สังคม

ฝุ่น PM 2.5 กทม.ดีขึ้น ต่างจังหวัดน่าห่วง พุ่งกระฉูดใกล้แตะ 200 - แพทย์เตือน อันตรายเงียบทำให้เกิดโรคทางสมอง

โดย passamon_a

4 ก.พ. 2566

220 views

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ประเทศไทย วันที่ 4 ก.พ.66 กทม.ดีขึ้น ช่วงเวลา 10.00 น. คุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีเหลือง 78 AQI สวนทางต่างจังหวัดที่ยังน่าห่วง หลายจังหวัดพุ่งกระฉูดใกล้แตะ 200 AQI โดย กำแพงเพชร วัดได้มากสุด 195 AQI / สระบุรี 193 AQI / สุโขทัย 192 AQI      


ขณะที่ เมื่อวันที่ 3 ก.พ.66 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และเลขานุการและกรรมการบริหารศูนย์โรคสมองภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลการรู้ทัน รู้ป้องกัน PM 2.5 ภัยร้ายก่อให้เกิดโรคสมอง โดยระบุว่า


ปัญหา PM 2.5 ภัยร้ายที่คาดไม่ถึง ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ สำหรับเด็กจะส่งผลให้ไอคิวต่ำลง พัฒนาการช้าลง สมาธิสั้น ซึมเศร้า ในผู้ใหญ่ มีผลต่อโรคสมองเสื่อม ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งภาวะหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก บางรายเป็นโรคเหล่านี้แต่อาการไม่ปรากฏ เมื่อเจอหมอกควัน PM 2.5 จึงเกิดอาการทันที เมื่อมีฝุ่นควันพิษที่เรียกว่าควันพิษจิ๋ว


เบื้องต้นเมื่อสูดเข้าไปในร่างกาย จะมีอาการคัดจมูก คอแห้ง มีอาการไอ เหนื่อยง่าย แต่ในความเป็นจริง PM 2.5 มีความร้ายแรงแอบแฝงมากกว่านั้น หากเทียบ PM 2.5 กับเส้นผมของมนุษย์ เมื่อตัดเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ขนาดของเส้นผมจะมีขนาด 50-70 ไมครอน แต่เมื่อดูตัวของฝุ่นพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ต่าง ๆ ที่ลอยไปในอากาศ ซึ่งเรียกว่า PM 2.5 จะมีขนาดเล็กถึง 25 เท่า เมื่อเล็กมากจึงสามารถผ่านเข้าตัวดักกรองเข้าไปในระบบหายใจเข้าไปยังบริเวณปอด และสามารถหลุดเข้าไปในกระแสเลือดไหลเวียนทั่วร่างกายได้


PM 2.5 มีผลต่อสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังจากที่มีการสูดดมเข้าไป ช่องโพรงจมูกจะเป็นทางผ่านที่ทำให้ PM 2.5 ผ่านเข้าไปที่สมอง และเซลล์ประสาทโดยตรง หรือแม้กระทั่งผ่านกระแสเลือดที่ย้อนกลับมาขึ้นสู่สมองได้ ผลกระทบเฉียบพลัน จะมีอาการระคายเคืองจมูก มึนงง ง่วง ซึม หลับ กระตุ้นให้เกิดไมเกรนมากขึ้น หากเป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตต่อสมอง หากเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาทางโรคสมอง เป็นอัมพาตที่เคยมีประวัติหลอดเลือดสมองตีบมาก่อน เมื่อได้รับ PM 2.5 จะทำให้อัตราการเกิดสมองตีบในหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า


ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือผู้ป่วยมีภาวะสูงวัยแล้วเกิดสมองเสื่อม PM 2.5 ที่มีขนาดสูงจะไปกระตุ้นต่ออาการ ในผู้สูงวัยที่มีปัญหาโรคภาวะสมองเสื่อม อาทิ เสี่ยงจากโรคอัลไซเมอร์ เสื่อมจากโรคสูงวัยมาก ทำให้อัตราการนอนโรงพยาบาลสูงขึ้น นำไปสู่โรคของผลแทรกซ้อนมากมาย ผลกระทบระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคปอด โรคมะเร็ง โรคอัมพาต เป็นต้น โดยจะเปรียบเทียบได้กับบุคคลที่สูบบุหรี่ สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเข้าไปในสมองจะเกิดปฏิกิริยาที่เกิดในสมองเรียบร้อยแล้วเกิดสะสมจะเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ ต่อสมองเป็นอย่างมาก


แนวทางการป้องกันคือ ให้ใส่หน้ากาก N95 งดทำกิจกรรมบริเวณพื้นที่โล่งกลางแจ้ง โรงเรียนหรือบ้าน ควรมีห้องสมุดที่มีเครื่องกรองอากาศ คลีนรูม (ห้องที่มีอากาศสะอาด) เช็กอากาศจากเครื่องวัดค่าอากาศ เผชิญกับ PM 2.5 ให้น้อยที่สุด


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/tEZj4MU7SWA


คุณอาจสนใจ

Related News