สังคม

แพทย์ไขข้อสงสัย ปมเสียชีวิต 'บุ้ง' อดอาหาร 'ขาดเกลือแร่' ทำหัวใจวายได้

โดย panwilai_c

17 พ.ค. 2567

59 views

อาจารย์แพทย์ มศว. เผยผู้ที่อดอาหารมานาน จะมีอาการภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ ทำให้หัวใจวายได้ หรือหากได้รับสารอาหารทดแทนเพิ่มขึ้นแบบฉับพลัน ก็ทำให้หัวใจวายได้เช่นกัน



รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี อาจารย์แพทย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ หมอหมู เปิดเผยถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ โดยบอกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ แนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ แบบฉุกเฉิน คือ สมดุลเกลือแร่ที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว สิ่งที่ต้องทำคือการ CPR ให้หัวใจกลับมาเต้น แล้วค่อยมาเจาะเลือดเพื่อตรวจดูสมดุลเกลือแร่ และทำการแก้ไข ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลา



ส่วนแบบที่ไม่ฉุกเฉิน คือ กรณีที่เริ่มมีอาการผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรือหัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น ต้องมีการตรวจรักษาตามอาการ และเจาะเลือด เพื่อดูสมดุลเกลือแร่ และรักษาในการให้เกลือแร่ต่างๆ ทางเส้นเลือดอย่างเหมาะสม ซึ่งการรักษาต้องแก้ไขที่ต้นเหตุของการเกิดภาวะนี้ด้วย เช่น การอดอาหารเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้พยาธิสภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องไปแก้ไขด้วย



หรือหากยังไม่ถึงขั้นที่พยาธิ สภาพเปลี่ยนแปลง การแก้ไข คือ ต้องกลับมารับประทานอาหาร แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดภาวะ Refeeding Syndrome ที่ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เซลล์ที่ขาดสารอาหารไปนานจะดึงสารอาหารเข้าไปจากเส้นเลือด ในเลือดก็จะมีเกลือแร่ต่ำ ทำให้มีผลต่อหัวใจวายเฉียบพลันได้เช่นกัน



สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะนี้ จะสังเกตอาการได้จากอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ / ความดันโลหิตต่ำ / อ่อนเพลีย / บางรายเกิดอาการสับสนได้ด้วย / ส่วนอาการขาบวม ก็เกี่ยวข้องกับภาวะสมดุลเกลือแร่ผิดปกติ แต่ก็เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน



การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะสมดุลเกลือแร่ต่ำโดยมาตรฐานแล้ว สามารถทำได้โดยอายุรแพทย์ เป็นเรื่องพื้นฐานที่แพทย์ส่วนใหญ่ทำได้อยู่แล้ว แต่เรื่องการเฝ้าติดตามอาการ การคำนวณปริมาณสารต่างๆ ที่จะให้ผู้ป่วย ก็ต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อม เพราะต้องมีการเจาะเลือด มีห้องปฏิบัติการ เพื่อมอนิเตอร์ผลเลือดได้ และหลายกรณีอาจไม่ได้เฝ้าติดตามในหอผู้ป่วยปกติ แต่ต้องอยู่ในหอผู้ป่วยพิเศษ ที่มีอุปกรณ์พิเศษ เช่น ICU / CCU ด้วย



ส่วนภาวะหัวใจโตนั้น จากข้อมูลทางการแพทย์ ยืนยันได้ว่า การอดอาหาร จะส่งผลให้หัวใจมีขนาดเล็กลง ฟีบลง ดังนั้น ภาวะหัวใจโตไม่ได้เกิดจากการอดอาหาร แต่สามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจโต ถ้ามีการอดอาหาร จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/HX9G9cCKZ_4

คุณอาจสนใจ