สังคม

โฆษก ตร.ชี้ ‘แคท อาทิติยา’ ตรงสเปคขึ้นแท่นผู้กอง แจงไทม์ไลน์เลื่อนยศ ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

โดย nicharee_m

10 มิ.ย. 2566

104 views

โฆษก ตร.ชี้แจงเหตุรับ “ผู้กองแคท” เป็นตำรวจผ่านหลักสูตร กอส. และเลื่อนยศเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เพราะขาดตำแหน่ง “พิธีการในงานสำคัญ” ยันผู้เข้าอบรม 350 คนใช้เกณฑ์เดียวกันหมด

จากกรณีการเลื่อนขั้นของ แคท อาทิติยา นักร้องสาวและผู้ประกวดนางงาม หลังเข้าอบรมหลักสูตร กอส. จนเข้ารับราชการตำรวจและใช้เวลาเพียง 4 ปี ได้เลื่อนยศจาก ส.ต.ต. ขึ้นเป็น ร.ต.อ.ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักของสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเพจ “บอสแคท อาทิติยา” ลบภาพถ่ายกับครอบครัวที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ออกจากเพจเฟซบุ๊กของตนแล้ว

ขณะที่เพจ “เพื่อนตำรวจ” ยังได้โพสต์อีกว่า #งานเข้า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.สั่งตรวจสอบที่มาของเข็มที่กลัดอยู่บนหน้าอกเครื่องเเบบของผู้กองสาว

วานนี้ (9 มิ.ย.) ทีมข่าวได้ตรวจสอบภายในอาคารสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ บริเวณชั้น 3 ซึ่งเป็นสถานที่ทำงานของ ร้อยตำรวจเอกหญิงอาทิติยา เบ็ญจะปัก หรือผู้กองแคท รองสารวัตรกลุ่มงานวิชาการและงานสารบรรณสำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ

จากการสอบถามแม่บ้านประจำอาคารให้ข้อมูลว่า ที่ทำงานของร้อยตำรวจหญิงอาทิติยา ทำงานอยู่บนชั้น 3 มา 3-4 ปีแล้ว แต่ยังไม่เคยเจอตัวเนื่องจากทางขึ้นสำนักงานอยู่บริเวณด้านหลังอาคาร แต่ส่วนเพื่อนร่วมงานบอกว่า เมื่อช่วงเช้า (9 มิ.ย.) ร้อยตำรวจเอกอาทิติยา มาทำงานปกติและได้ไปเข้าพบ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ด้านปราบปราม โดยมีพลตำรวจโทอาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าไปร่วมพูดคุยด้วย สำหรับการเข้าพบ พลตำรวจเอกต่อศักด์คาดว่าจะเป็นการหารือเรื่องของกระแสข่าวที่เกิดขึ้น


ต่อมา พลตำรวจโท อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงปมร้อนกรณี ร.ต.อ.หญิง (ผู้กองแคท) โดยชี้รายละเอียดทั้ง 3 ขั้นตอน ว่า ขั้นแรกการเข้ามาเป็นตำรวจ ร.ต.อ.หญิง เข้ามาเป็นตำรวจเริ่มจาก สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติได้ตำแหน่งว่างระดับ รองสารวัตร ที่จำเป็นต้องมาทำงานด้าน “พิธีการ การประชุมและสารบรรณ” จึงได้มีการเปิดรับสมัครให้มีผู้สมัคร โดยขออนุมัติ ตร.ในการสมัครจำนวน 4 คน  จากนั้นได้ใช้วิธีการคัดเลือกตามคุณวุฒิที่เปิดรับสมัคร และได้เข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจโดยมีกฎ ก.ตร.ว่า ผู้ที่จะเข้ามาเป็นตำรวจลักษณะนี้จำเป็นที่จะต้องบรรจุเป็น ส.ต.ต.ก่อน เมื่อผ่านการอบรม กอส. จะได้ยศ ร.ต.ต.

