สังคม
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ระดมกำลังช่วย 2 ลูกช้างป่า ถูกบ่วงรัดงวง
โดย nutda_t
3 ธ.ค. 2567
160 views
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (สบอ.2) ศรีราชา เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.2 ถึงเหตุพบลูกช้างป่า 2 ตัว ได้รับบาดเจ็บจากบ่วงเชือกรัดบริเวณงวง โดยตัวแรกถูกรัดกลางลำงวง ส่วนตัวที่สองถูกรัดที่ปลายงวง ทั้งคู่ยังคงอยู่ร่วมกับโขลงช้างป่าขนาดใหญ่ราว 40-60 ตัว บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ทางสำนักฯ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาสอยดาว คณะเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว หัวหน้าและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าแก่งหางแมว หัวหน้าและคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน เจ้าหน้าที่องค์การปกครองท้องถิ่น จิตอาสาในพื้นที่ และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายแก้ไขปัญหาช้างป่าและสัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา)
จากการตรวจสอบพบว่า ลูกช้างตัวที่ถูกบ่วงรัดกลางลำงวงมีน้ำหนักประมาณ 100-200 กิโลกรัม มีบาดแผลลึกเกินครึ่งของเส้นผ่านศูนย์กลางงวง โดยมีพฤติกรรมหากินใกล้ชิดกับแม่ช้างอายุประมาณ 35-40 ปี น้ำหนักราว 4-5 ตัน เจ้าหน้าที่จึงได้แบ่งทีมปฏิบัติการออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทีมยิงยาซึม ทีมตัดบ่วงและรักษาพยาบาล และทีมเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า
ในการปฏิบัติการ ทีมยิงยาซึมได้ตั้งห้างส่องสัตว์บนต้นไม้ 2 จุด เมื่อได้จังหวะเหมาะสมจึงยิงยาซึมเข้าที่กล้ามเนื้อแม่ช้าง 2 เข็ม ส่งผลให้แม่ช้างวิ่งเข้าป่าลึกไปประมาณ 100 เมตร พร้อมกับโขลงช้างทั้งหมด หลังจากรอ 75 นาที ทีมเฝ้าระวังได้เข้าผลักดันโขลงช้างเพื่อค้นหาแม่และลูกช้าง แต่พบเพียงแม่ช้างที่ยืนซึมอยู่ ส่วนลูกช้างบาดเจ็บถูกช้างตัวอื่นในฝูงพาหนีไปแล้ว ทีมสัตวแพทย์จึงให้ยาแก้ฤทธิ์ยาซึมแก่แม่ช้างและถอนกำลังกลับที่ตั้ง
ล่าสุด นายพิทักษ์ได้จัดประชุมปรับแผนการช่วยเหลือใหม่สำหรับปฏิบัติการในวันที่ 3 ธันวาคม โดยจะเพิ่มจำนวนทีมยิงยาซึมเพื่อวางยาแม่ช้างและลูกช้างพร้อมกัน วางแผนใช้อาหารล่อแยกช้างเป้าหมายออกจากโขลงหลังยาออกฤทธิ์ จากนั้นให้ทีมเฝ้าระวังผลักดันฝูงช้างให้ออกห่างจากช้างเป้าหมาย เพื่อให้ทีมสัตวแพทย์สามารถเข้าทำการรักษาและตัดบ่วงได้อย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ แม้เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถประเมินความรุนแรงและความเสี่ยงอันตรายของบาดแผลได้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากบาดแผลที่ลึกมากโดยเฉพาะลูกช้างตัวแรกที่ถูกรัดกลางลำงวง จึงต้องเร่งให้การช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตของลูกช้างทั้งสองตัว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ลูกช้างป่า ,ลูกช้างติดบ่วง