สังคม

ศาลรับฟ้อง 'แพทยสภา' ขอเพิกถอนสิทธิ 'บัตรทอง' เจ็บป่วยเล็กน้อย รับยาเองที่ร้าน

โดย nattachat_c

13 พ.ย. 2567

50 views

'แพทยสภา' ฟ้องศาลปกครอง ขอเพิกถอนสิทธิ 'บัตรทอง' รับยาเองที่ร้าน ไม่ต้องผ่านหมอ หากเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้าน สปสช. แจงร้านยาชุมชนอบอุ่น จะให้บริการต่อไปจนกว่าศาลจะตัดสิน

จากเหตุ ‘แพทยสภา’ ฟ้องร้อง สปสช. และ สภาเภสัชกรรม ประเด็นการให้เภสัชกร สามารถจ่ายยาได้ตาม 16 อาการ ที่ร้านขายยา ในโครงการ “เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 อาการ รับยาที่ร้านยาคุณภาพ” ซึ่งเป็นบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ซึ่งล่าสุด ‘ศาลปกครองสูงสุด’ มีคำสั่งรับฟ้อง

เรื่องนี้ ถือเป็นข้อถกเถียงในวงการแพทย์และเภสัชอย่างกว้างขวาง โดยด้านหนึ่งมองว่า เภสัชกรไม่สามารถจ่ายยาตามโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากยาบางชนิด จะจ่ายได้ก็ต่อเมื่อมีการวินิจฉัยของหมอแล้วเท่านั้น ส่วนอีกด้านมองว่า ปกติผู้ป่วย 40% ก็เลือกซื้อยาบรรเทาอาการด้วยตัวเองที่ร้านขายยาอยู่แล้ว จึงนำข้อมูลนี้เข้าสู่ระบบ ‘บัตรทอง’ มีการติดตามอาการโดยเภสัชกรหลังจ่ายยา 3 วัน และหากอาการรุนแรงขึ้น ก็จะส่งต่อโรงพยาบาล โดยโครงการนี้จะช่วยลดความแออัด และการรอคิวนานในโรงพยาบาลได้

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2023 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้โพสต์ในเพจ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุข้อความว่า

สิทธิบัตรทอง เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยา ณ "ร้านยาคุณภาพของฉัน" ได้ทุกแห่ง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จับมือสภาเภสัชกรรม เดินหน้าโครงการ "ร้านยารูปแบบใหม่ Common illness" ดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ในร้านยาโดยเภสัชกร ติดตามอาการหลังรับยา 3 วัน

ขั้นตอนรับบริการ

1. ตรวจสอบรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่หรือสังเกตจากสติกเกอร์ "ร้านยาคุณภาพของฉัน" ให้บริการการเจ็บป่วยเล็กน้อย

2. ไปที่ร้านยา นำบัตรประชาชนไปด้วยเภสัชกรจะคัดกรองอาการเบื้องต้น ให้ยาพร้อมคำแนะนำการใช้ยา(หรือแนะนำให้พบแพทย์ ในกรณี ที่พบว่ามีอาการที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์)

3. เภสัชกุรติดตามอาการของผู้ป่วยในวันที่ 3 ของการจ่ายยา


16 กลุ่มอาการ มีดังนี้?

1. ปวดหัว (HEADACHE)

2. เวียนหัว (Dizziness)

3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)

4. เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN)

5. ไข้ (FEVER)

6. ไอ (COUGH)

7. เจ็บคอ (SORE THROAT)

8. ปวดท้อง (STOMACHACHE)

9. ท้องผูก (CONSTIPATION)

10. ท้องเสีย (DIARRHEA)

11. ถ่ายปัสสาวะขัด, ปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)

12. ตกขาวผิดปกติ (VAGINAL DISCHARGE)

13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)

14. บาดแผล (WOUND)

15. ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER)

16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)

ทั้งนี้ ในตอนแรก โครงการนี้เน้นดูแลการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการเท่านั้น แต่ต่อมา ได้มีการขยายเป็น 32 กลุ่มอาการ และเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

ด้าน เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเรื่องนี้ ทาง สปสช.ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วม อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นประเด็นในส่วนของวิชาชีพ คงให้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยสิ้นสุด โดยระหว่างนี้ สปสช.ให้ประชาชนไปใช้สิทธิบัตรทองที่ร้านยาไปก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย

พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Hfocus ว่า แพทยสภาไม่ได้ฟ้องสภาเภสัชกรรม แต่ฟ้องคำสั่งของ สปสช. ซึ่งโยงกับสภาเภสัชกรรม ที่เป็นผู้รับดำเนินการโครงการจ่ายยา 16 กลุ่มอาการ เพราะแม้ที่ผ่านมาการจ่ายยาของร้านยาจะทำตามปกติ ไม่ใช่การประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะคนไข้เป็นคนสั่งซื้อยา เป็นการรักษาตนเอง จ่ายเงินเอง  แต่การตรวจวินิจฉัยโรค และให้การรักษา เป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรม 2525 หมวด 5 มาตรา 26 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ว่าพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

พญ.ชัญวลี ยังระบุว่า แพทยสภา ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเภสัชกรจ่ายยากรณีเจ็บป่วยเล็กน้อย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ แต่ปัญหาคือ 16 กลุ่มอาการที่มีลิสต์ยาที่สามารถจ่ายได้นั้น พบว่า ‘มียาที่ต้องจ่ายต่อเมื่อมีการวินิจฉัยแล้ว’  เมื่อทางแพทย์เห็นจึงกังวล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสูตินรีเวช อย่างมีอาการตกขาว จะจ่ายยากินเอง จะต้องวินิจฉัยก่อน แม้จะเป็นอาการเล็กน้อย แต่เมื่อตรวจภายในพบว่า มีอาการเบาหวานร่วม หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ร่วมก็มี

พญ.ชัญวลี เสนอว่า หากเภสัชกรร้านยาจ่ายยา ควรปรับรูปแบบการจ่ายยาเป็น over-the-counter drug: OTC (ยาจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์) ซึ่งไม่ใช่แค่ยาสามัญประจำบ้าน แต่สามารถมาหารือร่วมกันได้ว่า ควรจ่ายยาแบบใด แต่ปรากฏว่า รายการยาที่ออกมาให้จ่าย กลับเป็นยาที่ต้องได้รับการวินิจฉัยก่อน ซึ่งที่น่ากังวลคือ ‘ยาตา ยาไมเกรน’  เรื่องนี้แพทยสภาได้หารือกับราชวิทยาลัยต่างๆ ก็มีความเห็นถึงปัญหายาอะไรบ้างที่ต้องผ่านการวินิจฉัย  ดังนั้น การจ่ายยา OTC จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี เพราะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคได้โดยตรงไม่จำเป็นมีใบสั่งยาจากการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งตรงข้ามกับ prescription drug หมายถึงยาที่จะสามารถจ่ายให้ผู้บริโภคก็ต่อเมื่อมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น

นอกจากนี้ พญ.ชัญวลี ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ย้ำว่า การฟ้องร้อง สปสช.และสภาเภสัชโดยแพทยสภา ไม่เกี่ยวกับการห้ามเภสัช จ่ายยา ตามธรรมเนียมเดิมแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวข้องกับสภาเภสัชกรรมจะมาห้ามแพทย์จ่ายยาที่คลินิกเช่นกัน


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/HWM1w7OF1iA


คุณอาจสนใจ

Related News