ส่วนเรื่องยศที่เลื่อนเร็วนั้น โฆษกตร. ชี้แจงว่า การเข้ามาเป็นตำรวจตามคุณวุฒิปริญญาตรี บรรจุประมาณ 1 ปี และจากร.ต.ท.เป็น ร.ต.อ.จะต้องครองยศ 3 ปี ในส่วนของคุณวุฒิปริญญาโท-ปริญญาเอก จาก ร.ต.ต.เป็น ร.ต.ท.ใช้เวลาประมาณ 1 ปี และครองยศอีก 1 ปี ก็จะได้ ร.ต.อ. ในกรณีของ ร.ต.อ.หญิง ได้เข้าอบรม กอส.กับเพื่อนตำรวจประมาณ 350 นาย มีหลักเกณฑ์ดังกล่าวเหมือนกันหมด โดยไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ ที่จะได้ยศเร็วกว่าใคร โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทุกๆ คน

สำหรับคุณวุฒิของ ‘ผู้กองแคท’ จากการตรวจสอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับสมัคร คือ วุฒิปริญญาโท ส่วนการรับสมัครตำแหน่งเดียวกับ ผู้กองแคท สำนักงานเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ขออนุมัติจาก ตร.เปิดรับสมัครเข้ามาจำนวน 4 คน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติตามที่หน่วยงานใน ตร.ต้องการไว้ก่อนจะเปิดรับสมัครสรรหาคนที่มีคุณวุฒิตรงตามที่กำหนดก่อนจะมีการคัดเลือกต่อไป

พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า กรณีของผู้กองแคท ไม่ขอใช้คำว่าตำแหน่งคุณวุฒิที่ขาดแคลนเพราะการเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจมีได้หลายทาง ตั้งแต่การสอบแข่งขัน ทายาท การโอนย้ายจากหน่วยราชการอื่น และโดยการคัดเลือก ในส่วนของความขาดแคลนก็เป็นอีกหนึ่งที่ ตร.มีการรับบุคคลภายนอกมาเป็นตำรวจ เช่น นักวิทยาศาสตร์ พิสูจน์หลักฐาน หรือว่าสายต่างๆ ที่สามารถมาทดแทนในส่วนที่ ตร.ขาดแคลน ก็ถือเป็นคุณวุฒิขาดแคลน

กรณีของผู้แคท ซึ่งมีวุฒิปริญญาโททางด้านนิเทศน์ศาสตร์นั้น ไม่ได้เป็นคุณวุฒิที่ขาดแคลน แต่เป็นความต้องการของหน่วยงานใน ตร.ที่จะกำหนดสเปคคนที่จะเข้ามาบรรจุรับราชการในระดับ รองสารวัตร ซึ่งมีสเปคและหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่ต้องการจึงเปิดรับสมัครคนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดได้เข้ามา เพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วย

ส่วนหลักสูตร กอส.เป็นหลักสูตรที่ให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาเป็นตำรวจได้มีการอบรมแต่ละปีก็จะมีประมาณ 1 รุ่น รุ่นละ 300-350 นาย ในบางปีถ้ามีการรับสมัครจากบุคคลภายนอกไม่ว่าเหตุผลต่างๆ ก็คือ การสอบแข่งขัน ทายาท คัดเลือกหรือโอนย้ายต่างๆ มีจำนวนมากกว่าหลักสูตรก็จะทดไปเรียนในปีถัดไป ถือว่าเป็นวงรอบในการอบรม

โฆษก ตร.ระบุว่า นอกจากหลักสูตร กอส.แล้วก็มีหลักสูตร กอน. ที่จะรับตำรวจชั้นประทวนเข้ามาสอบแข่งขันกันเพื่อเลื่อนชั้นตำรวจสัญญาบัตรและมาอบรม และมีหลักสูตรกอต.ซึ่งเป็นการรับตรงคือรับเฉพาะพนักงานสอบสวนจะมีการสอบแข่งขัน เพื่อเป็นพนักงานสอบสวน แต่ทุกหลักสูตรจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของคุณสมบัติและความครบถ้วน ถ้าที่นั่งเกินก็จะต้องไปอบรมในรอบถัดไป  

พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า สำหรับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ แต่ละปีจะรับประมาณ 200 -300 นาย ส่วนเหตุผลการอบรมในการศึกษาชัดเจนอยู่แล้วว่าข้าราชการตำรวจมีความหลากหลายในการปฎิบัติหน้าที่ในสายอาชีพที่ต้องการคนที่มีความรู้ในด้านต่างๆ มาทำงาน ในส่วนของการอบรม กอส.ที่ต้องการคุณวุฒิต่างๆ เข้ามาเป็นตำรวจก็เป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ วิทยาศาสตร์ ตำรวจน้ำ หรือบัญชี ฯลฯ เพราะต้องมีบุคคลากรที่คอยซับพอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายอำนวยการ

ในส่วนของ นรต.ที่มีการอบรม เป็นคนที่มีความตั้งใจตั้งแต่มัธยมแล้วว่า อาชีพที่ใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ โดยมีวุฒิชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้ามาสอบ ตรงนี้จะมีความเข้มข้นเรื่องของการเรียนเพื่อจบมาเป็นตำรวจอาชีพเป็นพนักงานสอบสวน ต้องเป็นชุดสืบสวน จราจร หรือสายงานต่างๆ เป็นฟร้อนไลน์ที่ส่วนใหญ่เห็นตามโรงพัก ทั้งหน่วยปฎิบัติ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องอบรมให้เป็นตำรวจตั้งแต่ชั้นปริญญาตรี เมื่อจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็จะได้วุฒิปริญญาตรี ซึ่งจะไม่เหมือนบุคคลภายนอกที่อาจจะไม่ได้เบนเข็มมาเป็นตำรวจตั้งแต่ต้น แต่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น บัญชี วิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือคุณวุฒิอะไรก็ตามที่ ตร.ก็ต้องเป็นหน่วยสนับสนุนให้กับบุคคลากร

เมื่อถามว่าเมื่อจบ รร.นรต.กับวุฒิการศึกษา รร.นรต. เมื่อเทียบกับวุฒิการศึกษากับบุคคลภายนอก ชั้นยศระดับรองสารวัตร ระยะเวลาจะไปพร้อมกันหรือไม่ โฆษก ตร. กล่าวว่า ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหมด พอจบ ร.ต.ต.ก็เหมือนกัน ถ้าเกิดว่าการครองยศไปจนถึง ร.ต.อ.จะมีการกำหนดชัดเจนว่ากี่ปีได้ขึ้น แต่พอขึ้นระดับสารวัตรที่เรียกว่า พ.ต.ต.ก็จะอยู่ที่ตำแหน่งที่ว่างในแต่ละปี และก็มีสายงานต่างๆ

โฆษก ตร. กล่าวว่า ข้าราชการตำรวจทุกนาย หลังจากการใช้ พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 แล้ว จะแบ่งชัดเจนว่าข้าราชการตำรวจจะมีสายงานที่ต้องปฎิบัติชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการสอบแข่งขันคัดเลือกโดยระบบต่างๆ ก็จะมีการโปร่งใสมากขึ้น และก็จะมีมืออาชีพทางด้านสายงานต่าง ๆ มากขึ้น ตรงจุดนี้เราเพิ่มหลักเกณฑ์ให้มีความเข้มข้น ในเรื่องของการรับสมัครบุคลากรที่มาจากข้างนอกให้ตรงกับเรามากที่สุด ซึ่งตอนนี้สำนักงานกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังเร่งดำเนินการตรงจุดนี้ เพื่อให้การสมัครข้าราชการตำรวจตรงเป้าประสงค์กับความต้องการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพี่น้องประชาชนมากที่สุด

