหงือกอักเสบ/มีกลิ่นปาก

ซึ่งจากโครงการนี้มีร้านขายยาทั่วประเทศ กว่า  1,700 แห่ง

แต่ต่อมาปรากฏว่าแพทยสภาไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว โดยระบุว่า บางกลุ่มอาการใน 32 กลุ่มนั้น หากให้เภสัชจ่ายยาโดยไม่มีแพทยวินิจฉัย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ตกขาว อาจเกิดความเสี่ยงและอันตรายกับคนไข้ได้ เช่น อาการปวดหัวอาจนำมาซึ่งเส้นเลือดสมองแตก หรือปวดท้องอาจไส้ติ่งแตกหรือเป็นโรคเส้นเลือดใหญ่ปริแตก

แพทยสภาจึงไปร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนประกาศดังกล่าว  พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ชี้แจงและคัดค้าน

ส่วนทางสภาเภสัชกรรม ก็ไม่อยู่นิ่ง พร้อมออกแถลงการณ์เช่นกัน  โดยระบุว่าการกำหนดกลุ่มอาการเหล่านี้ไม่ได้กำหนดเอง แต่หากผ่านการพิจารณาจากสหวิชาชีพ และตั้งแต่ให้บริการมาก็ไม่มีปัญหารุนแรงหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด  อีกทั้งพบว่ามีการคัดกรองที่สามารถส่งต่อให้แพทย์ได้ทันที

รวมถึงชี้แจงถึงการซักประวัติในการดูแลผู้ป่วยเล็กน้อยว่า เป็นมาตรฐานที่เภสัชกรทำมากว่า 70 ปี ตามกฎหมาย

แต่ที่ดุเดือดที่สุดคือข้อความในแถลงการณ์ข้อ 4 ที่ระบุว่าแพทยสภาควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ยาทั้งระบบ โดยเฉพาะในคลินิก ที่ส่วนใหญ่พบว่าฉลากยาไม่ระบุชื่อยาและรายละเอียดการใช้ยา  ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ และคนที่จ่ายยาในคลินิกก็อาจไม่ได้เป็นผู้มีความรู้เรื่องยา

ก่อนจะทิ้งท้ายว่าหวังว่าแพทยสภาจะหยุดและทบทวน และให้เกียรติซึ่งกันและกันตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ

ซึ่งจากสถานการณ์นี้ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจลุกลามถึงขึ้นมีการดำเนินการกับคลินิก เพราะตามหน้าที่แล้วแพทย์มีสิทธิสั่งยา แต่คนที่มีหน้าที่จ่ายยาคือเภสัชกร ขณะที่คลินิกขนาดเล็กจำนวนมากก็ไม่มีเภสัชกรประจำ และหากคลินิกไม่สามารถจ่ายยาได้ก็จะกระทบกับรายได้ของแพทย์ที่ไปเปิดคลินิกเช่นกัน



คุณอาจสนใจ

Related News