เมื่อถามว่าตำรวจชั้นผู้น้อยที่ระบุว่า ไม่ได้รับโอกาสในการเลื่อนชั้นยศ หรือว่ามีโอกาสในหน้าที่การงาน ตามที่มีการเผยแพร่ สามารถชี้แจงได้หรือไม่ พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า หลักสูตร กอส.คือบุคคลภายนอกมาเป็นตำรวจ แต่อีกส่วนเรามีการจัดสอบแข่งขันระดับชั้นประทวนด้วยกันเอง ให้มาเป็นตำรวจสัญญาบัตร และก็มีการฝึกที่เรียกว่า กอน. ตรงจุดนี้ก็มีด้วย ส่วนนี้ก็เป็นการเพิ่มขวัญและกำลังใจกับข้าราชการตำรวจชั้นประทวน


‘วรพจน์ เพชรขุ้ม’ อดีตเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2004  โอดชีวิตราชการทหาร 23 ปี ไม่ได้เลื่อนขั้น ทั้งที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ จบปริญญาโทก็ไร้ประโยชน์ เตรียมยื่นใบลาออก ไม่ขอทนระบบราชการ  

ทีมข่าวได้พูดคุยกับอดีตฮีโร่กำปั้นทีมชาติไทย วรพจน์ เพชรขุ้ม เจ้าของเหรียญเงินจากโอลิมปิกเกมส์ 2004 หลังจากทำชื่อเสียงให้กับประเทศ ก็ได้เข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี 2543

โดยคุณวรพจน์ บอกด้วยน้ำเสียงท้อแท้ว่า 23ปีแล้วครับที่ผมรับราขการมา แทบไม่ค่อยได้รับโอกาสเลื่อนยศเลย แรกเริ่ม รับตำแหน่ง สิบตรี  ตอนนี้นผมจบแค่วุฒิม.6 ก็ ไปแข่ง ได้เหรียญมา ก็ไม่ได้เลื่อนขั้นอะไร จากนั้นผมไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยมา จนจบปริญญาโท แต่ก็ไม่ได้เลื่อนยศ ทั้งที่ เรียนจบปริญญาโท ปัจจุบันนี้  ได้ยศ จ.ส.ต  

สำหรับตนเองอีกไม่นานก็จะลาออก จากราชการแล้ว ไม่ทนอีกแล้ว ที่ผ่านมา ไม่เคยถามหัวหน้าหน่วยว่าเหตุใด ทำไมไม่ได้เลื่อนยศ หากจะมองว่าเพราะขาดคุณสมบัติการศึกษา  ตนก็จบปริญญาโทตั้งแต่ปี 51 แล้วก็มาทำงาน ซึ่งการที่นักกีฬารับราชการทหาร ก็ช่วยเรื่องกีฬา สอนกีฬามวยและกีฬาต่างๆ ที่ทำได้ และมีการศึกษาระดับปริญญาโท ก็ช่วยงานอื่นๆได้

คุณวรพจน์ ยังบอกอีกว่า ตอนนี้หมดศรัทธา หมดใจแล้ว ผมต่อยมวยให้กองทัพบกตลอด ก่อนจะได้เหรียญก็รับใช้ทหารมาตลอด และเคยแพ้น็อก ตามหลักจะต้องพักร่างกายแต่พอมีการแข่งกีฬาภายใน ก็บอกให้ผมไปขึ้นต่อยอีก โดยไม่ได้มองว่าผม ไม่ไหว ตอนนี้ผมหมดใจแล้ว และเตรียมยื่นใบลาออกจากราชการในเร็วนี้ และฝากความหวัง หากรัฐบาลใหม่ จะเข้ามาแก้ไขดูแลเรื่องการเลื่อนยศให้เป็นธรรม ก็เป็นเรื่องดี


https://youtu.be/2hYtYMXSPrU


คุณอาจสนใจ

Related News